ในขณะที่หลายธุรกิจเบรกการลงทุนเพราะเจ็บหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พ่นพิษใส่รุนแรงกับทุกธุรกิจและชีวิตคนแบบไม่เลือกหน้า ไม่เว้นแม้แต่ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) ที่ทั้งกำลังซื้อหด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ดูเหมือนว่า “เนสท์เล่” จะไม่หวั่น พร้อมเดินหน้าลุยขยายการลงทุนเพิ่ม 4,500 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนสท์เล่มองเห็นอะไร ทำไมถึงกล้าทุ่มหนักท่ามกลางสภาพตลาดแบบนี้ ไปฟังคำตอบจาก คุณวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า พร้อมการปรับตัวและกลยุทธ์การลุยตลาดของเนสท์เล่จากนี้ไป
เหตุผลเนสท์เล่ทุ่มหนัก
“แม้ปีนี้จะเผชิญกับความท้าทาย แต่เรายังเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดไทย โดยการลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนสำคัญที่จะทำให้เราเข้าถึงผู้บริโภคและสร้างการเติบโตให้เนสท์เล่ในระยะยาว เพราะเกิดมาจากการวิจัยทางการตลาด พฤติกรรมความต้องการ และเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป”
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เนสท์เล่กล้าทุ่มเม็ดเงินลงทุนอย่างหนักในเวลานี้ โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปที่เนสท์เล่พบจากการทำสำรวจ มีทั้งหมด 5 เทรนด์คือ 1.ต้องการเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพและช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน 2.ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการมองหาของกินเล่นเติมความสุขระหว่างวัน 3.ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของสินค้ามากขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจ 4.ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และ 5.ช่องทางอีคอมเมิร์ซและฟู้ดเดลิเวอรี่มีการเติบโตสูง
ซึ่งจาก Insight ผู้บริโภคเหล่านี้ เนสท์เล่จึงนำมาต่อยอดเป็นกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจของเนสท์เล่ โดยใช้เม็ดเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท ขยายโรงงาน 3 แห่ง คือ โรงงานอมตะ โรงงานบางชัน และโรงงานยูเอชที นวนคร 7 เพื่อขยายตลาดใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์นั่นคือ อาหารสัตว์เลี้ยง, นมยูเอชที และไอศกรีม
ความสำคัญของ 3 ตลาดกับเนสท์เล่
แล้วทำไมต้องเป็น 3 ตลาดนี้ คุณวิกเตอร์ อธิบายอย่างน่าสนใจว่า อาหารสัตว์เลี้ยงในไทยเป็นตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แม้หลายครอบครัวจะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่คนยังยอมจ่ายเพื่อซื้ออาหารให้สัตว์เลี้ยง ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงปีนี้มีการเติบโต 9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากปัจจุบันคนจำนวนมากหันมาเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงามากขึ้น อีกทั้งคนรุ่นใหม่แต่งงานข้า มีลูกน้อย และอยู่คนเดียวมากขึ้น ประกอบกับในช่วงโควิด-19 ระบาด คนใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น แถมยังสอดคล้องกับเทรนด์โลกที่พบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงยินดีที่จ่ายมากขึ้นเพื่อซื้ออาหารสัตว์ระดับพรีเมี่ยม ทำให้เนสท์เล่ใช้เม็ดเงิน 2,550 ล้านบาท สร้างโรงงานแห่งใหม่ที่อมตะนครเพื่อขยายกำลังผลิต และเสริมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของเนสท์เล่ให้แข็งแกร่งขึ้น
ส่วนตลาดไอศกรีม แม้ในปัจจุบันธุรกิจกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนรายได้เพียง 10% ของเนสท์เล่ แต่ยอดขายไอศกรีมของเนสท์เล่มีการเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการนำเสนอสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด เช่น ไอศกรีมโมจิ และไอศกรีมคิทแคท ทั้งยังบุกเบิกนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ไอศกรีมที่ทำจากกระดาษ เมื่อนำมาผนวกกับเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้รางวัลกับตัวเองด้วยการมองหาของกินเล่นเพื่อช่วยเติมเต็มความสุขระหว่างวัน เนสท์เล่จึงลงทุน 440 ล้านบาท เพื่อขยายไลน์การผลิตที่โรงงานบางชันเพื่อพัฒนาไอศกรีมให้มีความหลากหลายออกมาสู่ตลาดมากขึ้น
ขณะที่ตลาดนมยูเอชที คุณวิกเตอร์ บอกว่า จะเป็น 1 ในผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างการเติบโตให้เนสท์เล่ เพราะจากผลวิจัยของนีลเส็น (Nielsen) พบว่า เครื่องดื่มนมวัวยูเอชทีและเครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ยูเอชที จะมีการเติบโตถึง 3% ใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเติบโตสูงสุดในกลุ่มเครื่องดื่มยูเอชที ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและการพกพาสะดวก จึงเป็นที่มาให้เนสท์เล่นเดินหน้าสร้างโรงงานยูเอชทีแห่งใหม่ที่นวนครด้วยงบลงทุน 1,530 บาท
“อาจต้องดูเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงโควิด-19 สินค้าสำหรับทานในบ้าน เช่นกาแฟ เป็นสินค้าที่มีการเติบโตสูง แต่หลังโควิด สินค้าที่ได้รับความสะดวกสบายจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง รวมถึงสินค้าที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและคุ้มราคา นับเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น” คุณวิกเตอร์ บอกถึงแนวโน้มการเติบโตของสินค้าในอนาคคต
รุกอีคอมเมิร์ซ นำดาต้าวิเคราะห์พัฒนาสินค้าให้ตรงใจ
นอกจากการขยายตลาดใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์แล้ว เนสท์เล่ยังวางแผนขยายช่องทางอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น เพราะพบว่าก่อนหน้าจะเกิดโควิด-19 ประเทศไทยคาดการณ์อัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 30% แต่ช่วงที่เกิดโควิด-19 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 100% เนื่องจากผู้บริโภคหันมาช้อปของใช้ในบ้านและสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2563 ยอดขายออนไลน์ของเนสท์เล่โตกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า
ดังนั้น เพื่อตอบรับเทรนด์ดิจิทัลที่มาแรง เนสท์เล่ จึงตั้งทีมอีบิสซิเนสขึ้นตั้งแต่ปี 2561 พร้อมลงทุนทั้งด้านระบบและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีทีมงานเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า และในปีนี้ได้จัดงบลงทุนในอีบิสซิเนส 50 ล้านบาท เพื่อสร้างเทคโนโลยีด้านการตลาด และระบบจัดการข้อมูล เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรม และนำข้อมูลมาพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
โควิดกระทบเนสท์เล่ แต่ยอดขายรวมยังพอใจ
ส่วนผลประกอบการของเนสท์เล่ปีนี้เป็นอย่างไร คุณวิกเตอร์ ยอมรับว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเนสท์เล่เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ แต่เนื่องจากบริษัทมีผลิตภัณฑ์หลายกลุ่ม บางกลุ่มก็ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่บริโภคนอกบ้าน เช่น น้ำดื่ม ขนม และไอศกกรีม แต่ผลิตภัณฑ์ที่บริโภคในครัวเรือน เช่น กาแฟ นม และเครื่องปรุงรส ยังเติบโตได้ดี เพราะผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้น
“ผลประกอบการโดยรวมยังน่าพอใจ แม้บาง Category จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังมีกลุ่มสินค้าที่ยังเติบโตได้อยู่ โดยคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโต 1 digit”
พร้อมกับให้ความเห็นว่า ความท้าทายของการทำธุรกิจจากนี้ไป นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว การปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ยังสำคัญมาก เพราะโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนสท์เล่ มีการต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 กะเพื่อไม่ให้ทั้ง 3 กะไม่เจอกัน รวมทั้งต้องเสาะหาวัตถุดิบมาผลิตสินค้ากลุ่มที่มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และดูแลความปลอดภัยของพนักงานขาย