ในขณะที่หลายองค์กร ต่างเจอผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลต่อผลประกอบการธุรกิจลดลง แต่สำหรับ “คาราบาวกรุ๊ป” (Carabao Group) ทั้งยอดขาย และกำไรทั้ง 9 เดือนของปี 2563 และในไตรมาส 3 ยังคงเติบโต
ไตรมาส 3/2563
รายได้จากการขาย 4,405 ล้านบาท
กำไร 970 ล้านบาท
ไตรมาส 2/2563
รายได้จากการขาย 4,508 ล้านบาท
กำไร 881 ล้านบาท
ไตรมาส 1/2563
รายได้จากการขาย 4,061 ล้านบาท
กำไร 801 ล้านบาท
9 เดือน/2563
รายได้จากการขาย 12,974 ล้านบาท
กำไร 2,652 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการ “คาราบาวกรุ๊ป” เติบโต มาจากทั้งกลยุทธ์ตลาดในประเทศ ที่มาจากทั้งแบรนด์ในเครือคาราบาว กรุ๊ปเอง และรับจ้างจัดจำหน่าย รวมทั้งกลยุทธ์ตลาดต่างประเทศ และการบริหารจัดการต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ ทั้งขวด และกระป๋อง
“ตลาดในประเทศ” ปั้นพอร์ตแบรนด์เครื่องดื่มสุขภาพ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่คาราบาวเข้าไม่ถึง
สำหรับกลยุทธ์ตลาดในประเทศ ประกอบด้วย
1. ปั้นแบรนด์ใหม่ – สินค้าใหม่ ขยายฐานลูกค้า
ใน “คาราบาวกรุ๊ป” กลุ่มธุรกิจสำคัญคือ “แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัท” (Branded Own) โดยไตรมาส 3/2563 ผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าตนเอง มีรายได้ 3,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% หรือ 246 ล้านบาท
ในจำนวนรายได้ดังกล่าว เป็นรายได้จากการขายในประเทศ 1,569 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.4 หรือ 22 ล้านบาท (อีก 2,048 ล้านบาท มาจากตลาดต่างประเทศ) ซึ่งสินค้าหลักอย่างเครื่องดื่มชูกำลัง เติบโต 6% แต่การโตดังกล่าว มาจากตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศหดตัว เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง โดยสถานการณ์ในไตรมาส 3 ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในเชิงปริมาณลดลง 7%
อย่างไรก็ตามในขณะที่เครื่องดื่มชูกำลังในประเทศชะลอตัว “คาราบาวกรุ๊ป” ได้ปั้นแบรนด์ใหม่เสริมทัพ เพื่อสร้าง Brand Portfolio ในเครือให้มีความหลายหลายในการเข้าถึงผู้บริโภคแต่ละเซ็กเมนต์
หลังจากที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ การสร้าง Product Portfolio ของคาราบาว กรุ๊ป อยู่ภายใต้แบรนด์ “คาราบาว” เป็นหลัก โดยมีเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” เป็นสินค้าเรือธง และเป็นสินค้าแรกเริ่มเมื่อครั้งก่อตั้งบริษัท ด้วยความแข็งแกร่งของแบรนด์ จากนั้นเป็นต้นมาได้ขยาย Product Line ด้วยแบรนด์คาราบาวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มเกลือแร่คาราบาว สปอร์ต, น้ำดื่มคาราบาว, กาแฟพร้อมดื่ม คาราบาว, กาแฟ 3 in 1 คาราบาว
ในขณะที่แบรนด์คาราบาว แข็งแกร่งในตลาด Mass ทั้งแบรนด์ดิ้ง เพราะด้วยภาพลักษณ์ที่มาคู่กับ “แอ๊ด คาราบาว” ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็น Brand Ambassador ของแบรนด์ ที่มาพร้อมกับการตอกย้ำสโลแกน “เชิดชูนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” ทำให้กลายเป็น DNA แบรนด์ ที่สามารถครองใจกลุ่มแรงงานได้สำเร็จ
บวกกับโปรดักต์ และระบบจัดจำหน่าย ที่สามารถกระจายสินค้าครอบคลุม โดยเฉพาะช่องทางร้านค้าปลีกขนาดเล็ก หรือร้านโชห่วยทั่วประเทศ
แต่ด้วย Brand DNA ที่แข็งแรง ในอีกมุมหนึ่งก็กลายเป็น “ข้อจำกัด” ในการขยายการเติบโตไปยังฐานลูกค้าใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความสำคัญกับธุรกิจตรงที่ว่า เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ และมีกำลังซื้อ
ที่ผ่านมาคาราบาวกรุ๊ป มีความพยายามเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเพื่อสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัย สลัดลุคความเป็นแบรนด์เครื่องดื่มกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จึงได้นำคาราบาว กรีนแอปเปิ้ล ซึ่งเป็น Carbonated Drink ที่ทำตลาดในสหราชอาณาจักรมาก่อน มาผลิตและจำหน่ายในไทยเมื่อปี 2561
ทว่านั่นยังไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเพื่อเกาะไปกับไลฟ์สไตล์ยุคนี้ ที่ผู้คนใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้อาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อยู่ในทิศทางเติบโตต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ในช่วงเดือนมีนาคม “คาราบาวกรุ๊ป” เปิดตัวเครื่องดื่มวิตามินซี “Woody C+ Lock” (วู้ดดี้ ซี+ ล็อค) จัดอยู่ในเซ็กเมนต์ Healthy Shot ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ “วู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา” ตั้งบริษัท A Woody Drink จำกัด เพื่อผลิตและทำตลาด Functional Drink
แม้จะเปิดตัวช่วง COVID-19 และมูลค่าตลาด Functional Drink อยู่ที่ 6,713 ล้านบาท น้อยกว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ที่มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาทก็ตาม แต่ตลาด Functional Drink เติบโตตัวเลขสองหลักต่อเนื่องกันมา 2 – 3 ปี และคาดว่าสำหรับกลุ่ม Healthy Shot จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20 – 30% จากปัจจัยคนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์ COVID-19 คนยิ่งใส่ใจกับสุขภาพ ทั้งอาหารการกิน และการออกกำลังกาย บวกกับมีผู้เล่นมากขึ้น
โดยหลังจาก “Woody C+ Lock” เปิดตัวสู่ตลาด และเดินหน้าเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย ควบคู่กับกิจกรรมการตลาดและส่งเสริมการขาย ทำให้ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด 9% เป็นอันดับ 3 ของตลาด Healthy Shot จากผู้เล่นทั้งหมด 7 แบรนด์
“ในการพัฒนาสินค้าใหม่ เราตั้งเป้าหมายโต 30% อยู่แล้ว ซึ่งเราทำแบรนด์ Woody C+ Lock ขึ้นมา เพราะมีเป้าหมายต้องการขยับธุรกิจคาราบาว กรุ๊ป เข้าไปทำตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่แบรนด์คาราบาวอาจไม่เหมาะเข้าไป ดังนั้นต่อไปแบรนด์ Woody จึงเป็นแบรนด์สินค้าในพอร์ตโฟลิโออีกหลายตัวที่เรากำลังจะสร้างขึ้นมา เพื่อสร้างโอกาสการขยายฐานธุรกิจในประเทศของบริษัทฯ” คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ พร้อมด้วย คุณพงศานติ์ คล่องวัฒนกิจ ประธานผู้บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงผลการดำเนินงานบริษัทฯ
2. รายได้จากการรับจ้างจัดจำหน่ายแก่บุคคลภายนอกโต มี Key Driver คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อีกกลุ่มธุรกิจหนึ่งของ “คาราบาวกรุ๊ป” คือ รับจ้างจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอก โดยช่องทางการจัดจำหน่าย
ประกอบด้วย ร้านค้าดั้งเดิม (Traditional Trade) ทั้งในส่วนการกระจายผ่านตัวแทน และการกระจายผ่านศูนย์กระจายสินค้าและหน่วยรถเงินสดของตนเอง และร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade)
สำหรับรายได้จากการรับจ้างจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอก ในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 613 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 262 ล้านบาทหรือร้อยละ 74.4 นับเป็นธุรกิจที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องทุกไตรมาสในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา
โดยมีปัจจัยเชิงบวกจากความหลากหลายของสินค้า และที่สำคัญมี Key Driver คือ การรับจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบัน Contribute รายได้ในส่วนธุรกิจรับจ้างจัดจำหน่ายสูงถึง 90%
ประกอบกับผลสำเร็จของประสิทธิภาพการกระจายผ่านหน่วยรถเงินสด ซึ่งในปัจจุบันสามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกได้มากกว่า 180,000 ร้านค้าทั่วประเทศ
3. ปรับกลยุทธ์ราคา “กาแฟกระป๋องพร้อมดื่มคาราบาว”
ในไตรมาส 3 รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่คาราบาวกรุ๊ป ว่าจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการผลิตให้ (น้ำดื่ม, กาแฟ 3 in 1, กาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม) มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 อยู่ที่ 135 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับกลยุทธ์ราคาของผลิตภัณฑ์กาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม จากเดิมขายในราคา 12 บาท ปรับลงมาเหลือ 10 บาท ในขณะที่คู่แข่งขายในราคา 15 บาท ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ยอดขายดีขึ้น ส่งผลให้รายได้จากการขายกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ซึ่งอยู่ที่ 15 ล้านบาท
4. ให้ความสำคัญทั้ง
Traditional Trade – Modern Trade
และวางแผนโซนพื้นที่การขาย
หนึ่งในกลยุทธ์ทำให้คาราบาวกรุ๊ป สามารถผลักดันสินค้าแบรนด์ของตัวเอง กับของลูกค้าภายนอกที่กระจายสินค้าให้ คือ การมีระบบจัดจำหน่าย ที่สามารถกระจายเข้าถึงทั้งช่องทาง Traditional Trade และ Modern Trade
คุณเสถียร เล่าว่า บริษัทฯ โฟกัสช่องทางการขายมากขึ้น ตัวอย่างเช่นจากเดิมเครื่องดื่มชูกำลัง มากถึง 75% อยู่ในช่องทางร้านค้าดั้งเดิม แต่ขณะนี้บริษัทฯ มีสินค้าหลากหลาย เช่น Woody C+ Lock และคาราบาว กรีนแอปเปิ้ล ซึ่งช่องทางการจัดจำหน่ายหลักของเครื่องดื่มกลุ่มนี้ อยู่ที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ดังนั้นจึงต้องกระจายเข้าช่องทางการขายดังกล่าวมากขึ้น
“ขณะเดียวกัน ในโปรดักต์หลากหลายขึ้น นอกจากการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายแล้ว เราต้องบริหาร Area หรือโซนพื้นที่ด้วยว่าแต่ละโซน สินค้ากลุ่มไหนขายดี สินค้ากลุ่มไหนขายได้น้อย เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดูว่าสินค้า Category ไหน ขายได้มากน้อยอย่างไร เช่นเดียวกับในต่างจังหวัด ต้องดู Area ว่าโซนไหน จังหวัดใด สินค้าไหนขายได้มากน้อยอย่างไร”
“ตลาดต่างประเทศ” CLMV ขับเคลื่อนธุรกิจ
สำหรับกลยุทธ์ตลาดต่างประเทศ ประกอบด้วย
5. CLMV และ จีน ดาวเด่นตลาดต่างประเทศ และเป็นอนาคตของคาราบาวกรุ๊ป
ในขณะที่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศชะลอตัว และรายได้การขายผลิตภัณฑ์ของคาราบาวกรุ๊ปในประเทศไทยลดลง ปรากฏว่า Key Driver ที่ทำให้ภาพรวมของสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังของคาราบาวกรุ๊ปเติบโต 6% มาจากตลาดต่างประเทศ
ไตรมาส 3/2563 รายได้จากการขายเครื่องดื่มชูกำลังในตลาดต่างประเทศ อยู่ที่ 2,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 269 ล้านบาท หรือ15.1% โดยยอดส่งออกหลัก มาจาก
81% กลุ่มประเทศ CLMV
6% ประเทศจีน
18% มาจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อจากประเทศเยเมน และอัฟกานิสถานเป็นหลัก
นอกจากนี้รายได้จากการขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของคาราบาว ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ พบว่า 60% มาจากตลาดต่างประเทศ และ 40% ตลาดในประเทศ จากในปี 2561 ตลาดใปประเทศ 55% และต่างประเทศ 45%
กลุ่มประเทศ CLMV เป็นตลาดส่งออกเดิม ที่เป็นฐานธุรกิจต่างประเทศขนาดใหญ่ และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศเมียนมาร์ นอกจากนี้ตลาดกัมพูชา ยังโตในระดับ Double Digit
ส่วนตลาดอังกฤษ (UK) ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทย่อย Intercarabao Company Limited (“ICUK”) มีทิศทางการขายที่ดีขึ้น เป็นผลจากการปรับกลยุทธ์ที่เน้นการเพิ่มอัตราการขายในช่องทางเครือข่ายร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีปริมาณขายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 560,000 กระป๋องเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากปริมาณขายเฉลี่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า
“เราแสวงหาตลาดต่างประเทศตลอดเวลา ใน CLMV นอกจากตลาดกัมพูชา และเมียนมาร์ที่มีศักยภาพแล้ว เราเข้าไปในตลาดเวียดนามหลายปีแล้ว และเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขยายตลาด เพียงแต่จังหวะปีนี้เจอ COVID-19 ดังนั้นเมื่อไรที่เดินทางไปได้ เราจะเข้าไปลงทุนตลาดนี้ ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของสินค้า เจ้าของแบรนด์
เพราะลำพังคู่ค้าที่นั่น เขาทำไปต้องระมัดระวังไป ไม่กล้าลงทุนเยอะ แต่เราเป็นเจ้าของแบรนด์ ซึ่งมีงบจำนวนหนึ่งที่มาพอจะเข้าไปลงทุน Drive ตลาดเวียดนามให้โตกว่านี้ เพื่อซื้ออนาคตในเวียดนาม
ขณะที่ตลาดจีน มีทิศทางที่ดีเรื่อยๆ ในปีหน้าจะเข้าสู่ปีที่ 5 แล้วสำหรับการนำสินค้าขายในจีน ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในฐานะแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาเรามียอดขายเติบโตในแต่ละมณฑลต่างๆ เพียงแต่ปีนี้ในช่วง 5 – 6 เดือนแรก เจอ COVID-19 ทำให้ยอดขายลดลง แต่ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ยอดขายจะกลับมา
เราหวังว่าใน 2 ปีข้างหน้า ถ้าเมื่อไรที่ตลาดจีนขายได้เดือนละ 1 ล้านลัง หรือคิดเป็น 24 ล้านกระป๋อง ปีหนึ่ง 300 กว่าล้านกระป๋อง หลังจากนั้นเราจะเห็นตลาดจีน เติบโตในแต่ละปี ไม่น้อยกว่า 50% และทำให้ต่อไปยอดขายในจีนจะสามารถเติบโตได้มากขึ้น จาก 300 ล้านกระป๋อง เป็น 500 ล้านกระป๋อง 800 ล้านกระป๋อง 1,000 กระป๋อง
เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาที่จะไปถึงจุดนั้นได้ เป็นช่วงเวลาที่อดทน และเป็นการลงทุน ซึ่งผมพูดตลอดเวลาว่า จีน คืออนาคตของคาราบาวกรุ๊ป”
เปิดโรงงานบรรจุภัณฑ์ 3 บริษัท ลดต้นทุน – เพิ่มรายได้
6. โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ สร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต
การดำเนินธุรกิจสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการสร้างรายได้ คือ การลดต้นทุนในกระบวนการธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำขององค์กร
ความได้เปรียบสำคัญของ “คาราบาวกรุ๊ป” คือ การบริหารจัดการตลอดทั้งซัพพลายเชนธุรกิจ ซึ่งนอกจากมีโรงงานผลิตสินค้าแล้ว ยังมีโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อผลิตทั้งขวด และกระป๋อง ประกอบด้วย 3 บริษัทในเครือคือ
– เอเชีย แปซิฟิกกลาส (APG) ผลิตขวดแก้ว
– เอเชียแคน แมนนูแฟคเจอริ่ง (ACM) ผลิตกระป๋องอลูมิเนียม
– เอเชีย แพ็คเกจจิ้ง แมนูแฟคเจอริ่ง (APM) ผลิตกล่อง, ฉลาก และ Shrink Film
ปัจจุบันโรงงาน APG และ ACM ดำเนินการผลิตแล้ว ขณะที่โรงงานใหม่ APM ที่ลงทุนไป 700 ล้านบาทนั้น จะเริ่มดำเนินการผลิตในสิ้นปี 2563
การตั้งโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์เอง ตอบโจทย์ทั้งการลดต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ และสามารถซัพพลายให้กับการผลิตสินค้าของบริษัทฯ ได้อย่างเต็มที่ เพื่อรองรับเป้าหมายธุรกิจคาราบาวกรุ๊ปที่ต้องการเป็น World-class Product, World-class Brand ขณะเดียวกันยังเพิ่มรายได้จากการรับผลิตขวดให้แก่บุคคลภายนอกอีกทาง
เล็งเข้าตลาด “Vitamin Water”
ภายใต้พอร์ตโฟลิโอ “Functional Drink” หลังจากเปิดตัวสินค้ากลุ่มแรกคือ Healthy Shot แล้ว เชื่อว่าต่อไปจะเปิดตัวเครื่องดื่ม Functional Drink อีกหลายเซ็กเมนต์ เพราะเป็นทิศทางของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ทั้งตลาดโลก และไทยที่แนวโน้มจะ Fragment มากขึ้น อีกทั้งเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์แล้ว
เพราะฉะนั้นเอง คาราบาวกรุ๊ป ต้องเร่งปักธงตลาดเครื่องดื่มกลุ่มนี้อย่างแน่นอน และ “Vitamin Water” เป็นหนึ่งในโปรดักต์ที่สนใจ
“ตลาด Vitamin Water น่าสนใจ เพราะเห็นเทรนด์นี้จากในญี่ปุ่น และอังกฤษก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ไม่ได้มีพื้นฐานการผลิตขวด PET มาก่อน แต่ทั้งนี้กำลังศึกษาตลาด เพราะถึงอย่างไรคาราบาวกรุ๊ป ต้องเข้ามาสู่ตลาดนี้”
ส่วนแนวทางธุรกิจ และเป้าหมายการเติบโตในปี 2564 คุณเสถียร กล่าวว่าขณะนี้ “คาราบาวกรุ๊ป” อยู่ในช่วงทำแผนธุรกิจของปีหน้า โดยในแต่ละปีตั้งเป้าหมายการเติบโต สำหรับตลาดในประเทศไม่ต่ำกว่า 20% และตลาดต่างประเทศ 25% นอกจากนี้ทำแผนธุรกิจในระยะ 5 – 10 ปีจากนี้ เพื่อเตรียมการสำหรับการเติบโตในอีก 10 ปีข้างหน้า
“ขณะนี้เราได้ทำแผนธุรกิจ 5 – 10 ปี เพื่อมองไปข้างหน้าว่าใน 10 ปีข้างหน้า คาราบาวกรุ๊ปจะอยู่ตรงไหน ซึ่งในพื้นฐานช่วง 1 – 2 ปีนี้ เราตระเตรียมคนหนุ่มสาวอายุน้อยกว่า 35 ปี ไม่น้อยกว่า 200 คน เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทฯ ใน 10 ปีข้างหน้า”