น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่อาลีบาบา (Alibaba) ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กับการจัดเทศกาลคนโสดในยุคที่ทั่วโลกยังเผชิญกับ Covid-19 ซึ่งถึงแม้มหกรรมช้อปปิ้งดังกล่าวจะจบลงแล้ว แต่ก็มีตัวเลขอีกมากที่น่าสนใจ และ Brandbuffet อยากนำมาฝากกันดังนี้
1. ยอดขายทุบสถิติ 2.25 ล้านล้านบาท
แม้เศรษฐกิจทั่วโลกปีนี้จะไม่เติบโตอย่างที่คาดการณ์ไว้เพราะพิษ Covid-19 แต่จีนในฐานะที่ฟื้นตัวก่อนใครจากสถานการณ์ดังกล่าวก็กลับมาแสดงศักยภาพด้านการซื้อในเทศกาลนี้ไปอย่างมโหฬาร โดยยอดขายของมหกรรมคนโสดในปีนี้พบว่าทำได้ถึง 74,100 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2.25 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2019 เกือบเท่าตัว
โดยหากย้อนไปดูตัวเลขในปี 2019 จะพบว่า ยอดการซื้อขายในเทศกาลคนโสดอยู่ที่ 38,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2018 อยู่ที่ 30,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนยอดออเดอร์ในช่วงพีคที่สุดของ 11.11 ก็คือ 583,000 ครั้งใน 1 วินาที ซึ่งอาลีบาบาบอกว่าถือเป็นความสามารถของโครงสร้างระบบที่ยืดหยุ่นมากพอจะรับคำสั่งซื้อได้ในระดับดังกล่าว
2. มีแบรนด์เข้าร่วมในมหกรรมครั้งนี้ถึง 250,000 แบรนด์
อาลีบาบาบอกว่ามีแบรนด์สินค้าเข้าร่วมในมหกรรมครั้งนี้ถึง 250,000 ราย โดยเป็นแบรนด์นอกประเทศจีนถึง 31,000 ราย และมีถึง 2,600 รายที่ไม่เคยเข้าร่วมมหกรรมครั้งนี้มาก่อน ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าธุรกิจทั่วโลกหวังพึ่งพาเงินจากชาวจีนในการฟื้นธุรกิจของตัวเองเช่นกัน และในจำนวนนี้ มีมากกว่า 470 แบรนด์ที่ทำเงินไปมากกว่า 100 ล้านหยวนด้วย
3. ตอบคำถาม 2.1 พันล้านครั้งด้วย AI แชทบ็อท
อาลีบาบาบอกว่า มีการส่งคำถามเข้ามา 2.1 พันล้านครั้งตลอด 11 วันของการจัดมหกรรมดังกล่าว และได้ AI Customer Chatbot รับหน้าที่ดูแลการตอบคำถามเหล่านั้นให้ท้ังหมด
4. สหรัฐอเมริกาติดอันดับ Top-Selling
จากที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ มักให้สัมภาษณ์ว่า สหรัฐอเมริกาเสียดุลการค้าให้จีนมาโดยตลอด แต่เทศกาลคนโสดรอบนี้คงมีข้อมูลอีกด้านเกิดขึ้น เมื่ออาลีบาบาบอกว่า สหรัฐอเมริกาติด 1 ใน 10 ประเทศที่ทำเงินจากมหกรรมครั้งนี้ได้มากที่สุด โดยประเทศอื่น ๆ ที่ติดโผร่วมด้วยได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และอังกฤษ
5. ไลฟ์สตรีมมิ่ง เครื่องมือที่ขาดไม่ได้
โดยเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในเทศกาล 11.11 ปีนี้คือการทำไลฟ์สตรีมมิ่ง ที่อาลีบาบาพบว่าการไลฟ์บนช่องทางอย่าง เถาเป่า ไลฟ์ (Taobao Live) นั้นสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 100 ล้านหยวนในเทศกาลครั้งนีเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมา Taobao Live ยังมียอดขายออนไลน์รวมถึง 350 ล้านหยวน (ประมาณ 1,602.15 ล้านบาท) ในไตรมาสสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา และคาดว่าตลาดไลฟ์สตรีมมิ่งจะสามารถเติบโตไปจนถึง 1 ล้านล้านหยวน หรือ ประมาณ 4.57 ล้านล้านบาท
6. ยอดจัดส่งสินค้าทะลุ 2 พันล้านกล่อง
ไช่เหนียวเน็ตเวิร์ก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของอาลีบาบาเปิดเผยว่า บริษัทมียอดจัดส่งสินค้าตลอด 11 วันมากกว่า 2,320 ล้านครั้ง ซึ่งการรับมือกับตัวเลขดังกล่าวถือว่าน่าสนใจมาก เพราะไช่เหนียวบอกว่ามีทั้งการจ่าหน้าซองแบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ทำให้สะดวกต่อการคัดแยก และส่งถึงมือผู้รับได้เร็วขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการนำ AI เข้ามาช่วยตัดสินใจว่าจะส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าใดให้ใกล้ที่อยู่ของลูกค้ามากที่สุด เพื่อให้สามารถส่งสินค้าได้เร็วยิ่งขึ้น ส่วนสินค้าที่ต้องส่งไปยังต่างประเทศ ไช่เหนียวระบุว่า จะมีการใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำจำนวน 700 เที่ยวในการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
7. Number 199 ฮีโร่น้องใหม่ด้านโลจิสติกส์
เทศกาล 11.11 ยังสร้างฮีโร่ด้านโลจิสติกส์ขึ้นมาอีกด้วย โดยเป็นหุ่นยนต์ชื่อ Number 199 ซึ่งทำหน้าที่บรรจุสินค้าในคลังสินค้าของไช่เหนียว โดยเจ้า Number 199 ทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน และเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดสดผ่านไลฟ์สตรีม จนกลายเป็น Meme ที่ผู้ชมชาวจีนต่างรู้จัก นักช้อปหลายท่านยังส่งข้อความตลก ๆ มาถึงเจ้าหุ่นยนต์นี้ เช่น ฝากบอกว่าให้รู้จักพักเหนื่อยบ้าง เป็นต้น
8. แบรนด์ลงมาไลฟ์เองมากขึ้น
แม้ว่างานมหกรรม 11.11 ในปีนี้ จะมีเซเลบริตี้ถึง 300 คนและ 400 แบรนด์และนักธุรกิจเข้าใช้สตูดิโอไลฟ์สตรีมมิ่งเถาเป่าเพื่อโปรโมทสินค้าเป็นครั้งแรก แต่สิ่งหนึ่งที่อาลีบาบาพบจากเทศกาลก็คือ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของแบรนด์ลงมาไลฟ์สตรีมมิ่งด้วยตัวเองมากขึ้น แทนการใช้บริการ KOL เหมือนในอดีต โดยส่วนหนึ่งมองว่า เป็นเทรนด์ที่ต่อเนื่องมาจากช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด และไม่สามารถเดินทางไปพบปะกันได้ โดย Taobao Live ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน จำนวนผู้ชมไลฟ์สตรีมมิ่งเพิ่มขึ้นถึง 160 ล้านคนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และร้านค้าที่ร่วมไลฟ์สตรีมมิ่งเริ่มมีจำนวนมากขึ้นถึง 220% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าด้วย