เรียกว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะเผชิญมรสุมจากรัฐบาลหลายประเทศสำหรับ ติ๊กต่อก (TikTok) โดยข้อมูลจาก SensorTower ระบุว่า TikTok เป็นแอปพลิเคชันที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทั้งบน Google Play Store และ App Store หลังจากที่เคยทำสถิติผ่านยอดดาวน์โหลด 2,000 ล้านครั้งมาได้เมื่อปลายเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่ Covid-19 ระบาดอย่างหนักมาแล้ว
สำหรับประเทศไทย การเติบโตของ TikTok ก็เกิดขึ้นเช่นกัน โดยคุณสิรินิธิ์ วิรยศิริ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการตลาดของ TikTok ประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบัน ผู้ใช้ TikTok มากกว่า 60% เป็นกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 16 – 34 ปี และมากกว่า 80% เป็นนักศึกษา – กลุ่มคนทำงาน (First Jobbers) ซึ่งคุณสิรินิธิ์บอกว่าเป็นกลุ่มที่นักการตลาดจับตามองอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง และจะมีการเติบโตด้านหน้าที่การงานต่อไปในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น การสำรวจของ GlobalWebIndex* พบว่า ในกลุ่มผู้ใช้ Gen Y และ Gen Z ของ TikTok เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว (88%) มองหาเรื่องการลงทุน (50%) และให้ความสนใจกับเหตุการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ รอบโลกด้วย (62%) ซึ่งผู้บริหาร TikTok มองว่าเป็นจุดที่แตกต่างจาก Gen Z และ Gen Y ในแพลตฟอร์มอื่น ที่อาจสนใจแต่เรื่องราวความเป็นไปของตัวเอง
*เป็นการสำรวจในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2019 – ไตรมาส 1 ของปี 2020
ข้อมูลจาก GlobalWebIndex ยังระบุด้วยว่า ในบรรดาผู้ใช้ TikTok ในประเทศไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 – 64 ปีนั้น 3 ใน 4 ของผู้ใช้ TikTok ปัจจุบัน มีงานทำแล้ว และ 2 ใน 3 แต่งงานแล้ว รวมถึง 2 ใน 5 เป็นพ่อแม่ (ข้อมูลระหว่างตุลาคม 2019 – มีนาคม 2020) เหล่านี้ส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เนื่องจากพบว่า 3 ใน 4 มีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงเดือนที่ผ่านมา และ 2 ใน 3 มีการพูดคุยกับเกี่ยวกับสินค้าบนโลกออนไลน์
ผู้ใช้เปลี่ยน คอนเทนต์เปลี่ยน?
จากข้อมูลของผู้ใช้ TikTok ที่เริ่มเปลี่ยนไปสู่วัยทำงานมากขึ้นนั้น ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการสร้างสรรค์คอนเทนต์คลิปวิดีโอสั้นบน TikTok ตามมามากขึ้น โดยคุณสิรินิธิ์เผยว่า จากเดิมที่เน้นเพลง เอนเตอร์เทน การเต้น ไปสู่คลิปที่ให้ความรู้ต่าง ๆ เช่น ความรู้ทางการเงิน การเรียน การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า สอนการแต่งหน้า ฯลฯ และพบว่าคอนเทนต์เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เก่งมากขึ้น
ประกอบกับอัลกอริธึมของ TikTok ที่ออกแบบให้มีสองแท็บ นั่นคือ แท็บ Following กับแท็บ For You ทำให้โอกาสที่คลิปจะถูกพบเห็นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
“บน TikTok ทุกคนสามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้หมด” คุณสิรินิธิ์กล่าว
เปิดตัว TikTok for Business
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ทำให้ TikTok แพลตฟอร์มที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เพียง 2 ปี (กันยายน 2018) ตัดสินใจเปิดตัว TikTok For Business สำหรับให้นักการตลาด และธุรกิจต่าง ๆ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ได้เข้ามาใช้ลงโฆษณาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งถือว่าค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับโซเชียลมีเดียยี่ห้ออื่น ๆ ในอดีตที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะแพลตฟอร์มนานกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่เปิดตัวในปี 2004 และเปิดตัว Facebook Ads ในปี 2007)
หรืออย่างทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เปิดตัวในปี 2006 กว่าจะเริ่มมีการแสดงผลโฆษณา ก็คือช่วงเดือนเมษายน 2010 แต่การพัฒนา Ads API สำหรับให้นักโฆษณาสามารถเข้ามาสร้างแคมเปญขนาดใหญ่ได้นั้นเริ่มต้นจริงจังในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 เลยทีเดียว
5 รูปแบบโฆษณาของ TikTok For Business
ส่วนหนึ่งต้องบอกว่า เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้ TikTok ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ไม่ว่าจะเป็นการต้องการมีส่วนร่วมกับแคปเปญต่าง ๆ มากกว่าแค่การไถฟีดเฉย ๆ หรือแค่โพสต์ – รีทวีต นั่นจึงทำให้การปรากฏตัวของแบรนด์ภายใน TikTok นั้นต้องสามารถจับจุดให้ได้ เพื่อให้สามารถปรากฏตัวบนแพลตฟอร์มได้อย่างที่ไม่รู้สึกว่าเป็นโฆษณา หรือก็คือกลยุทธ์การสร้าง Brand Storytelling ภายใต้แนวคิด Don’t Make Ads. Make TikToks.นั่นเอง
สำหรับโฆษณาที่จะปรากฏตัวบน TikTok ได้ประกอบด้วย 5 รูปแบบดังต่อไปนี้
- Brand Takeover: รูปแบบโฆษณาในตำแหน่งแรกก่อนเข้าหน้า Feed ที่สามารถสร้างการเข้าถึง (Reach) ได้สูงสุด 100%
- Top View: รูปแบบโฆษณาในตำแหน่งแรกในหน้า Feed ที่สามารถสร้างได้ตั้งแต่การเข้าถึง (Reach), จำนวนคนที่เข้ามาบนแพลตฟอร์ม (Traffic) การพิจารณาเลือกซื้อ (Consideration) ไปสู่การตัดสินใจซื้อ (Conversion) ซึ่งจะสามารถสร้างการแสดงผลทั้งการมองเห็น (View) และจำนวนครั้งที่แสดงโฆษณา (Impression) เป็นจำนวนมากหลายล้านครั้งต่อวัน
- In-Feed Ads: รูปแบบโฆษณาที่จะปรากฏขึ้นระหว่างการแสดงคอนเทนต์ในหน้า Feed ซึ่งโฆษณารูปแบบนี้ยังสามารถทำได้ผ่าน แพลตฟอร์ม Self-Serve จาก TikTok ด้วย
- Hashtag Challenge: รูปแบบโฆษณาในลักษณะของการจัดแคมเปญ เพื่อชักชวนให้คนเข้ามาร่วมกิจกรรม สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ (Engagement) ได้อย่างมากในรูปแบบ User-Generated Content หรือคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นจากผู้ใช้
- Branded Effect: รูปแบบโฆษณาที่แบรนด์สามารถเข้ามาสร้างสรรค์ Effect ต่างๆ ทั้งภาพและเสียง เพื่อให้คนสามารถเลือกใช้ประกอบวิดีโอ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจดจำและปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ได้อย่างลึกซึ้งมีประสิทธิภาพ
“In-Feed Ads เป็นรูปแบบโฆษณาที่คั่นอยู่ระหว่างการชมเนื้อหา เช่น ทุก ๆ สี่ห้าชิ้นก็จะเจอสักอันหนึ่ง แต่บางทีก็อาจไม่รู้ว่ามันคือโฆษณา เพราะคนทำครีเอทีฟสูงมาก ทำเนื้อหาให้เหมือนการเล่าเรื่อง” คุณสิรินิธิ์กล่าว
ผู้บริหาร TikTok ยังบอกด้วยว่า In-Feed Ads ยังเป็นโฆษณาประเภทเดียวที่สามารถซื้อได้ด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์ม Self-Serve ส่วนที่เหลือต้องเป็นการซื้อผ่านเอเจนซี และจะมีทีมการตลาดของ TikTok ให้การสนับสนุน
แพลตฟอร์ม Self-Serve คืออะไร
เป็นแพลตฟอร์มที่ TikTok เปิดตัวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งแพลตฟอร์ม Self-Serve คือแพลตฟอร์มที่ให้ SMEs สามารถเริ่มต้นทำการตลาดบน TikTok ได้ด้วยตัวเอง โดยภายในมีเครื่องมือในการสร้างสรรค์
ส่วนใครที่สนใจมากกว่านั้น TikTok Thailand บอกว่าจะมีการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างสรรค์แคมเปญ และกิจกรรมการตลาดบน TikTok ตามมาอีกมาก โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ คืองานสัมมนา Grow with TikTok ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ โดยเปิดให้เข้าร่วมกิจกรรมฟรีสำหรับ SMEs ทั่วไปด้วย