การเติบโตของดิจิทัล แพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพคอนเทนท์ของคนทั่วโลก มุ่งสู่แพลตฟอร์ม OTT (Over The Top) ในสัดส่วนที่สูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีหลายประเทศ เช่น จีน ที่ผู้ชม Streaming VDO แซงหน้าทีวีไปแล้ว คาดการณ์ว่าสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก 3 ปีข้างหน้า
จากการสำรวจพฤติกรรมการรับชมคอนเทนท์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลกเมื่อเทียบกับการรับชมบนทีวีจากหลายปัจจัย สำหรับเมืองไทย ประเมินการรับชมบนแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโต 15% ในปี 2024 จากปี 2018
โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ประเภท AVOD (Ad-Supported VDO on Demand) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีรายได้จากการโฆษณาโดยผู้ชมไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อชม จะเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 50% เกือบเทียบเท่าฐานผู้ชมบนทีวีในอีก 3 ปีจากนี้
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ผู้ชมปรับตัวหันมาชมคอนเทนท์บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เห็นได้ชัดจาก LINE TV ที่มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้น 43% และใช้เวลาดูนานขึ้นรวม 43% ด้วยเช่นกัน ขณะที่ผู้ผลิตคอนเทนท์ในประเทศก็จะถูกดึงฐานผู้ชมโดยแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก ซึ่งมีโปรดักชั่นคอนเทนท์ขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน
คุณกณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย มองว่าจากปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นตัวกระตุ้นและโอกาสสำหรับผู้ผลิตคอนเทนท์ในประเทศและแบรนด์ต่างๆ ที่จะให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์ม OTT TV โดยเฉพาะประเภท AVOD ที่กำลังจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในตลาดคอนเทนท์ไทย
สำหรับทิศทางของ LINE TV ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม AVOD ได้วาง 6 กลยุทธ์ตอกย้ำการเป็นผู้นำในตลาด OTT TV
1.พลังแพลตฟอร์มผลักดันคอนเทนท์ไทยสู่ผู้ชมทั่วโลก ในปีที่ผ่านมา LINE TV ได้ช่วยผลักดันคอนเทนท์ไทยส่งออก ผ่าน LINE TV Original Content ใน 28 ประเทศทั่วโลก
2.สร้างกระแส Boy’s Love สู่ตลาดแมส ปัจจุบัน LINE TV มีซีรีส์วายมากที่สุดในไทยกว่า 39 เรื่อง (ตุลาคม 2563) และฐานผู้ชมโตขึ้นถึง 3 เท่าตัวในทุกช่วงวัยในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งจาก Y-Economic Study การสำรวจพฤติกรรมเชิงพาณิชย์ในกลุ่มผู้ชมซีรีส์วายในเมืองไทย
โดย LINE Insight เผยว่าผู้ชมคอนเทนท์ประเภทนี้ มีพฤติกรรมดูซ้ำเพื่อเพิ่มยอดวิวให้สูงขึ้น ต้องการเชื่อมต่อกับคอมมูนิตี้บนโซเชียลมีเดียขณะรับชม แพลตฟอร์มที่อีโคซิสเต็มสามารถรองรับพฤติกรรมเหล่านี้ได้จะยิ่งช่วยทำให้คอนเทนท์นั้นโด่งดังและสร้าง Engagement กับผู้ชมได้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นโอกาสที่แบรนด์ต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมได้หลากหลายรูปแบบ ผู้ชมซีรีส์วาย จัดเป็นสายเปย์ ซื้อสินค้าและบริการทุกอย่างที่นักแสดงวาย เป็นพรีเซ็นเตอร์ แม้จะไม่ได้ใช้สินค้านั้นก็ตาม เพราะต้องการสนับสนุนนักแสดงที่ชื่นชอบ
3.เพิ่มความหลากหลายและทางเลือกเพื่อผู้ชม ทั้งในเชิงคอนเทนท์และประสบการณ์รับชม เช่น เพิ่มคอนเทนต์ LGBTQ+ ต่อยอดจากความนิยมของซีรีส์วาย เพิ่มคอนเทนท์จากครีเอเตอร์ไทยมืออาชีพ เพิ่มอะนิเมชั่นซึ่งเป็นอีกประเภทที่ได้รับความนิยมจากการที่ยอดรับชมเติบโตสูงถึง 112%
4.King of Thai Content แห่ง OTT TV ไทย มีพันธมิตรคอนเทนท์มากถึง 250 ราย สามารถผลิตคอนเทนท์ไทยที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะ LINE TV Original Content ที่มีมากถึง 78 คอนเทนท์ (ณ ตุลาคม 2563)
สำหรับ 3 LINE TV Original ที่จะออกมาสร้างกระแสความนิยมในช่วงปลายปีนี้ อย่าง The Graduates บัณฑิตเจ็บใหม่, แปลรักฉันด้วยใจเธอ และ The Secret เกมรัก เกมลับ ที่กำลังจะลงจอในเดือนธันวาคมนี้ ก็ต่างจับกลุ่มผู้ชมที่หลากหลายแตกต่างกัน
5.เพิ่มช่องทางขายสินค้าให้คอนเทนท์บนแพลตฟอร์มไลน์ สร้าง Enjoyment Journey ที่เชื่อมโยงเข้ากับบริการต่างๆบน LINE Ecosystem เพื่อให้ผู้ผลิตพาคอนเทนท์เข้าถึงฐานผู้ชมและให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างโอกาสหารายได้ให้กับผู้ผลิตคอนเทนท์ โดยได้เตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ As Seen on TV ต่อยอดจากแนวคิดดังกล่าว ให้ผู้ชมสามารถช้อปปิ้งสินค้าที่อยู่ในคอนเทนท์บน LINE TV ต่อได้เลยทันที โดยอยู่ในแท็บ Wallet บนแอปฯ LINE
6.แพลตฟอร์ม Top of Choice ของผู้ชมและนักการตลาด ด้วยยอดวิวรวมกว่า 6 พันล้านวิวในแต่ละปี LINE TV ยังเป็นแพลตฟอร์มที่นักการตลาดเลือกลงโฆษณามากที่สุด จากการที่มีคอนเทนท์ทันกระแส หลากหลาย เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างอย่างทั่วถึง ทั้งยังไม่มีโฆษณา Mid-roll คั่นขณะชมโดยไม่ต้องเสียค่าสมาชิกแบบพรีเมี่ยม โดยในเร็วๆนี้จะยังมีการเปิดตัวเครื่องมือวัดผลและวางแผนการซื้อโฆษณาร่วมทั้งบนทีวี และ LINE TV เพื่อวัดการรับชมจากทุกอุตสาหกรรมทีวีเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้อย่างแม่นยำมากที่สุดอีกด้วย
“การจะเป็นผู้นำบนตลาด OTT TV ในเมืองไทยของ LINE TV ได้นั้น ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มบันเทิงของผู้ชมอย่างเดียว แต่เรายังมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนท์ไทยให้เติบโตรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนไป ทั้งยังพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์นักการตลาดด้วยโซลูชั่นใหม่ๆเพื่อขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมคอนเทนท์ให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกันอีกด้วย”