เมื่อเอ่ยถึง “ร้านอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่น” หนึ่งในชื่อที่คนไทยส่วนใหญ่นึกถึง และรู้จักคือ “โออิชิ” เพราะด้วยความที่อยู่ในตลาดมายาวนาน และถือเป็นผู้ขยายตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยให้กว้างขึ้น กระทั่งทุกวันนี้ “อาหารญี่ปุ่น” ขยายไปในระดับ Mass Market ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภูมิทัศน์ของธุรกิจร้านอาหาร พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในวันนี้ เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แตกต่าง และเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ธุรกิจอาหารต้อง Rethink เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ที่หลากหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ “กลุ่มธุรกิจอาหารโออิชิ กรุ๊ป” จึงต้องปรับตัวรอบด้าน หนึ่งในนั้นคือ การเสริมความแข็งแกร่งของ Brand Portfolio กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ให้ครอบคลุมทั้งร้านอาหารบริการด่วน (QSR : Quick Service Restaurant), ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining), ร้านอาหารระดับบน (Fine-Dining) และบริการ Delivery ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ Mass, Premium Mass ไปจนถึง Premium
สำรวจ 12 แบรนด์ร้านอาหารในเครือโออิชิ มีอะไรบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร ?!
กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น
Premium ราคา 1,000 บาทขึ้นไป
- ซาคาเอะ (SAKAE): ชาบู-ชาบู และสุกี้ญี่ปุ่น ปัจจุบันมี 1 สาขา
- โฮว ยู (HOU YUU): อาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับขนานแท้ (Authentic Japanese) ปัจจุบันมี 2 สาขา
- โออิชิ แกรนด์ (Oishi Grand): บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น ระดับพรีเมียม ปัจจุบันมี 1 สาขา
Premium Mass ราคา 700 บาทขึ้นไป
- โออิชิ อีทเทอเรียม (Oishi Eaterium) มี 9 สาขา
- โออิชิ บุฟเฟต์ (Oishi Buffet) มี 10 สาขา
ทั้งนี้โออิชิ อีทเทอเรียม กับโออิชิ บุฟเฟต์ แตกต่างกันที่คอนเซ็ปต์แบรนด์ ราคา และเมนูอาหารของโออิชิ อีทเทอเรียม มีราคาสูงกว่า และรายการอาหารหลากหลายกว่า
- นิกุยะ (Nikuya by Oishi) เป็นยากินิกุตำรับโอซาก้า ปัจจุบันมี 11 สาขา
Mass ราคาไม่เกิน 500 บาท
- ชาบูชิ (Shabushi By Oishi) ปัจจุบันมี 158 สาขา
- โออิชิ ราเมน (Oishi Ramen) เมนูเส้น ปัจจุบันมี 53 สาขา
- คาคาชิ (Kakashi by Oishi) เมนูข้าวหน้าสไตล์ญี่ปุ่น เปิดให้บริการ 22 สาขา
ทั้งนี้โออิชิ ราเมน และ คาคาชิ จัดอยู่ในกลุ่มร้านอาหารบริการด่วนสไตล์ญี่ปุ่น (QSR) ให้บริการเมนูอาหารจานเดี่ยว ตอบโจทย์ความรวดเร็ว และความสะดวก
กลุ่มร้านขนมญี่ปุ่น
- โอโยกิ (OYOKI) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ และเครื่องดื่ม มี 2 สาขา
บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (Home Delivery)
- โออิชิ เดลิเวอรี่ (Oishi Delivery) ผ่านเบอร์ 1773 สั่งออนไลน์เว็บไซต์ oishidelivery.com
- โออิชิ คิทเช่น (Oishi Kitchen) เป็นโมเดล Cloud Kitchen รวมร้านอาหารในเครือโออิชิ เพื่อให้บริการลูกค้าสั่งผ่านแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่
“Spin-off Brands” สร้างแบรนด์ใหม่ เพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภค
ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารรุนแรงมากขึ้น ผู้บริโภคมีหลายกลุ่ม หลายเซ็กเมนต์ มีทางเลือกมากมาย ขณะเดียวกันโลเกชั่นของร้านมีหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในศูนย์การค้า หรือค้าปลีกสมัยใหม่เสมอไป
เพราะฉะนั้นเพื่อเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการรับประทานของผู้บริโภค ขณะเดียวกันสามารถนำแบรนด์ใน Portfolio ไป Match กับโลเกชั่นที่แตกต่างกันได้ และขยายการเติบโตของ Portfolio กลุ่มธุรกิจร้านอาหารโออิชิ กรุ๊ป จึงได้ใช้กลยุทธ์ “Spin-off Brands”
นั่นคือ การสร้างแบรนด์ใหม่ ทั้งร้านอาหาร และร้านขนมหวาน เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย และเข้าถึงผู้บริโภคหลายกลุ่ม เจาะเซ็กเมนต์ใหม่ และจับกลุ่มเป้าหมายใหม่
จาก Brand Portfolio ทั้ง 12 แบรนด์ ภายใต้กลยุทธ์ Spin-off ปัจจุบันมี 3 แบรนด์
– โฮว ยู (HOU YUU) แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น ระดับพรีเมียม ปัจจุบันมี 2 สาขา
– โอโยกิ (OYOKI) แบรนด์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ปัจจุบันมี 2 สาขา
– ซาคาเอะ (SAKAE) แบรนด์ชาบู-ชาบู และสุกี้ญี่ปุ่น ระดับพรีเมียมล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ทำความรู้จัก “ซาคาเอะ” โมเดลร้านอาหารญี่ปุ่นพรีเมียม A La Carte “เน้นเร็ว – วัตถุดิบจากต่างประเทศ – ใช้พนักงานน้อย แต่มีประสิทธิภาพ”
สำหรับแบรนด์ใหม่ล่าสุด “ซาคาเอะ” เป็นชาบู-ชาบู และสุกี้ญี่ปุ่นแบบ A La Carte เจาะตลาดพรีเมียม เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายระดับบน และกลางเป็นหลัก
การสร้างแบรนด์ “ซาคาเอะ” จะเติมเต็ม Brand Portfolio ร้านอาหารญี่ปุ่นในเซ็กเมนต์พรีเมียมให้กับโออิชิ กรุ๊ป ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้ ที่เป็น Meat Lover จะแสวงหาร้านอาหารที่มีเนื้อคุณภาพดีนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งวัตถุดิบเด่นในร้านซาคาเอะ คือ เนื้อวากิว ระดับ A4, เนื้อวากิว ระดับ F1 และเนื้อซาคาเอะ ซิกเนเจอร์ หรือเนื้อส่วนสันคอวัว
นอกจากนี้ รูปแบบการให้บริการของ “ซาคาเอะ” เป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการภายในร้าน และการออกแบบประสบการณ์ลูกค้า โดยภายในร้าน โต๊ะเป็นรูปแบบเคาน์เตอร์ แบ่งเป็น 3 Ring คือ Ring A มี 28 ที่นั่ง, Ring B 20 ที่นั่ง และ Ring C 20 ที่นั่ง และเป็นหม้อชาบู/สุกี้หม้อเดี่ยวแต่ละที่นั่ง
ขณะเดียวกันเน้น Efficiency คือ พนักงานให้บริการลูกค้าไม่จำเป็นต้องมีเยอะ โดยโต๊ะ 1 Ring มีพนักงานประจำเพียง 2 คน เท่ากับว่าทั้งร้านมี 3 Ring ใช้พนักงานประจำเคาน์เตอร์ ให้บริการลูกค้า 6 คนเท่านั้น และมี Runner ทำหน้าที่ส่งของให้อีก 1 คน นั่นหมายความว่าภายในร้าน มีพนักงานให้บริการลูกค้าประมาณ 7 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับโมเดลร้านชาบู หรือร้านอาหารทั่วไปแบบเดิมๆ ต้องใช้พนักงานไม่ต่ำกว่า 15 – 20 คนต่อร้าน
โมเดลการออกแบบร้านลักษณะนี้ ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าในด้านความสะดวก ความง่ายในการรับประทาน และความเร็ว ในขณะที่ทางร้าน ได้ความคล่องตัวของการให้บริการ และการบริหารจัดการภายในร้านที่มีประสิทธิภาพ
จาก Brand Portfolio กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ตอบโจทย์ใน 5 เรื่องสำคัญคือ
- เติมความหลากหลาย ตั้งแต่ร้านอาหารบริการด่วน (QSR), ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining), ร้านอาหารระดับบน (Fine-Dining) และบริการจัดส่งถึงบ้าน
- ครอบคลุมตั้งแต่เซ็กเมนต์ Mass, Premium Mass ไปจนถึงตลาด Premium
- สามารถนำแบรนด์ เข้าไปอยู่ในทุกช่วงเวลาของการรับประทานอาหารของผู้บริโภค ทั้งมื้อหลัก (Meal) และมื้อรอง (Light Meal) ในแต่ละวัน
- ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม หลายระดับ
- มีโมเดล 24 ชั่วโมง ได้แก่ ชาบูชิ 24 ชั่วโมงที่สามย่านมิตรทาวน์, โออิชิ ราเมน x คาคาชิ 24 ชั่วโมงที่เดอะ สตรีท รัชดา ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“โออิชิ มีแนวทางเสริมความแข็งแกร่งพอร์ตโฟลิโอ กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น และขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น ภายใต้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก แกนสำคัญหนึ่งคือ Spin-off Brands เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย และเข้าถึงผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม ซึ่งเน้นที่การสร้างแบรนด์ใหม่ เจาะตลาดใหม่ เซ็กเมนต์ใหม่ จับกลุ่มใหม่
จากการพัฒนาแบรนด์ซาคาเอะ ส่งผลให้ธุรกิจอาหาร กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิโดยภาพรวมมีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการ และความพึงพอใจของลูกค้าได้หลายกลุ่ม หลากหลายระดับ” คุณไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกลยุทธ์สร้างการเติบโตธุรกิจ