หนึ่งในแผน Purpose-driven ของยักษ์ใหญ่ FMCG อย่าง “ยูนิลีเวอร์” (Unilever) มีคำมั่นสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์พลาสติกของผลิตภัณฑ์สินค้าภายใต้แบรนด์ต่างๆ ในเครือทั้งหมด ต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ รีไซเคิล และย่อยสลายได้ ขณะเดียวกันทุกบรรจุภัณฑ์ต้องสามารถรีไซเคิลได้ 100%
เพื่อให้บรรจุเป้าหมายที่วางไว้ “ยูนิลีเวอร์” ได้ทยอยปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์ต่างๆ พร้อมทั้งมองหาแนวทางต่างๆ ที่จะช่วยลดการใช้พลาสติก ทั้งในส่วนการผลิต และในฝั่งการบริโภค
หนึ่งในแนวทางใหม่ที่ว่านั้นคือ การพัฒนาโมเดล “Refill” (รีฟิล) ทั้งรูปแบบบรรจุภัณฑ์ – ฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ และการสร้างตู้ Refill หรือ Refill Station โดยล่าสุด “ยูนิลีเวอร์ สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์” จับมือกับ “Asda” เชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของอังกฤษ ที่ได้ปรับเปลี่ยนสาขา Asda Middleton ให้เป็นคอนเซ็ปต์ Sustainability Store โดยภายในมี “Refill Zone” ที่ร่วมมือกับแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ให้บริการสินค้ารูปแบบ Refill และ “ยูนิลีเวอร์” คือหนึ่งในนั้น
การทดลองโมเดล Refill ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #GetPlasticWise ที่ยูนิลีเวอร์ สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ต้องการขับเคลื่อนพันธกิจลดการใช้พลาสติกให้ได้ตามเป้าหมาย 2025
“ยูนิลีเวอร์” พัฒนาโมเดล Refill และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับการใช้งานง่าย
โมเดล Refill ของยูนิลีเวอร์ที่ให้บริการใน Asda Middleton ประกอบด้วย 7 แบรนด์คือ Persil, PG Tips, Radox, Cif, Simple, Pukka และ Alberto Balsam ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผม กลุ่มบำรุงผิว กลุ่มทำความสะอาดผิว ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน และเครื่องดื่มชา ในรูปแบบการเติมที่แตกต่างกันคือ
รูปแบบ “Refill Station เครื่องเติมแบบไร้สัมผัส” ภายใต้แนวคิด Return, Refill, Repeat มี 3 เครื่อง พัฒนาขึ้นโดย Beauty Kitchen แบรนด์ความงามภายใต้แนวคิดธรรมชาติ และความยั่งยืน ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ใหม่ของยูนิลีเวอร์ โดยแบรนด์สินค้าที่ให้บริการเติมในตู้นี้ ประกอบด้วย Radox (เจลอาบน้ำ), Simple (สบู่เหลวล้างมือ), Alberto Balsam (แชมพู และครีมนวด) และ Persil (ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้าแบบน้ำ)
ขั้นตอนการใช้งาน ถ้าเป็นลูกค้าใช้งานครั้งแรก ลูกค้าจะได้รับขวดอลูมิเนียม หรือสแตนเลสแบบใช้ซ้ำ นำขวดนั้นมาเติมสินค้าที่ต้องการ เมื่อเติมเต็มแล้ว จะได้รับฉลาก ให้ติดลงบนขวด และนำไปชำระเงิน โดยแต่ละขวดมี QR Code ที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อทำให้ สามารถตรวจสอบย้อนหลังถึงคุณภาพสินค้า ซึ่งจะทำให้ยูนิลีเวอร์สามารถติดตามขั้นตอนตลอดการซื้อ, การใช้ และการนำกลับมาเติม เพื่อนำข้อมูลนี้มาพัฒนาปรับปรุงการขายสินค้าแบบ Circular Model ให้ดีขึ้น
รูปแบบ “Self-serve Containers” ให้บริการผลิตภัณฑ์ชา แบรนด์ PG Tips และ Pukka โดยขั้นตอนการซื้อสินค้า จะมีภาชนะที่จัดเตรียมไว้ให้ลูกค้า หรือลูกค้าจะนำภาชนะมาเอง สำหรับใส่ถุงชา ซึ่งถุงชาทำมาจากวัสดุย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เมื่อเติมจนเต็มภาชนะแล้ว นำมาชั่งน้ำหนัก ติดฉลาก และชำระเงิน
รูปแบบ “In-home Refill” ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเติมเองที่บ้านได้สะดวก และง่าย นำร่องกับแบรนด์ “Cif” ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ที่พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ecorefills ใช้พลาสติกน้อยกว่าบรรจุภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป 75% เนื่องจากเป็นสูตรเข้มข้น 10 เท่าในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก สำหรับใช้คู่กับขวดสเปรย์แบบ Refill โดยขั้นตอนการใช้เพียงแค่เติมน้ำลงไปในขวดสเปรย์ จากนั้นเปิด Cif ecorefill ต่อเข้ากับขวดสเปรย์ เพื่อให้น้ำยาสูตรเข้มข้นลงไปเจือจากกับน้ำในขวดสเปรย์
Sebastian Munden รองประธานบริหารยูนิลีเวอร์ สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ กล่าวว่า การจับมือกับ Asda ทำให้ยูนิลีเวอร์ได้ทดลอง และเรียนรู้โมเดลการขายสินค้าแบบ Refill นับเป็นโอกาสที่ดีของเราที่ได้ศึกษาความต้องการ และการตอบรับของผู้ซื้อในการใช้บรรจุภัณฑ์แบบ Refill และนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์ ที่ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน
“แต่ทั้งนี้การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้มาใช้บรรจุภัณฑ์แบบ Refill และนำกลับมาเติม เราต้องสร้าง Solution ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อ และใช้งานได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ Refill ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้”
นอกจากยูนิลีเวอร์ สหราชาอาณาจักร และไอร์แลนด์ ก่อนหน้านี้ “ยูนิลีเวอร์ อินโดนีเซีย” ได้ทดลองขายสินค้าผ่านเครื่อง Refill แล้วเช่นกัน โดยจับมือกับ “Saruga” ร้านปลอดบรรจุภัณฑ์ ในการนำแบรนด์สินค้าทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล และผลิตภัณฑ์ภายในบ้าน ขายผ่านเครื่อง Refill ที่ร้านแห่งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก
หากโมเดลตู้ Refill ได้การตอบรับดี มีแนวโน้มว่าต่อไป “ยูนิลีเวอร์” อาจขยายผลไปยังประเทศต่างๆ และไม่ใช่แค่ยูนิลีเวอร์เท่านั้น เชื่อว่าจะได้เห็นแบรนด์สินค้า โดยเฉพาะในกลุ่ม FMCG ทั้งหลายหันมาขายสินค้าผ่านตู้ Refill มากขึ้น
เพราะการขายรูปแบบนี้ ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์การลดพลาสติก ทั้งในส่วนการผลิต และการใช้/การบริโภคเท่านั้น ขณะเดียวกัน “ตู้ Refill” หรือการสร้าง “Refill Station” สามารถกระจายไปตามโลเกชั่นต่างๆ เช่น ในย่านที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม หรือย่านชุมชน เป็น Touch Point หนึ่งที่ทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น