กูเกิล (Google), เทมาเส็ก (Temasek) และ Bain & Company เปิดงานวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ e-Conomy SEA ประจำปี 2020 กับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่มีประชากรรวมกัน 580 ล้านคน
สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้คือ การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2020 จะมีมูลค่าแตะ 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือโต 5% จากปี 2019
สิ่งที่งานวิจัยนี้พบอีกด้วยก็คือ ในปี 2020 ปีเดียว มีกลุ่มผู้ใช้งานใหม่ (งานวิจัยเรียกว่า Digital Service Consumers) เพิ่มเข้ามาในเศรษฐกิจดิจิทัลมากถึง 40 ล้านคน ส่งผลให้ตัวเลขผู้ใช้งานรวมในปีนี้ก้าวขึ้นไปถึง 400 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของประชากรใน 6 ประเทศ ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมาก
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจจากรายงาน e-Conomy SEA 2020 ฉบับนี้อีกหลายข้อ ประกอบด้วย
1. การเติบโตส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Non-Metro
Digital Service Consumers ที่เพิ่มขึ้นในประเทศอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พบว่ามาจากกลุ่ม Non-Metro มีเพียงไทยและเวียดนามที่กลุ่ม Metro ยังมีสัดส่วนมากกว่า
2. ธุรกิจได้ประโยชน์จากผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทย รายงาน e-Conomy SEA พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษา (Education), Food Delivery และ Lending คือ 3 ตลาดที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
3. โลกดิจิทัลในระหว่างเจอ Covid-19
รายงานพบว่าผู้บริโภคมีการใช้เวลากับโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยจากเดิมเคยใช้เวลาเฉลี่ยที่ 3.6 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในช่วงล็อกดาวน์ พบว่าค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ชั่วโมง และหลังช่วงล็อกดาวน์ก็ลดลงมาอยู่ที่ 4.2 ชั่วโมง
ส่วนสาเหตุที่ใช้งานดิจิทัลกันเพิ่มขึ้นนั้น หลัก ๆ น่าจะมาจากประโยชน์ที่ผู้ใช้งานได้รับ ได้แก่
- เป็นตัวช่วยให้เข้าถึงสินค้าหรือบริการที่จำเป็น
- ช่วยให้เข้าถึงสื่อการเรียนการสอน
- ช่วยด้านความบันเทิง และทำให้รู้สึกเหมือนยังคงเชื่อมต่อกับเพื่อนฝูงคนอื่น ๆ
- ช่วยด้านสุขภาพและความปลอดภัย
- ช่วยให้ SME อยู่รอด
นอกจากนี้ กูเกิลยังพบว่า 9 ใน 10 ของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะใช้บริการดิจิทัลเหล่านี้ต่อไปแม้ Covid-19 จะผ่านไปแล้วก็ตาม
4. ประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไรในภูมิภาค
สำหรับประเทศไทย มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ตามด้วยเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
โดยในทั้ง 6 ประเทศ สิงคโปร์ดูจะเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการเติบโตจะถูกทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ จนอาจกลายเป็นประเทศรั้งท้ายได้ในปี 2025
ส่วนประเทศที่จะขึ้นมาท้าทายอันดับ 2 ของไทยได้ในอนาคตก็คือเวียดนามนั่นเอง เพราะมีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะมีมูลค่าถึง 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยอยู่ที่ 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
5. ท่องเที่ยวออนไลน์ทรุด VS อีคอมเมิร์ซรุ่ง
ในบรรดาอุตสาหกรรมดิจิทัลที่การสำรวจชิ้นนี้ให้ความสนใจ พบว่า ธุรกิจ Online Travel ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยในปี 2020 มีการเติบโตลดลงถึง 58% จากเดิมเคยมีมูลค่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 ลดลงเหลือ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น
ส่วนในประเทศไทย ธุรกิจ Online Travel เคยมีมูลค่าอยู่ที่ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2019 ในปีนี้ก็ลดลงมาเหลือ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตลดลง 47%
ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์ในช่วงนี้จึงมักเป็นทริปแบบสั้น ๆ ที่ผู้บริโภคสามารถขับรถไปได้ด้วยตัวเอง
ตรงข้ามกับอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ จากในภาพพบว่าในปี 2020 เติบโตขึ้นถึง 63% ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมก้าวขึ้นไปแตะ 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีโอกาสที่จะโตไปจนถึง 172,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025 ด้วย (ภาพรวมของทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า 8 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่า พวกเขาจะซื้อของออนไลน์ต่อไป และพบว่าการสั่งซื้อเริ่มเน้นไปที่หมวดสินค้าจำเป็น อย่างเช่น สินค้าอุปโภคบริโภคด้วย
ส่วนในประเทศไทย คาดการณ์กันว่า มูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้จะอยู่ที่ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้น 81% จากปี 2019 และอาจโตไปได้ถึง 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 เลยทีเดียว ซึ่งการลงทุนตั้งศูนย์บริหารจัดการคลังสินค้าขนาดยักษ์ของอาลีบาบาใน EEC อาจมีส่วนช่วยสนับสนุนตัวเลขนี้ด้วยก็เป็นได้
6. Car-Hailing อาจฟุบไปถึงกลางปี 2021
เพราะนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของธุรกิจ Car-Hailing ยังไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวก จึงมีความเป็นไปได้ว่า อุตสาหกรรมการเรียกรถผ่านแอปจะฟุบยาวไปจนถึงกลางปีหน้า ซึ่งในระหว่างนี้เราจะได้เห็นความพยายามผลักดันธุรกิจ Food Delivery ให้มีกำไรมากขึ้นเพื่อมาชดเชยรายได้จาก Car-Hailing ที่ขาดหายไป ยกตัวอย่างเช่น GrabFood ที่ให้สัมภาษณ์กับ Brandbuffet ว่าพยายามสร้าง Cloud Kitchen (บริษัทใช้ชื่อว่า GrabKitchen) เพิ่มในเขตกรุงเทพฯ ให้ได้ 5 แห่งภายในสิ้นปีนี้
สิ่งที่รายงานฉบับนี้กล่าวไว้เพิ่มเติมก็คือ หลังจากนี้ จะเป็นเวลาที่ธุรกิจต้องโฟกัสเรื่องการสร้างผลตอบแทน และพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างแท้จริง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเติบโตมาได้ด้วยการนำเงินของนักลงทุนมาจัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมกันอย่างมโหฬาร เพราะนักลงทุนจะเริ่มลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น หรือก็คือไม่ได้มีเงินให้ใช้จ่ายแบบมือเติบอีกแล้วนั่นเอง
7. เกมออนไลน์ – หนังสตรีมมิ่ง โต 20%
เรียกว่าเป็นยุคทองของบรรดาเกมออนไลน์ และคอนเทนต์สตรีมมิ่งทั้งหนังและเพลงอย่างแท้จริง กับการเติบโตที่ไปต่อได้เรื่อย ๆ ไม่มีอะไรมาขัดขวาง โดยในประเทศไทย คาดการณ์ว่าตลาด Online Media จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้เลยทีเดียว
แต่ไม่เฉพาะเกม เพลง และหนังออนไลน์ ในแง่ของธุรกิจโฆษณาก็ได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน เพราะรายงานดังกล่าวพบว่า ธุรกิจ SME ที่ย้ายตัวเองขึ้นมาอยู่บนโลกดิจิทัล มีการควักเงินเพื่อซื้อโฆษณากันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งด้วย
8. บริการการเงินดิจิทัล (อาจ) โตเท่าตัวภายใน 5 ปี
ผู้ทำวิจัย e-Conomy SEA 2020 พบว่า ผู้คนในภูมิภาคนี้เริ่มมีความคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ทำให้มูลค่าการทำธุรกรรมทางการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มจะเติบโตต่อไปดังภาพ
อีกทั้งการที่คนขึ้นมาอยู่บนโลกดิจิทัลกันมาก ๆ นั้นก็ทำให้เกิด Digital Footprint ซึ่งสถาบันการเงินที่มีการเก็บข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอสินเชื่อแบบ Personalized ได้ดียิ่งขึ้น จึงอาจเรียกได้ว่า บริการทางการเงินบนโลกดิจิทัลหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปนั่นเอง
9. หนึ่งปีมียูนิคอร์นเพิ่มแค่ 1 ราย
จากรายงาน e-Conomy SEA 2019 ที่บอกไว้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มียูนิคอร์นแล้ว 11 ตัว ผ่านมาหนึ่งปี พบว่ามียูนิคอร์นเพิ่มมาแค่ตัวเดียว นั่นคือ VNPay จากเวียดนาม
ส่วนสถานการณ์ด้านเงินลงทุนที่ไหลเข้าภูมิภาคนั้นพบว่า เริ่มชะลอตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงปี 2018 และการจะลงทุนในอนาคตก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก เว้นแต่ในธุรกิจที่เห็นการเติบโตจริง ๆ เช่น กรณีที่ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ลงทุนใน Tokopedia อีมาร์เก็ตเพลสสัญชาติอินโดนีเซีย เมื่อไม่นานมานี้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ยูนิคอร์นทั้ง 12 ชีวิตอย่าง Bigo, Bukalapak, Gojek, Grab, Lazada, Razer, OVO, Sea Group, Traveloka, Tokopedia, VNG และ VNPay ต้องกอดคอกันให้เหนียวแน่นเข้าไว้
10. EdTech และ HealthTech สองตลาดที่ต้องจับตา
ปิดท้ายรายงานฉบับนี้กับสองตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง Pandemic นั่นคือ EdTech และ HealthTech
โดยข้อมูลจาก AppAnnie พบว่า นักเรียนได้ปรับตัวเองไปสู่การเรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้เกิดการเติบโตอย่างมากในธุรกิจนี้ แถม 70% ยังบอกว่าพอใจการเรียนผ่านแพลตฟอร์มเสียด้วย และมีถึง 33% ที่บอกว่าจะใช้ EdTech เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการศึกษาหาความรู้ในอนาคตต่อไป
ที่สำคัญ แอปพลิเคชันอย่าง Google classroom เป็น 1 ใน Top 5 edtech app ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มียอดการติดตั้งเพิ่มขึ้
สิ่งที่รายงานดังกล่าวฝากเอาไว้ให้คิดก่อนจากกันคือเรื่องของทรัพยากรบุคคล ที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญ และเร่งสร้างคนขึ้นมาให้เพียงพอที่จะรับมือกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่เช่นนั้นแล้ว การเติบโตที่กล่าวมาอาจต้องฝากไว้ในมือของสตาร์ทอัพจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินที่จะไหลออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยนั่นเอง