ธุรกิจโรงแรมยังคงกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แม้ผ่านจุดต่ำสุดไตรมาส 2 มาแล้ว และเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในไตรมาส 3 ที่มาจากตลาดในประเทศ แต่เมื่อท่องเที่ยวไทยพึ่งรายได้ต่างชาติเป็นหลัก ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญตัวเลขขาดทุนสาหัสในปีนี้
กลุ่มดุสิตธานี รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ปี 2563 มีรายได้รวม 643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีนี้ (QoQ) ซึ่งมีรายได้รวม 424 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 51.65% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งมีรายได้รวม 1,621 ล้านบาท หรือลดลง 60.3%
แม้ผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้จะมีรายได้มากขึ้นกว่าไตรมาสก่อน แต่ก็ยังมีขาดทุนสุทธิ 343 ล้านบาท หรือลดลง 569.9% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 73 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่งผลให้ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มดุสิตธานี มีรายได้ 2,289 ล้านบาท ลดลง 47% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่งวด 9 เดือน ขาดทุนสุทธิ 878 ล้านบาท หรือ 1821.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 51 ล้านบาท
เห็นสัญญาณฟื้นไตรมาส 3
คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าวว่าหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 แบบเต็มไตรมาส ทำให้รายได้จากการขายและการบริการลดลง
แต่ไตรมาส 3 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทั้งธุรกิจโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักและรายได้เฉลี่ยต่อห้องเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจการศึกษามีแนวโน้มดีขึ้นจากการกลับมาเปิดการสอนของโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร และธุรกิจอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าลงทุนใน The Caterers ในประเทศเวียดนามตามแผนการขยายธุรกิจของบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง (Epicure Catering) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่กลุ่มดุสิตธานีเข้าไปถือหุ้น
“หากดูผลประกอบการเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) เราเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของธุรกิจชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยเฉพาะรายได้รวมที่กลับมาเพิ่มถึง 51.65% จากไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจากการที่ธุรกิจสามารถทยอยกลับมาให้บริการต่างๆ ได้อีกครั้ง”
นอกจากนี้ ผลจากการปรับแผนธุรกิจ ตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงมาตรการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ทำให้ตัวเลขขาดทุนไตรมาส 3 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า
ต้องยอมรับว่าแม้ผลประกอบการไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนแรกปีนี้ยังมีผลขาดทุนสุทธิ แต่ภาพรวมธุรกิจถือว่าน่าพอใจ เราได้ผ่านช่วงเวลายากลำบากที่สุดจากโควิด-19 มาแล้ว
เปิดโรงแรมใหม่ตามแผน-ฤดูท่องเที่ยวหนุนโค้งสุดท้ายฟื้น
สำหรับในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เชื่อว่าภาพรวมธุรกิจจะทยอยฟื้นตัว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ ขณะเดียวกันที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีได้นำเสนอกลยุทธ์การขายและแนวทางการทำตลาดใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ รวมถึงมีแผนที่จะเปิดโรงแรมใหม่ที่ประเทศสิงคโปร์ภายใต้สัญญารับจ้างบริหาร ซึ่งจะทำให้จำนวนโรงแรมที่เปิดในปีนี้ครบ 5 แห่งตามแผนที่วางไว้
ปัจจุบันได้เปิดไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมดุสิตดีทู ซัลวา โดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อเดือนมีนาคม โรงแรมดุสิต รีสอร์ท กวม ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน โรงแรมดุสิตธานี เวลเนส รีสอร์ท ที่เมืองซูโจว ประเทศจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม และโรงแรม อาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ขณะที่ธุรกิจการศึกษา มีแนวโน้มดีขึ้นจากจำนวนนักศึกษาใหม่เพิ่มขึ้นของวิทยาลัยดุสิตธานี และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในหลักสูตรของโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต
เช่นเดียวกับธุรกิจอาหาร ส่งสัญญาณบวกมากขึ้น โดยบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง เริ่มรับรู้รายได้เต็มจำนวนหลังจากโรงเรียนนานาชาติกลับมาเปิดดำเนินการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโรงเรียนนานาชาติที่เซ็นสัญญามาใหม่ เช่น King’s College , Verso, ICS Udon Thani และ Lycée Français International de Bangkok
นอกจากนี้ ธุรกิจอาหาร NRF ที่ดุสิตเข้าลงทุนก็สามารถทำ IPO ได้ประสบความสำเร็จ โดยมีราคาตลาดที่สูงกว่าราคาจองซื้ออย่างมาก รวมถึงธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “Kauai” (คา-วา-อิ) เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากที่เพิ่มจำนวนจุดขาย Grab & Go ทำให้ปัจจุบันมีจุดขายทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ วิสซ์ดอม 101 ซึ่งเป็นสาขาแรก สยามดิสคัฟเวอรี เอ็มไพร์ทาวเวอร์ และเอ็มควอเทียร์
ทางด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มีความคืบหน้าไปมาก โดยการก่อสร้างอยู่ระหว่างการดำเนินการโครงสร้างใต้ดิน (Sub-structure) และประมูลผู้รับเหมาหลัก และสามารถสรุปการขาย และทยอยลงนามในสัญญาไปแล้วบางส่วน
“แม้ว่ากลุ่มดุสิตธานีจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิดในปีนี้ แต่เราใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสในการใช้เวลาที่ทุกอย่างหยุดชะงักกลับมาจัดการปรับโครงสร้างองค์กร วางแผนการทำงาน วางแผนการตลาดให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 เพื่อการสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรและการทำงาน สุดท้ายก็จะสะท้อนผ่านความแข็งแกร่งของฐานะการเงินที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”