HomeInsightSleepless Society เทรนด์ฮิต ‘สังคมเมืองนอนดึก’ ผุดธุรกิจโมเดล 24 ชม.ตอบโจทย์

Sleepless Society เทรนด์ฮิต ‘สังคมเมืองนอนดึก’ ผุดธุรกิจโมเดล 24 ชม.ตอบโจทย์

แชร์ :

ต้องยอมรับว่า เมื่อวันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป พฤติกรรม ทัศนคติ และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล ทุกอย่างรอบตัวหมุนเร็วกว่าที่เคย ส่งผลให้พฤติกรรม การใช้ชีวิตของผู้บริโภคโดยเฉพาะคนเมืองรุ่นใหม่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก จากในอดีตคนเมืองส่วนใหญ่จะนอนเร็ว ตื่นเช้าไปทำงาน ทว่าเวลานี้คนรุ่นใหม่มีไลฟ์สไตล์ยึดหยุ่นมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่การตื่นไปทำงานเช้าแล้วกลับบ้านนอนอีกต่อไป จนทำให้เกิดเป็นเทรนด์สังคมนอนดึก (Sleepless Society) ที่กำลังได้รับความนิยมในตอนนี้ โดย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) ทำบทความ 3 New Trends for New Gen ฉายภาพเทรนด์นี้อย่างน่าสนใจ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปัจจัยดันเทรนด์ Sleepless Society มาแรง

นิยามของ Sleepless Society หากแปลกันตรงตัว หมายความถึง สังคมคนนอนน้อย บางคนนิยมเรียกกันว่า สังคมคนนอนดึก เทรนด์นี้ได้เข้ามามีบทบาทกับคนรุ่นใหม่ในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานและวัยรุ่น โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทรนด์ Sleepless Society ขยายตัวมากขึ้นในกลุ่มคนเมืองรุ่นใหม่ มาจากเทคโนโลยีและความพร้อมของสาธารณูปโภค ทำให้ผู้บริโภคสามารถทำงานหรือติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ การทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม จาก พนักงานประจำ สู่ ฟรีแลนซ์ เพราะวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มีความยึดหยุ่น ไม่ยึดติดกับการทำงานประจำที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันหรือทำงานตายตัว 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมง รวมถึงต้องการอิสระที่สามารถกำหนดเวลาและสถานที่ทำงานได้เอง บางคนอาจจะเริ่มต้นทำงานช่วงกลางวัน บางคนเริ่มเย็นและลากยาวไปถึงเที่ยงคืนหรือเช้า และบางครั้งจึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้คนนั่งทำงานตามร้านกาแฟหรือสถานที่ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้

จึงส่งผลให้นับวันวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมืองจะเข้าสู่สังคมคนนอนดึกมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลสำรวจของ Sleep Cycle พบว่า ประชากรทั่วโลกส่วนใหญ่มีชั่วโมงการนอนหลับเฉลี่ยน้อยกว่ามาตรฐานที่ 8 ชั่วโมง โดยประเทศในทวีปเอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่ประชากรมีชั่วโมงการนอนหลับเฉลี่ยน้อยที่สุดในโลก เนื่องมาจากวัฒนธรรมการทำงานหนักและเลิกงานดึก นอกจากนี้ การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ยังทำให้ชั่วโมงการทำงานยืดยาวขึ้นไปถึงช่วงกลางคืน ส่งผลให้กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำในช่วงกลางวันอย่างการชอปปิ้งออนไลน์จึงถูกเลื่อนไปอยู่ในช่วงกลางคืนหลังเลิกงาน

ขณะที่ประเทศไทย ผลสำรวจพฤติกรรมการนอนในปีที่ผ่านมา ที่จัดทำโดย เอไอเอ ประกันชีวิต พบว่า 61% ของผู้บริโภคชาวไทยนอนหลับเพียงคืนละ 6 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น

ธุรกิจ-แบรนด์ลุยโมเดล 24 ชม.ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง

เมื่อทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมืองหันมาทำกิจกรรมในตอนกลางคืนมากขึ้น หรือเข้าสู่ “สังคมคนนอนดึก” ทำให้หลายธุรกิจที่เดิมมักจะมียอดจำหน่ายหรือยอดใช้บริการส่วนมากในช่วงกลางวันเห็นโอกาสและพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ดังกล่าวกันมากขึ้น กระทั่งเกิดเป็นเทรนด์ธุรกิจ 24 ชั่วโมงแพร่หลายในปัจจุบัน

เทรนด์ 24 ชั่วโมงมาแรง

แบรนด์ลุยโมเดล 24 ชั่วโมง : ขอบคุณภาพจาก Shutterstock

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก EXIM Bank ยังระบุว่า ผู้ประกอบการอาจต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการต่างๆ มากขึ้น เช่น การบริหารคลังสินค้าเพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าออกจากคลังสินค้าไปถึงมือผู้รับหรือไปยังสถานที่จำหน่ายได้ทันทีที่ได้รับคำสั่งซื้อซึ่งมีเข้ามาในช่วงกลางคืนมากขึ้น รวมถึงการนำระบบ Chatbot มาใช้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการให้บริการตอบคำถามลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มกำไรให้กับแบรนด์มากขึ้น

เมื่อพูดถึงเรื่องราวของธุรกิจ 24 ชั่วโมง หลายคนอาจจะนึกถึงร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น หรือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างเคเอฟซี แมคโดนัลด์ แต่ทุกวันนี้นอกจากร้านสะดวกซื้อแล้ว ยังมีหลายธุรกิจและแบรนด์หันมาลุยพัฒนาสินค้าและบริการตอบโจทย์ไล์ฟสไตล์คนเมืองที่ต้องการทำงาน จิบกาแฟ รับประทานอาหารยามค่ำคืน มาดูกันว่ามีธุรกิจอะไรกันบ้าง

Community Mall 24 ชั่วโมง เอาใจคนแฮงก์เอ้าต์

เดิมทีศูนย์การค้าเปิดบริการถึง 4 ทุ่ม คนก็เดินน้อยเต็มที แล้วธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางอย่าง Community Mall เปิด  24 ชั่วโมงใครจะมาเดิน แต่ปัจจุบัน Community Mall หลายแห่งกลับเปิดบริการแบบ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น เดอะ สตรีท รัชดา (The Street Ratchasima) และสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเอาใจชีวิตคนเมืองที่ชอบการแฮงก์เอ้าต์ในเวลากลางคืน

ฟิตเนส 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์คนทำงานดึก

จาก Community Mall มาต่อกันที่ “ฟิตเนส” ที่มีการปรับรูปแบบมาให้บริการ 24 ชั่วโมงเพื่อรองรับวิถีชีวิตคนทำงานในเมืองที่เลิกงานดึก หรือบางคนก็ทำงานยาวไปจนถึง 2 ทุ่ม จึงไม่สามารถไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะหรือฟิตเนสที่มีเวลาเปิดให้บริการตายตัวได้ จึงเป็นโอกาสของฟิตเนสที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยตัวอย่างของฟิตเนสที่เปิดบริการ 24 ชม. อย่างเช่น Jetts Fitness, Fitness 24 Seven และ Fitness First สาขาคิวเฮาส์ ลุมพินี เป็นต้น

Co-Working Space 24 ชั่วโมง ก็มา

ไม่ใช่ธุรกิจค้าปลีก และฟิตเนสเท่านั้น เพราะแน่นอนว่า พอมีคนชอบทำงาน นั่งจิบกาแฟ และรับประทานอาหารในช่วงเวลาดึกๆ มากขึ้น จึงต้องมีพื้นที่รองรับคนกลุ่มนี้ ทำให้เกิด Co-Working Space ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงเพื่อให้ผู้คนมานั่งทำงาน นั่งเล่นพักผ่อน โดยภายในจะมีบริการอินเทอร์เน็ต เครื่องดื่ม และอาหาร คอยเสิร์ฟเติมพลัง เพื่อไม่ให้รู้สึกเหงาเมื่อต้องทำงานคนเดียว

ธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่ม-ไอศกรีม ผุดร้าน 24 ชม. เอาใจคนนอนดึก

แม้แต่ในฝั่งธุรกิจ ร้านอาหาร และ ร้านไอศกรีม ในไทยก็หันมาเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงเช่นกัน ทั้ง ชาบูชิ ของโออิชิ Starbuck และแบรนด์ไอศกรีมในเครือไมเนอร์ฟู้ดอย่างสเวนเซ่นส์ เพื่อตอบโจทย์อินไซต์และแนวโน้มที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการนอนดึกและมีคนที่ทำงานกลางคืนมากขึ้น


แชร์ :

You may also like