HomeBrand Move !!หัวเว่ยขอเวลา 2 ปี พร้อมขึ้นแท่นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนบน Ecosystem ใหม่

หัวเว่ยขอเวลา 2 ปี พร้อมขึ้นแท่นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนบน Ecosystem ใหม่

แชร์ :

huawei logo หัวเว่ย โลโก้

เชื่อว่าหลายคนยังจำได้ดีถึงการออกมาประกาศตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย (Huawei) เมื่อปี 2018 ที่ทำได้ถึง 200 ล้านเครื่อง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก อีกทั้งในสามเดือนต่อมา (มีนาคม 2019) หัวเว่ยยังสร้างความตกตะลึงด้วยการประกาศผลประกอบการปี 2018 ที่ทำรายได้ทะลุแสนล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตอย่างโดดเด่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการประกาศเป้าหมายของบริษัทที่บอกว่าจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในด้านยอดขายของวงการสมาร์ทโฟนโลก ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวก็เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปี 2019 เมื่อมีรายงานจาก IDC ระบุว่า ตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทเติบโตขึ้น 50.3% ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 19% ขณะที่คู่แข่งอย่างแอปเปิล (Apple) IDC พบว่าจำหน่ายสมาร์ทโฟนได้ลดลงราว 30.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งทำให้ Apple ครองส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือ 11.7%

หรือก็คือ ณ เวลานั้น หัวเว่ยขึ้นแท่นเบอร์ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงเบอร์หนึ่งของโลกอย่างซัมซุง (Samsung) ที่ยังครองส่วนแบ่งตลาด 23.1% เอาไว้ให้โค่นอีกเพียงแบรนด์เดียว

ในเวลาต่อมา หัวเว่ยยังมีการประกาศตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟนระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 พฤษภาคม 2019 โดยระบุว่าหัวเว่ยสามารถขายสมาร์ทโฟนไปได้แล้วถึง 100 ล้านเครื่องทั่วโลก หรือคิดเป็นครึ่งทางของยอดขายในปี 2018 แล้วด้วย

huawei branch สาขา หัวเว่ย

“พฤษภาคม 2019” เริ่มปฏิบัติการโค่นหัวเว่ย

ถ้ามองด้วยความตื่นตาตื่นใจก็อาจเป็นเรื่องตื่นตาตื่นใจจริง ๆ ที่บริษัท ๆ หนึ่งสามารถเติบโตได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ในอีกด้านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวเว่ย ณ วันนั้นเปรียบได้กับดวงดาวที่มีแสงจ้าแสบตาเกินไป ปฏิบัติการโค่นหัวเว่ยอย่างเป็นทางการจึงเกิดขึ้น นั่นคือการประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทต่างชาติกว่าครึ่งร้อยบริษัทของรัฐบาลกรุงวอชิงตันในเดือนพฤษภาคม 2019 (โดยมีชื่อของ Huawei ปรากฏอยู่ในบัญชีดำนั้นด้วย) และห้ามผู้ประกอบการของสหรัฐอเมริกาทำการค้ากับบริษัทเหล่านั้น

ผลของการถูกขึ้นบัญชีดำ ทำให้หัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้านชิปเซ็ตของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเรื่องของซอฟท์แวร์ – แอปพลิเคชัน ซึ่งก็น่าสนใจที่ การแก้เกมของหัวเว่ยเริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การออกมาประกาศว่า ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายไปแล้ว (ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต) และที่ยังรอการจัดจำหน่ายอยู่ในสต็อกทั่วโลกจะได้รับการอัปเดตและบริการหลังการขายอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น หัวเว่ยยังได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการของตัวเอง รวมถึงสร้าง Ecosystem ใหม่เอาไว้รองรับภายใต้ชื่อ Huawei Mobile Services (HMS) ที่เป็นแหล่งรวมบริการต่าง ๆ ของบริษัทเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น AppGallery (ทำหน้าที่ไม่ต่างจาก Google Play Store หรือ AppStore ของแอปเปิล), Huawei Music, Huawei Video, Huawei browser, Huawei ID, Huawei Mobile Cloud และ Huawei Assistant

โดย HMS จะทำงานภายใต้กลยุทธ์ 1+8+n ที่คุณอิงมาร์ หวาง ผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย อธิบายว่า 1 แทนความหมายถึง “สมาร์ทโฟน” ที่ต่อไปนี้จะรับบท Center ในการเชื่อมอุปกรณ์อื่น ๆ เข้าด้วยกัน ส่วน 8 หมายถึง Smart Devices อื่น ๆ ของหัวเว่ย เช่น แท็บเล็ต แล็ปท็อป สมาร์ทวอทช์ หูฟังไร้สาย ฯลฯ และ n หมายถึงอุปกรณ์ IoT (Internet of things) ที่หัวเว่ยคาดการณ์ว่า ต่อจากนี้ ทั้ง 1, 8 และ n จะถูกเชื่อมเข้าด้วยกันทั้งหมดนั่นเอง

อิงมาร์ หวาง

คุณอิงมาร์ หวาง ผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย

เป้าหมายที่ช้าไปเกือบสองปี

แต่การแก้เกมนี้ก็ต้องใช้เวลากว่าหัวเว่ยจะกลับไปสู่สถานะเดิมของการแข่งขัน โดยปัจจุบัน ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 4 ของตลาด แต่คุณอิงมาร์บอกว่า เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี นั่นคือผู้บริโภคไทยเปิดใจยอมรับ Ecosystem ใหม่ที่หัวเว่ยพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ

เป้าหมายที่ช้าไปเกือบสองปีนี้ยังรวมถึงการให้เวลาแอปพลิเคชันชื่อดังที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง Facebook, LINE, YouTube, เป๋าตังค์, Lazada, Grab รวมถึงแอปพลิเคชันจากธนาคารยักษ์ใหญ่ที่ปัจจุบันสามารถให้บริการบน AppGallery ได้แล้วตามเดิม

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่า ทัพใหม่ของหัวเว่ยจะพร้อมแล้วสู่การเดินทางเข้าหาเป้าหมายเดิมที่เคยประกาศไว้ โดยคุณอิงมาร์ หวาง ออกมายอมรับว่า Ecosystem ใหม่ที่สร้างขึ้นอย่าง HMS ถือว่าพร้อมมากแล้ว และไม่ว่าจะได้กลับไปจับมือกับ Google อีกครั้งหรือไม่ ก็ไม่มีผลอะไรกับหัวเว่ยอีกต่อไปแล้วเช่นกัน

“Ecosystem ใหม่ ถือว่าพร้อมมาก เห็นได้จากจำนวนนักพัฒนาบน AppGallery ที่มีมากกว่า 1.8 ล้านคน หรือตัวแอปพลิเคชันที่มีรวมแล้วกว่า 1.7 ล้านแอปพลิเคชัน มีเพลงใน Huawei Music กว่า 10 ล้านเพลง และยังมีผู้ใช้งาน (Active Users) กว่า 490 ล้านคนทั่วโลกด้วย”

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2021 สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมากับหัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย จึงเป็นการเตรียมเปิดตัวโปรดักท์ใหม่ประมาณ 50 รายการ รวมถึงส่งไม้ต่อให้กับ “คุณเกวิน เฉิง” ผู้บริหารคนใหม่ที่จะเข้ามารับภารกิจนี้แทน โดยสิ่งที่คุณเกวิน เฉิง ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยคือศักยภาพของตลาดที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน เช่น แล็ปท็อป แท็บเล็ต และสมาร์ทวอทช์ ที่พบว่าเติบโตขึ้นรวดเร็วมาก

เกวิน เฉิง ผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)

คุณเกวิน เฉิง ผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)

“การแข่งขันในตลาดปี 2021 จะดุเดือดขึ้นแน่นอน หน้าที่ของเราคือการนำเสนอนวัตกรรมให้กับผู้บริโภคให้มากที่สุด ส่วนในด้านฮาร์ดแวร์ ปัจจุบัน หัวเว่ยอาจมีปัญหาอยู่บ้างด้านชิ้นส่วนอุปกรณ์ แต่ถ้าซัพพลายเชนตรงนี้กลับมา เชื่อว่าสถานการณ์ของเราจะดีขึ้น”

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าในอนาคต “หัวเว่ย” ภายใต้สงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐอเมริกาจะเป็นเช่นไร แต่สำหรับประเทศไทย คุณอิงมาร์ หวาง ผู้บริหารหัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ก็ขอกล่าวทิ้งท้ายก่อนอำลาตำแหน่งว่า บริษัทพร้อมแล้วสำหรับการบุกตลาดบน “Ecosystem ใหม่” ที่บริษัทสร้างขึ้น พร้อมขอเวลาอีกไม่เกิน 2 ปี หัวเว่ยจะกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมแน่นอน


แชร์ :

You may also like