ลุ้นผลการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐ กันแบบข้ามวันข้ามคืน หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในที่สุดก็ชัดเจนแล้วว่า “โจ ไบเดน” พลิกเอาชนะ “โดนัล ทรัมป์” ได้ในโค้งสุดท้าย ต้องบอกว่าเลือกตั้งสหรัฐ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะการดำเนินนโยบายต่อจากนี้จะส่งผลกระทบไปทั่วโลกในฐานะประเทศมหาอำนาจ เห็นได้จาก 4 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ผลของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทำเอาป่วนไปทั่วโลก
มาฟังการวิเคราะห์ในมุมธุรกิจและเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ จะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อ “ทรัมป์” ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี กับ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านสื่อสารองค์กร บริหารแบรนด์ และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต้องบอกว่าช่วง 4 ปี ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สิ่งที่ส่งผลกระทบชัดเจน คือ Trade War หลายสินค้าไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐได้ จากกำแพงภาษี สินค้าเหล่านี้ก็ต้องหาตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งศูนย์กลางก็คือประเทศไทย สิ่งที่ได้ประโยชน์ ก็มีหลายด้าน เช่น การขนส่ง แต่บางสินค้าก็ต้องเจอคู่แข่งขันจากจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แข่งกับไทย ต้องยอมรับว่าบางสินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันราคาได้
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ มักมีเรื่องเซอร์ไพรส์ ในการบริหารอยู่บ่อย ๆ อย่าง กรณีใช้กฎหมายพิเศษ บังคับให้ แอปพลิเคชั่นดังของจีน Tik Tok ขายธุรกิจให้คนอเมริกัน หากต้องการทำตลาดในสหรัฐ หรือออกจากตลาดไป ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในโลกการค้าเสรี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ โจ ไบเดน มีคะแนนขึ้นนำในโค้งสุดท้ายและชนะเลือกตั้งกลายเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในฝั่งของ ทรัมป์ วิเคราะห์ได้ 2 มุม ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก
1.ทรัมป์ แพ้และยอมรับ นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะนโยบายด้านเศรษฐกิจตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของสหรัฐจะเปลี่ยนไป มี 4 เรื่องหลัก ที่จะเกิดขึ้นในยุคของ “โจ ไบเดน” เป็นประธานาธิบดี
- Partners มีพันธมิตรมากขึ้น นโยบายของ โจ ไบเดน จะเน้นการมีพันธมิตร โดยเปลี่ยนจากการแข่งขัน(Competition) เป็น Partners คู่ค้าพันธมิตร ที่สร้างประโยชน์ให้กับทั้ง 2 ฝ่าย มากกว่าการทำธุรกิจคนเดียวมากขึ้น ในมุมรัฐศาสตร์มองได้ว่า “โลกจะสงบสุขมากขึ้น”
- Stability มีความมั่นคงมากขึ้น นโยบายด้านเศรษฐกิจและธุรกิจจะไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนในยุค Tweetonomics ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ มักใช้ทวิตเตอร์ในช่วงเช้าประกาศนโยบายต่างๆ ออกมา บางครั้งส่งผลให้ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงแบบฉับพลัน จากเนื้อหาที่ทวีตออกมา
- Import – Export การนำเข้าและส่งออกสินค้าจะเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลงจากการตั้งกำแพงภาษี เชื่อว่าในยุค โจ ไบเดน จะเกิดขึ้นน้อยมาก เหมือนยุค บารัค โอบามา
- Good Governance นโยบายที่มีธรรมาภิบาลมากขึ้น เพราะในโลกการค้าเสรี มี 2 มุม คือ การปกป้องตัวเองมากขึ้น เพื่อกันคู่แข่งและมุมที่เห็นโอกาสมากขึ้นจากการเป็นพันธมิตร นโยบายของ “โจ ไบเดน” น่าจะมองเห็นโอกาสมากกว่า เพราะสามารถทำการค้าได้เสรี ไม่ต้องเสี่ยงกับนโยบายหรือการออกกฎหมายพิเศษ แบบไล่คู่ค้าออกจากประเทศ จากกรณี Tik Tok ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็ยังเสี่ยงกับเรื่องนี้ในยุคของทรัมป์ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจไม่กล้าเข้าไปลงทุนในสหรัฐ หากเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจสหรัฐเองก็กระทบได้
2. ทรัมป์ แพ้และไม่ยอมรับ เหตุการณ์นี้ต้องบอกว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้” กับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เห็นได้จากกรณี Tik Tok ก็ทำมาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจ คือ อะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะ ทรัมป์ พูดมาตลอดว่า เดโมแครต ของ โจ ไบเดน โกงการเลือกตั้ง เป็นการพูดบ่อยในช่วงหาเสียง ซึ่งก็อาจเป็นการปูทางไว้ให้เกิดการตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งพูดว่าอาจมีการเลือกตั้งรอบสอง การพูดแบบนี้ก็สะท้อนมุมมองได้ว่า หากไม่ชนะ ก็อาจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่
จะเห็นได้ว่าทั่วโลกยังต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้แน่นอน ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี คนใหม่ก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจจากผลเลือกตั้งสหรัฐ
โค้งสุดท้ายการนับคะแนนเลือกตั้งสหรัฐ เป็นไปตามผลโพลและการคาดการณ์ต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันว่า “โจ ไบเดน” ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี อันน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐในภาพรวม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจในกรณีที่ โจ ไบเดน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.0% ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ ก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศอื่นๆ ตามความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ลดลง
ในส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากเศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 0.2% (บนสมมติฐานที่ไม่มีการยกระดับสถานการณ์การเมือง รวมถึงการแพร่ระบาดซ้ำของโควิดอย่างรุนแรงในประเทศ) ผ่านผลกระทบทางตรงจากการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐและผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจโลก ในภาพรวมที่ฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี
ขณะที่ ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า ตามการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่ถ้าโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดี จะทำให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกโดยรวมลดลง เงินทุนไหลกลับเข้าไปหาผลตอบแทนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ดอลลาร์จึงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงมาก ทำให้ค่าเงินบาทจึงมีทิศทางแข็งค่ามากกว่า นอกจากนี้ ความเสี่ยงในประเทศ ทั้งปัจจัยการเมือง และสถานการณ์การแพร่ระบาดซ้ำของโควิด ไม่ได้ยกระดับสูงขึ้น ดังนั้น คาดว่าในช่วงสิ้นปี 2563 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand