นางสาวพัชรี พยัควงษ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การจัดงานประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการรณรงค์การบริโภคข้าวไทย “มหัศจรรย์ข้าวไทย ความภูมิใจแห่งท้องทุ่ง” ในครั้งนี้ ได้กำหนดจัดงานในช่วงที่ผลผลิตข้าวฤดูใหม่กำลังออกสู่ตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคได้รู้จักพันธุ์ข้าว และทราบถึงคุณประโยชน์ของข้าวไทย และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลข้าวใหม่ เสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ด้วยการบริโภคและทำบุญด้วยข้าวใหม่ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ในปัจจุบันคนไทยบริโภคข้าวลดลง โดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง และกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปบริโภคอาหารโปรตีนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวิถีชีวิตคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กลุ่มคนทำงานกับปัญหาความเร่งรีบในชั่วโมงเร่งด่วน ตลอดจนความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบริโภคข้าว “ว่ากินข้าวแล้ว ทำให้อ้วน” ส่งผลให้ทุกวันนี้คนไทยบริโภคข้าวลดลงเฉลี่ยเหลือเพียงคนละประมาณ 83 กิโลกรัมต่อปี จาก 90 – 100 กิโลกรัมต่อปี ในปี 2562 นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด – 19 ยังส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาในประเทศไทยได้ ส่งผลให้การบริโภคข้าวลดลงไปอีก
สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ในงาน ประกอบด้วย การโชว์รังสรรค์เมนูอาหารต่างๆ โดยใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบ โดยเชฟพลอย (ฐาติกานต์ ตัณฑจินนะ) Top Chef Thailand Season 2 การจัดนิทรรศการ “เพราะรักจึงชวนกินข้าวไทย” ให้ความรู้สายพันธุ์ข้าวไทยในแต่ละกลุ่ม และคุณประโยชน์ของข้าว รวมถึงสร้างการรับรู้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิรูปพนมมือของกรมการค้าภายใน พร้อมชวนชิม และเลือกซื้อข้าวไทยคุณภาพดีจากเกษตรกรและโรงสีโดยตรง
นางสาวพัชรี พยัควงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานรณรงค์บริโภคข้าวไทยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 – 2567 โดยวิสัยทัศน์ “ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” ได้จำแนกกลุ่มข้าวตามความต้องการของตลาด จำนวน 3 กลุ่มตลาด ประกอบด้วย ตลาดพรีเมี่ยม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย ตลาดทั่วไป ได้แก่ ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ ตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวสีหรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ โดยมีพันธกิจด้านการตลาดภายในประเทศจะดำเนินการในการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของการบริโภคในประเทศและการผลิตในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อดูแลเกษตรกรไทยให้ได้รับราคาผลผลิตที่เหมาะสม และเกิดเสถียรภาพด้านราคาต่อไป