กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลชี้วิกฤติโควิดทำพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคเปลี่ยน เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรแตะ 196,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 58,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 133,000 ล้านบาท หมวดช้อปปิ้งออนไลน์ สินค้าตกแต่งบ้าน บริการสั่งอาหาร สตรีมมิ่งและบันเทิงออนไลน์เติบโตสูง, หมวดโรงแรมในประเทศ ร้านอาหาร ห้าง แฟชั่น ความงามและเครื่องสำอาง เริ่มกระเตื้องขึ้น, ส่วนหมวดประกันภัยและหมวดซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยมียอดใช้จ่ายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เผยพร้อมปรับตัวรับสภาพการดำเนินธุรกิจที่ผันผวน เน้นการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม ชูดิจิทัล นวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน สร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า คาด ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาสสุดท้ายเติบโตกว่า 20% เทียบกับในไตรมาสที่ 3
ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า กล่าวว่า “ข้อมูลจากสายงานยุทธศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึกของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อในเครือของบริษัทตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกันยายน 2563 ชี้ให้เห็นว่า แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังไม่กลับมาในระดับเทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น นอกจากจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกวัยเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายที่ได้จากบริการออนไลน์ แม้คลายล็อคดาวน์แล้ว บริการเหล่านี้ก็ยังเป็นที่นิยม เช่น หมวดช้อปออนไลน์, สินค้าตกแต่งบ้าน, บริการสั่งอาหาร, สตรีมมิ่งและบันเทิงออนไลน์ ขณะที่บางหมวด หลังคลายล็อคดาวน์ ก็เริ่มมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น หมวดโรงแรมในประเทศ, หมวดร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, ความงามและเครื่องสำอาง ทั้งนี้ หมวดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยยังมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ หมวดประกันภัย และซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ยังคงเป็นหมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ”
เผยพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเครดิต จากข้อมูลของสายงานยุทธศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก กรุงศรี คอนซูมเมอร์
แพลทฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น – ผู้บริโภคทุกวัยคุ้นชินกับการใช้จ่ายและใช้บริการออนไลน์
- ยอดใช้จ่ายในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ ยังคงเติบโตต่อเนื่องแต่เริ่มมีแนวโน้มช้าลง โดยตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ยอดใช้จ่ายออนไลน์เติบโตกว่าปีที่แล้วกว่า 150% แต่หลังเดือนพฤษภาคม เติบโตเพียง 75% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลูกค้าทุกวัยยังคงมีแนวโน้มใช้จ่ายในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น
- หมวดสินค้าตกแต่งบ้าน ช่วงล็อคดาวน์ ลูกค้าซื้อสินค้าหมวดสินค้าตกแต่งบ้านผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว และหลังคลายล็อค ยอดขายหน้าร้านก็เพิ่มสูงขึ้นมาก แสดงถึงความสนใจในการตกแต่งบ้านที่เพิ่มขึ้น
- ยอดใช้จ่ายในหมวดบริการสั่งอาหาร (Food Delivery) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เติบโตขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 3 เท่าตัว
- หมวดบริการสตรีมมิ่งและความบันเทิงออนไลน์ เติบโตสูง แม้หลังช่วงคลายล็อคดาวน์ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ขณะที่หมวดความบันเทิง เช่น โรงหนัง ยังคงซบเซา แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้บริการสตรีมมิ่งและความบันเทิงออนไลน์มากขึ้น
หมวดโรงแรมในประเทศ, ร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, ความงามและเครื่องสำอาง มีสัญญาณที่ดีขึ้นหลังคลายล็อคดาวน์
- การท่องเที่ยวในประเทศ ยอดจองโรงแรมในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดว่า เป็นผลจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยอดจองตั๋วเครื่องบินและยอดใช้จ่ายในหมวดตัวแทนท่องเที่ยว โดยรวมส่วนใหญ่ยังซบเซา ยกเว้นตัวแทนท่องเที่ยวที่เป็นพันธมิตรหลักในโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐ และยอดจองตรงกับโรงแรม ซึ่งมียอดสูงขึ้น นอกจากนี้ ยอดใช้จ่ายในหมวดบริการเช่ารถยังเติบโตขึ้น แสดงถึงความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวแบบส่วนตัวมากขึ้น
- คนเริ่มกลับมารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น
แม้ว่ายอดใช้จ่ายในหมวดร้านอาหารจะยังไม่กลับมาในระดับที่เทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ยอด ใช้จ่ายในแต่ละครั้ง สูงขึ้นกว่าช่วงล็อคดาวน์ถึง 64% นอกจากนี้ ยอดใช้จ่ายในหมวดนี้ในช่วงหลัง 2 ทุ่มก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะในคืนวันศุกร์ แสดงให้เห็นว่า คนเริ่มกลับมารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น
- หลังคลายล็อคดาวน์ คนเริ่มกลับเข้าห้าง ในเดือนสิงหาคม 2563 ยอดใช้จ่ายในหมวดห้างสรรพสินค้าสูงกว่ายอดในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 3% ก่อนจะลดลงในช่วงเดือนกันยายน
- ยอดใช้จ่ายสินค้าแฟชั่น เริ่มกลับมากระเตื้องขึ้น ที่น่าสนใจคือ ยอดใช้จ่ายในการซื้อสินค้าแบรนด์หรูเติบโตสูงกว่าแบรนด์ระดับกลาง แสดงว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังคงมีกำลังซื้อ และใช้จ่ายต่อเนื่อง
- หมวดความงามและเครื่องสำอาง กลับมากระเตื้องขึ้นหลังคลายล็อคดาวน์ โดยยอดใช้จ่ายในหมวดสินค้าประเภทสกินแคร์ เติบโตสูงกว่าสินค้าประเภทเครื่องสำอาง
หมวดประกันภัย และหมวดซุปเปอร์มาร์เก็ตยังคงเป็นหมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงที่สุด
- หมวดประกันภัย และหมวดซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นหมวดใช้จ่ายพื้นฐาน เป็นหมวดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยยังคงมียอดใช้จ่ายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นหมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่ง และสอง ตามลำดับ
“ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงบรรยากาศการจับจ่ายที่เริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเทียบกับช่วงล็อคดาวน์ โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 196,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 58,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 133,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี สภาวะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันค่อนข้างผันผวน บริษัทจึงเตรียมปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเน้นการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยนำเอาดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยกระดับคุณภาพการบริการ เช่น บริการส่งใบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-billing), การใช้ระบบดิจิทัล เวิร์คโฟลว์ และการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการทำงานที่มีการทำซ้ำ (Robotic Process Automation-RPA) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ, รวมถึง บริการใหม่ๆ ในแอปพลิเคชั่นยูชูส (UCHOOSE) เช่น U Manage บริการที่เปิดให้สมาชิกบัตรสามารถดำเนินการผ่านแอปด้วยตนเอง เช่น ตรวจสอบยอดชำระของบัตรเครดิตและสินเชื่อ, ขอ e-statement, บริการจ่ายบิลผ่านแอป KMA และ SCB, U Product บริการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินและประกันภัย, UMall บริการนำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าหรือบริการจากพันธมิตรของบริษัท, และ UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอปแบบ Digital Lending ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 4 นี้ โดยบริษัทคาดว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตกว่า 20% เทียบกับในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าตลอดทั้งปี 2563 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 280,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 83,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 144,000 ล้านบาท” นางสาวณญาณีกล่าวสรุป