ต้องบอกว่า ปี 2020 เป็นปีที่น่าสนใจสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้มีโอกาสเห็นการปรับตัวของธุรกิจต่าง ๆ วิธีการแก้ไขปัญหา และการก้าวไปข้างหน้าของแต่ละองค์กร รวมถึงผลลัพธ์ของการแก้ปัญหานั้น ๆ ผ่านผลประกอบการ
หนึ่งในธุรกิจที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Car-Hailing และ Food Delivery ที่ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เล่นหลายราย และมีการแข่งขันที่สูงปรี๊ด โดยรายงานผลวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2020 หรือ e-Conomy SEA Report 2020 ที่ Google ร่วมกับ Temasek และ Bain & Company จัดทำขึ้น ระบุว่า ธุรกิจอย่าง Transport (Car Hailing) และ Food Delivery ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทสไทยมีโอกาสเติบโตไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 ได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า พิษ Covid-19 ได้เข้ามากระทบอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทยอย่างจัง จนทำให้มีการเติบโตที่ลดลงด้วยเช่นกัน จากที่เคยมีมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 ลดลงมาเหลือ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020 (ลดลง 12%)
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเดินทางระหว่างประเทศที่หยุดชะงักทำให้รายได้จากบริการ Car-Hailing หายไปราว 80% และถึงแม้จะคลายล็อกดาวน์แล้ว รายได้จากการเดินทางก็ยังไม่กลับมาอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากแต่ละประเทศมีนโยบายด้านการเดินทางที่แตกต่างกัน
ส่วน Food Delivery แม้จะเติบโตขึ้นอย่างมากในยุค Covid-19 แต่รายงาน e-Conomy SEA 2020 ก็วิเคราะห์ว่า ยังทำรายได้ให้ไม่มากพอที่จะมาทดแทนรายได้จาก Car-Hailing ที่หายไป
สอดคล้องกับข้อมูลของ GrabFood ที่ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่า มีร้านอาหารสมัครเข้ามาในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า (ตัวเลขในประเทศไทย) ทำให้ปัจจุบัน GrabFood มีร้านอาหารบนระบบประมาณ 80,000 แห่ง ขณะที่ยอดผู้ใช้งานใหม่พบว่าเติบโตขึ้น 3 เท่า และมีพาร์ทเนอร์คนขับที่สมัครเข้ามาในช่วง Covid-19 (เดือนมีนาคม – เมษายน) ประมาณ 40,000 คน
อย่างไรก็ดี การเติบโตนั้นไม่ได้คงทนถาวร เหมือนที่ e-Conomy SEA 2020 คาดการณ์ไว้ เพราะ GrabFood พบอีกเช่นกันว่า เมื่อประเทศไทยเริ่มกลับมาคลายล็อกดาวน์ตามเฟสต่าง ๆ มากขึ้น และคนเริ่มกลับไปทำงาน มูลค่าการสั่งอาหารบนแพลตฟอร์มก็เริ่มลดลงจาก 300- 400 บาทต่อครั้งไปอยู่ที่ 100 – 200 บาทต่อครั้ง นี่จึงเป็นบททดสอบรอบใหม่ของอุตสาหกรรมนี้เลยทีเดียวว่าจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ใช้ Data ดันยอดขาย Food Delivery
การแก้เกมของผู้ให้บริการ Food Delivery อย่าง GrabFood เพื่อให้แพลตฟอร์มยังคงมีโอกาสในการทำรายได้ทดแทน Car-Hailing ที่หายไปจึงเกิดขึ้นตามมา โดย Brandbuffet มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย เกี่ยวกับกลยุทธ์ในการเติบโตของ GrabFood ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ที่บอกว่า หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ Data เพื่อให้แพลตฟอร์ม และ “แกร็บคิทเช่น” (GrabKitchen) อยู่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
“คือเราต้องบอกก่อนว่า GrabKitchen เป็นน้องใหม่ของ GrabFood โดยบนแพลตฟอร์มของ GrabKitchen เราจะมีคน 3 กลุ่ม นั่นคือคนขับ ร้านอาหาร และคนซื้อ ข้อดีสำหรับคนขับคือ มีที่จอดรถพร้อม คนขับจอดรถได้สะดวก รับออเดอร์ Mix & Match ได้ ส่วนประโยชน์ของร้านอาหารคือ ไม่ต้องลงทุนจ่ายค่าที่ ค่าเช่าตึก มาทำครัวที่นี่ก็สามารถขยายธุรกิจได้ ส่วนคนซื้อก็จะได้กินของอร่อย และอาจเป็นร้านที่เราไปกินบ่อย ๆ ไม่ได้ เช่น ร้านเอลวิสสุกี้ ที่เมื่อก่อนบ้านเราอยู่ไกล จ่ายค่าส่งไม่ไหว ตอนนี้ก็สามารถสั่งได้แล้วผ่าน GrabKitchen” คุณจันต์สุดากล่าว
ปัจจุบัน GrabKitchen มี 3 สาขาแล้ว นั่นคือที่ตลาดสามย่าน วิภาวดี และทองหล่อ โดยที่ตลาดสามย่านและทองหล่อมีร้านอาหารอยู่ 12 แบรนด์ ส่วนวิภาวดีมี 14 แบรนด์
แต่จุดสำคัญคือการพบว่า ยอดสั่งซื้อที่เกิดขึ้นบน GrabKitchen แต่ละสาขา ในแต่ละวันนั้นมีมากกว่า 1,500 ออเดอร์ หรือเฉลี่ยก็คือ ร้านอาหารที่อยู่บน GrabKitchen ขายได้เกิน 100 ออเดอร์ต่อวัน ซึ่งมากกว่ายอดขายของร้านอาหารที่อยู่บน GrabFood ทั่วไปอยู่พอสมควร
ส่วนสาเหตุที่ร้านอาหารบน GrabKitchen ทำรายได้มากกว่าร้านอาหารใน GrabFood ธรรมดานั้น คุณสุขุมาลย์ เลิศปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการธุรกิจแกร็บฟู้ด แกร็บ ประเทศไทย เผยว่ามาจากการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ทั้งในแง่การเลือกทำเลที่ตั้ง เมนูอาหารที่ในย่านนั้น ๆ มีคนสั่งเยอะ ไปจนถึงเมนูอาหารที่ผู้บริโภคในย่านนั้นให้ความสนใจเสิร์ชหาบ่อยเป็นพิเศษ
“Grab จะดูจาก Data ที่เรามี เช่นการเลือกโลเคชัน ก็จะดูว่าย่านไหนที่มียอดขายเยอะ และลงไปดูว่า ในบริเวณนั้น อาหารประเภทไหนที่ขายดี เรายังดูต่อไปด้วยว่า อาหารประเภทไหนที่ผู้บริโภคเสิร์ชเยอะ แต่ไม่มีในย่านนั้น ก็จะถือว่ามีโอกาสที่ Grab จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ได้”
อย่างไรก็ดี การจะขึ้นไปอยู่บนคลาวด์คิทเช่นก็ต้องมีการเตรียมตัวเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ คุณสุขุมาลย์บอกว่า อาจจะมีบางร้านที่ต้องจ้างคนเพิ่ม หาทางทำสูตรให้เป็นมาตรฐาน ฯลฯ ซึ่งถ้าเจอร้านที่มีศักยภาพจะขยายได้ แล้วเขายังไม่พร้อม ก็จะมีทีมลงไปช่วยคุยว่า อยากให้ช่วยเขาอย่างไรบ้าง
ตั้งเป้าขยาย GrabKitchen ให้ได้ 5 แห่งภายในสิ้นปี
เพื่อให้ Food Delivery มีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้น การผลักดัน GrabKitchen อย่างเป็นรูปธรรมจึงเกิดขึ้นตามมา โดยภายในสิ้นปีนี้ ทางแกร็บ ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะสร้าง GrabKitchen เพิ่มเป็น 5 แห่งทั่วกรุงเทพฯ จากเดิมที่มีอยู่ 3 แห่ง พร้อมกับมองหาโอกาสในการขยายสาขาไปยังหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดเพิ่มเติมด้วย
ส่วนในเรื่องของคู่แข่งที่เพิ่มเข้ามาในตลาดนั้น คุณจันต์สุดามองว่าเป็นการช่วยสร้างการเติบโตให้ตลาดอีกทางหนึ่ง และมองว่าทุกค่ายต่างหาทางมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคเช่นกัน แต่ในท้ายที่สุด ผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินว่า ว่าใครสามารถสร้างความพึงพอใจได้มากที่สุดก็จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง
“จากที่เคยทำสำรวจพบว่า สิ่งที่ทำให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์ม Food Delivery แล้วพึงพอใจมีสามข้อ นั่นคือ มีแคมเปญน่าสนใจ เช่น โปรโมชันส่งฟรี มีความน่าเชื่อถือ (สั่งแล้วมีคนขับมารับออเดอร์) และข้อสุดท้ายคือ มีความหลากหลายของอาหาร ซึ่งวันนี้เราเชื่อว่าเรามีความพร้อมในทั้ง 3 ด้านค่ะ”