ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่า New Normal หรือ ความปกติรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยปฏิบัติกันมาสู่การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้ว New Normal เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งที่ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือสถานการณ์วิกฤติอย่างกระทันหันจนยากจะรับมือ พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปจากวิถีเดิมๆ ทว่าสิ่งที่ตามมาหลังการเปลี่ยนแปลง นอกจากวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ทุกการเปลี่ยนแปลงยังมี “ต้นทุน” เพิ่มขึ้น ซึ่งแบรนด์และนักการตลาดไม่ควรมองข้าม ทั้งยังต้องสามารถบริหารจัดการต้นทุนเหล่านี้ให้เหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน
New Normal เกิดมาทุกยุคสมัย
เมื่อพูดถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนที่เปลี่ยนไป หลายคนอาจสงสัยว่าคืออะไร แล้วมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร วันนี้เราจะพาไปรู้จักต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้มากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบมากมาย รวมถึงทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากเดิม จากข้อมูล bangkokbanksme.com ระบุว่า หลายๆ ครั้งที่ประเทศหนึ่ง หรือทั้งโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคการผลิต ซับพลายเชน จนส่งผลต่อภาพรวมการค้าโลก นำไปสู่ผลกระทบด้านการเงินและตลาดทุน จนเกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ขึ้น ในภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า New Normal
โดยหากย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่าหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่ส่งผลรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศ สถาบันการเงินและธุรกิจน้อยใหญ่ทั้งระบบต้องปิดตัวลงอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท กระทั่งเกิดสโลแกน “ไทยช่วยไทย กินของไทย ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย ร่วมใจประหยัด” เพื่อให้ผู้คนกลับมารัดเข็มขัดกันอย่างหนัก ซึ่งถือเป็น New Normal ของสังคมในยุคนั้น
วิกฤติซับไพรม์ หรือ Hamburger Crisis ปี 2551 ก็ไม่ต่างกัน ผลจากภาวะฟองสบู่แตกของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาบานปลายไปสู่วิกฤติสินเชื่อทั่วโลก แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศผู้บริโภคขนาดใหญ่ของโลกเกิดปัญหา กำลังซื้อหด เศรษฐกิจชะลอตัว ลุกลามสู่ยุโรปและทั่วโลก ทำให้หลายธุรกิจต่างประสบปัญหาและต้องปรับตัว ซึ่งในตอนนั้นเศรษฐกิจจีนเริ่มขยายตัวมาตลอดและกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของสหรัฐฯ ที่สำคัญตลาดจีนเริ่มทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ทั่วโลกต่างใช้ซัพพลายเชนจากจีน จึงนับเป็น New Normal ครั้งสำคัญ
แม้แต่ในปี 2554 ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ก็เปลี่ยนทุกพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างคาดไม่ถึง ตลอดจนแนวโน้มต่างๆ ที่คาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นหลังทุกอย่างคลี่คลาย เช่น การสร้างบ้าน ทำเลบ้าน สาธารณูปโภคภายในบ้านที่ต้องยกสูงป้องกันน้ำท่วม การกักตุนของกินของใช้ สินค้าบางชนิดขาดตลาด เกิดเทรนด์การใส่รองเท้าบูทกันน้ำไปทำงาน หรือออกนอกบ้านแทนการใส่รองเท้าหนังหรือผ้าใบ เรือเริ่มขายดีกว่ารถ และอีกหลายๆ อย่าง ที่แม้เราจะไม่ได้เรียกตอนนั้นว่า New Normal แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นั่นก็ไม่ใช่ความปกติแบบเดิมๆ ที่เราเคยเป็น
สำหรับสถานการณ์ของโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 6 ล้านคน เสียชีวิตไปเกือบ 4 แสนคน วิกฤติครั้งนี้สร้างความเสียหายไปในทุกอณูของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน ปัจจุบันยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการคิดค้นกว่า 18 เดือนหลังจากนี้ จึงจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างแท้จริง สำหรับประเทศไทยถือว่ามีการจัดการโรคที่ดีและประชาชนตระหนักรู้ จนสามารถลดการแพร่เชื้อได้มากจนบางวันแทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่
ทว่าการการตระหนักรู้ดังกล่าว ได้เปลี่ยนบริบทสังคมเดิมๆ ไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน มาตรการสังคมที่เรียกว่า Social Distance หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม งดการวมกลุ่ม ลดการแพร่เชื้อ การเช็กอินผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” การต้องใส่แมสก์เมื่ออกไปนอกบ้าน ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือใส่ใจสุขภาพอนามัยมากขึ้น เหล่านี้คือ ความปกติแบบใหม่ ที่เราไม่คุ้นเคย แต่กลายมาเป็นมาตรฐานปกติใหม่ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม
“ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้นจาก New Normal
โดยปกติคนทำธุรกิจจะเข้าใจดีว่าการทำธุรกิจมีต้นทุนที่ต้องจ่าย 2 แบบคือ ต้นทุนคงที่ ซึ่งเป็นราคาที่ต้องจ่ายคงที่ไม่ว่าธุรกิจจะผลิตสินค้าหรือไม่ผลิต กำไรหรือขาดทุน เช่น ค่าเช่าหรือเงินเดือนพนักงาน และต้นทุนแฝง เป็นราคาที่ต้องจ่ายไปกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด สินค้าคงคลัง รวมถึงค่าเดินทาง
ขณะที่การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่ในมุมการทำธุรกิจ ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง มีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะแบรนด์ต้องปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป โดย bankokbank.com ได้ยกตัวอย่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจาก New Normal ในยุคโควิด-19 เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
New Normal ด้านสุขอนามัย :
คนส่วนใหญ่จะหันมาใส่ใจการดูแลสุขอนามัยมากขึ้น มีความตระหนักในเรื่องเชื้อโรค และการแพร่เชื้อโรคระบาด รวมถึงผู้คนให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่เฉพาะประชาชนทั่วไปที่ต้องจ่ายไปกับต้นทุนชีวิตด้านสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร โรงหนัง สถานออกกำลังกาย โรงเรียนสอนพิเศษ ออฟฟิศ สถานที่ราชการ เรียกได้ว่าสถานที่ต่างๆ ที่มีคนไปมาเข้าออกประจำ ทุกที่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายประจำ คือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย และอาจรวมถึงเครื่องมือวัดอุณหภูมิ สำหรับทุกธุรกิจ นี่คือต้นทุน
New Normal ด้านอาหาร :
ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ทุกคนอยู่บ้านและไม่ออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็น การสั่งอาหารออนไลน์ และบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมอย่างสูง เรียกว่าโตเพราะโควิดเลยก็ได้ โดยเฉพาะผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสั่งอาหารและจัดส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มซึ่งเก็บค่า GP (Gross Profit) หรือทีเราเรียกว่า ส่วนแบ่งจากยอดขาย ที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มสั่งอาหารสูงถึง 25-30% ซึ่งทำให้ต้นทุนอาหารต่อหน่วยสูงขึ้น แน่นอนว่าถ้าร้านอาหารยอมแบกรับต้นทุนนี้ นั่นเท่ากับยอมรับรายได้ต่อหน่วยที่ลดลง อาจมีข้อดีคือสามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคาแข่งขันได้ ซึ่งอาจจะทำให้ยอดขายต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ชดเชยส่วนแบ่งที่โดนหักไป ในทางกลับกัน หากจะผลักภาระนี้ไปที่ผู้บริโภคบางส่วนหรือทั้งหมด ผลอาจเกิดได้หลายแง่มุม แม้จะไม่การันตีว่ายอดขายจะลดลง แต่หากมองจากแนวโน้มที่ทุกคนในช่วงนี้พยายามลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น อันเกิดจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ และอนาคต ก็พอคาดเดาได้ไม่ยากว่ายอดขายอาจจะลดลงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าร้านดังกล่าว มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อชดเชยราคาที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาว่าจะเลือกอย่างไร เพราะต้องไม่ลืมว่า สำหรับร้านอาหาร ต้นทุนภายในร้านนับเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาประกอบด้วย เพราะมาตรการ Social Distance ทุกร้านต่างต้องจัดโต๊ะ เก้าอี้ ให้เว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร และการใช้ฉากกั้น นั่นย่อมหมายถึงจำนวนที่นั่งที่สามารถรองรับลูกค้าได้ลดลง นับเป็นต้นทุนที่หายไปเช่นกัน ตรงนี้ทางร้านอาจส่งเสริมโปรโมชั่นให้ส่วนลดต่างๆ สำหรับลูกค้าที่ซื้อกลับหรือ Take Away เพื่อจูงใจลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
New Normal ด้านการทำงาน :
รูปแบบการทำงานที่ออฟฟิศจะถูกลดบทบาทลง ที่ผ่านมาหลายธุรกิจได้ปรับตัวให้พนักงานสมัครใจร่วมโครงการ Work from home ไปจนถึงสิ้นปี ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ และลดรายจ่ายภายในออฟฟิศ เพื่อพยุงให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงที่สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหา สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งสำคัญในเกิด New Normal ด้านการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น การทำงานแบบยืดหยุ่นสามารถนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ รวมทั้งทำให้ธุรกิจต่างๆ มีการนำเทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการเข้ามาช่วยในการทำงาน และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ สำหรับการนำเทคโนโลยี และระบบบริหารจัดการเข้ามาช่วย ในการขยายธุรกิจนั้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้บุคลากรในด้านต่างๆ ลดจำนวนลง
แต่อย่าลืมไปว่า ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไม่ได้เกิดจากการจ้างงานบุคลากร หรือ รายจ่ายในออฟฟิศค่าเช่าเพียงส่วนเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่เป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย รวมทั้งต้นทุนทางเทคโนโลยี ที่จะมาช่วยให้การทำงานรูปแบบใหม่ มีระบบบริหารจัดการ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถหลากหลายในการรับผิดชอบหน้าที่ได้มากขึ้น ภายใต้การทำงานแบบ New Normal ต้นทุนด้านเทคโนโลยีจะเป็นต้นทุนใหม่และสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของทุกองค์กร อาทิ การลงทุนในเทคโนโลยี Cloud Computing จะกลายเป็นต้นทุนหลักที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย
New Normal ด้านออนไลน์ :
เทรนด์ธุรกิจจาก “ออฟไลน์” สู่ “ออนไลน์” คือกลยุทธ์หลักที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องใช้ ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นชินกับธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น การใช้เทคโนโลยีการก้าวกระโดดเร็วขึ้นอันสืบเนื่องจากพฤติกรรมช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจต้องกันไปสู่การตลาดออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ เทรนด์เหล่านี้นับเป็นความท้าทายมาก เพราะออนไลน์จะเป็นทะเลเดือดที่ทุกธุรกิจต่างทุ่มเม็ดเงินไปกับการตลาด การโฆษณา และการสร้างคอนเทนต์เพื่อให้โดดเด่นกว่าใครในโลกออนไลน์ ซึ่งนี่คือต้นทุนเช่นกัน
ที่สำคัญการลงทุนมุ่งหน้าสู่ออนไลน์ต้องใช้เงินจำนวนมากพอสมควร หากต้องการสร้างการสื่อสารที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการให้แบรนด์เป็นที่จดจำ สร้างความน่าเชื่อถือ และต่อยอดสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเป็นไปได้ว่า New Normal สำหรับโลกออนไลน์จะเป็นเกมที่ธุรกิจแข่งขันกันเดือด ที่สำคัญราคาที่ต้องจ่ายอาจสูงขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้
“ตั้งสติ” รับมือ New Normal
bangkokbanksme.com ยังระบุว่า ก่อนที่แบรนด์จะเดินหน้าส่งเสริมการตลาด ลงทุนเพิ่มเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือเลือกรัดเข็มขัด ควรวิเคราะห์ให้รอบด้าน เพราะทุกวันนี้ ทุกธุรกิจต่างจมอยู่กับกองข้อมูลที่เรียกว่า New Normal แต่ไม่รู้ว่าแท้จริงเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหรือเสียประโยชน์กันแน่ เพราะจริงอยู่ในข้อที่ว่าทุอย่างไม่มีอะไรเหมือนเดิม แต่เป็นความจริงเช่นกันในข้อที่ว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอน และ ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป
ดังนั้น การพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในช่วงที่ความเปลี่ยนแปลงยังไม่ชัดเจน คือการติดตามข่าวคราว ศึกษาข้อมูล และปรับตัว แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจครั้งใหญ่ลงไปเพียงเพราะความวูบวาบของข้อมูล ที่อาจเป็นเพียงผลกระทบในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่อาจหยั่งรู้อนาคตว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วกว่า 5G จะปรับไปสู่ทิศทางอย่างไรต่อไป เพราะในการทำธุรกิจความเปลี่ยนแปลงคือต้นทุนที่ต้องจ่าย จะ New Normal หรือ Next Normal ทุกอย่างย่อมมีราคา ดังนั้นเมื่อมีเหตุผลต้องจ่ายจริงๆ ก็ต้องจ่ายสำหรับสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand