HomeInsightอพท. มือประสานเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน พลิกเสน่ห์ชุมชน ให้กลายเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจระยะยาว

อพท. มือประสานเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน พลิกเสน่ห์ชุมชน ให้กลายเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจระยะยาว

แชร์ :

เมื่อปี 2562 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันดีในนาม UNESCO ประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) มาทั้งสิ้น 66 เมืองทั่วโลก ในปีนั้น ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 2 เมือง คือ กรุงเทพมหานคร ด้านการออกแบบ (City of Design) และสุโขทัย ด้านศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) ซึ่งการคัดเลือกดังกล่าว จะจัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี และในปี 2564 ที่กำลังจะถึงนี้ คนไทยคงต้องช่วยลุ้นและร่วมกันลงมือปั้น 2 เมือง เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ นั่นคือ “เมืองน่าน” อีกหนึ่งพื้นที่น่าเที่ยว ให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ ติดอันดับกับเขาอีกหนึ่งแห่ง โดยชูจุดเด่นเรื่อง หัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) และพื้นที่ “จังหวัดสุพรรณบุรี” ซึ่งเป็นแหล่งรวมศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ให้เป็นเครือข่ายประเภทเมืองแห่งดนตรี (City of Music)

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การจะปั้นให้เมืองสักเมือง ให้เป็น “เมืองสร้างสรรค์” ตามมาตรวัดของยูเนสโก ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องออกแรงกันหลายฝ่าย ที่สำคัญที่สุดคือ “คนท้องถิ่น” ที่จะปลุกพลังรักษ์พื้นที่ ความเข้าใจจุดเด่นของตัวเอง แล้วใส่ความครีเอทีฟลงไปให้ลงตัว โดยมีหน่วยงานอย่าง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ทำตัวเป็นมือประสานรอบด้าน ผลักดันให้การทำงานของทุกฝ่ายเดินหน้าตามกรอบที่เข้าเกณฑ์การตัดสิน และไม่ว่าจะได้รางวัลแปะป้ายกลับมาหรือไม่ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งนั่นหมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในระยะยาวของชุมชนนั้นๆ

ดร. ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยเบื้องหลังแนวคิดการทำงาน และวิสัยทัศน์ของหน่วยงานเพื่อช่วยให้ “การท่องเที่ยวไทย” ยังเป็นขุมทรัพย์ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเอง เดินทางมาค้นหาได้ไม่มีที่สิ้นสุด

อพท. คือใคร

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าใดนัก แต่บทบาทของหน่วยงานนี้ตามการอธิบายความหมายของ ดร. ชูวิทย์ มิตรชอบ ก็คือ “เราเป็นเหมือนวาทยากรด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ถ้าหากว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดูแลทางฝั่ง Demand คือกระตุ้นความต้องการให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาท่องเที่ยวในประเทศไทย เราก็ทำหน้าที่ฝั่ง Supply เตรียมแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนให้พร้อม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเหล่านั้น โดยที่ทางชุมชนเองก็ต้องได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วย”

“ตัวหน่วยงานของเราเองทำหน้าที่ประสานงานให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ชุมชน ผู้ประกอบการ และคนในชุมชน ดำเนินงานตามแผนพัฒนาที่ยั่งยืนตามองค์ความรู้ของเรา เราไม่ได้มีงบประมาณอะไรมากมาย เราเพียงสนับสนุนได้บางส่วนเท่านั้น การจะลงมือทำอะไร ก็ต้องอาศัยงบประมาณเดิมของแต่ละพื้นที่ เช่น ถ้าจะบูรณะอาคารเก่าก็อาจต้องอาศัยงบประมาณหลักของอบจ. หรือการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องอาศัยหน่วยงานอื่นที่มีข้อบังคับ อย่างการเก็บขยะก็ต้องพึ่งเทศบาล รวมทั้งวิสัยทัศน์ของคนในพื้นที่ อย่างเช่นที่เชียงคาน มีการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่ชุดตำรวจโบราณ แต่งกายย้อนยุค ซึ่งนี่ก็ได้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เมื่อพ่อเมืองลงมาดูแลด้วยตัวเองแบบนี้ ทำให้การทำงานราบรื่น และสิ่งเหล่านี้ ก็กลายเป็นจุดขายทางวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวก็สนุกสนาน มีการถ่ายรูปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

พื้นที่ความรับผิดชอบของ อพท. มีพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง อาทิ หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงจังหวัดตราด พัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เลย เมืองเก่าน่าน เมืองโบราณอู่ทอง ทั้งนี้เกณฑ์การแบ่งพื้นที่ก็มาจากความเหมาะสมด้านสภาพพื้นที่ ด้านภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ว่าสามารถเข้าไปบริหารจัดการให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้

4 มิติของความยั่งยืน

เพราะการท่องเที่ยวเป็นเรื่องของ “ความสุข” ที่ประทับจับอยู่ในใจ ดังนั้น ถึงแม้ว่าหน่วยงานมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงชุมชนเป็นหลัก แต่ก็ต้องสร้างความสมดุลทางฝั่งนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้าของอุตสาหกรรมนี้ไปพร้อมๆ กัน จนกลายเป็นความท้าทาย ที่ต้องตามหาว่า “ความสมดุล” ที่กล่าวถึงมีอะไรเป็นเกณฑ์วัด

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นแค่เพียง Buzz Word เท่ๆ ตามกระแสเท่านั้น แต่มีหน่วยงานระดับโลกทำงานด้านนี้โดยตรงนั้นทำให้ “ความยั่งยืน” ที่ดูราวกับเป็นนามธรรม ถูกนิยามและ อธิบายด้วย “เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ที่กำหนด ขึ้นโดย Global Sustainable Tourism Council หรือ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ดังนั้นอพท. จึงยึดเอาเกณฑ์นี้ขึ้นมาเป็นดัชนีชี้วัด และใช้เป็นกุญแจสำคัญมาเป็นกรอบในการพัฒนาพื้นที่พิเศษ และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย

โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีการประเมิน 4 มิติ ประกอบด้วย

1. Sustainable Management การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน

2. Socioeconomic Impacts ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ต้องประเมินเรื่องสังคมและความปลอดภัยควบคู่ไปด้วย

3. Cultural Impacts ผลกระทบทางวัฒนธรรม

4. Environmental Impacts ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่รวมทั้งการบริโภคทรัพยากร การลดมลพิษ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีววิทยา

ซึ่งทั้งหมดนี้มี 41 ข้อย่อยให้ดำเนินงานตาม และการที่จะทำให้ได้ครบทั้ง 41 ข้อนี้ทาง อพท.ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น กระทั่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ ผลักดัน “สุโขทัย” ให้ได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นกรณีศึกษาที่หลายพื้นที่ได้เห็น เป็นแรงบันดาลใจ

“รางวัลต่างๆ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับความยั่งยืนของชุมชน อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการลงมือทำงานจริง รางวัลเหล่านี้ถือเป็นหมุดหมาย หรือ Mile Stone มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงาน เพื่อปักธงให้ทั้งตัวทีมงานภายในองค์กรเราเอง รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่ อพท.ต้องเข้าไปขอความร่วมมือได้มีเกณฑ์การทำงานที่ชี้วัดได้ ถือเป็นจุดมุ่งหมายร่วมกัน กระทั่งเมื่อเราได้รางวัลอะไรบางอย่างมา มันก็เป็นกำลังใจเพื่อผลักดันไปสู่การทำงานในลำดับต่อๆ ไป ไม่อย่างนั้นคนทำงานก็ไม่รู้ว่า ต้องทำกันถึงเมื่อไหร่ ตรงไหน และเราก็มีการวางเป้าหมายเป็นขั้นๆ ไป เมื่อเราได้รางวัล หรือได้การการันตีอะไรบางอย่างมาแล้ว มันมีอะไรที่มากกว่านี้ไหม ถ้ามีเราก็ต้องกำหนดกรอบต่อไป แล้วร่วมกันทำให้ได้ อย่างตอนนี้เราได้เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกมาแล้ว ต่อไปก็คือ รางวัล Sustainable Destinations TOP 100 ถ้าเราวางเส้นทางไว้แบบนี้ หน่วยงานที่เข้ามาร่วมมือกับเรา ก็จะมีผลงานร่วมกันไปด้วย และท้ายที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์กับชุมชนเอง” ดร.ชูวิทย์ เล่าผ่านมุมมองของคนทำงาน

คาแร็กเตอร์เฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น

การปั้น “ความยั่งยืน” ที่มีครบถ้วนทั้ง 4 มิติ ยังต้องการ “ความแตกต่าง” เพื่อให้เรื่องราวน่าสนใจ เช่น ที่ “น่าน” จะชูเรื่องของหัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) ด้วยประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานของอารยธรรมล้านนา ทำให้น่าน มีผลงานด้านหัตถกรรม ทั้งเรื่องงานผ้าทอ ไปจนถึงงานประเภทปูนปั้น งานไม้ เครื่องเงิน งานจักสาน งานโลหะ งานกระดาษ และเครื่องปั้นดินเผา นอกจากนี้ บรรยากาศโดยรวมของน่าน ที่กระตุ้นให้ผู้คนยังคงใช้ของพื้นบ้านเหล่านั้นในชีวิตประจำวันจริงๆ อยู่ด้วย จึงเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้งานฝีมือต่างๆ ถูกถ่ายทอดออกมาให้พบเห็นและให้ความสำคัญมากขึ้น

หรือโปรเจ็กท์ที่ “สุพรรณบุรี” นำเอาวัฒนธรรมด้านดนตรีมาเป็นจุดขายหลัก ด้วยมีเพลงพื้นบ้าน “เพลงอีแซว” โดยมีศิลปิน สร้างชื่อ อย่างแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 ถึงแม้ทุกวันนี้ แม่จะมีอายุ 73 ปีแล้ว แต่ก็ยังเปิดบ้านฟูมฟักศิลปินรุ่นใหม่ๆ ให้สืบสานความสนุกและความคิดสร้างสรรค์แบบภาคกลางให้สืบต่อไป นอกจากนี้ สุพรรณบุรี ยังมีศิลปินเพลงป๊อป-ร็อค อย่างพี่ตูน บอดี้แสลม ซึ่งตัวตนของเขาคนนี้ สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวสุพรรณบุรีเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากผลงานเพลงที่ บอดี้แสลม ขึ้นแท่นวงร็อคอันดับหนึ่งของไทย มานานกว่าทศวรรษแล้ว และการจะชูเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกมาให้เด่นชัด ต้องอาศัยการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมโดยรอบของเมือง ให้ได้บรรยากาศที่อบอวลด้วยดนตรีไปด้วย

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะค้นหาวัฒนธรรมท้องถิ่น เข้าไปทำความเข้าใจจุดเด่น และผลักดันให้เรื่องราวเหล่านั้น ถูกเล่าขานออกมาให้นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ได้รับรู้ ตามบริบทของท้องถิ่น ถึงแม้จะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ถ้า หากว่าทำได้สำเร็จ การท่องเที่ยวของไทยจะทรงเสน่ห์ แต่ละพื้นที่มีเรื่องราวให้ค้นหาแตกต่างกัน โดยอิงกับวัฒนธรรม ที่สืบทอดมายาวนานของชุมชนนั้นๆ เอง ก่อให้เกิด เศรษฐกิจที่แข็งแรงจากฐานราก ผู้ประกอบการมีศักยภาพรับมือความเปลี่ยนแปลง จนเกิดรายได้และการใช้ชีวิตที่กระจายตัว ไม่ต้องมากระจุกตัวกันอยู่แค่ในเมืองใหญ่ๆ อีกต่อไป


แชร์ :

You may also like