นับจากประกาศแผนลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลแห่งแรกของ “พฤกษา” และเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2560 ด้วยงบประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท ล่าสุดโรงพยาบาลวิมุต เตรียมเปิดให้บริการเฟสแรกเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นก้าวแรกของพฤกษาสู่ธุรกิจสุขภาพ สร้างอีกแหล่งรายได้ประจำ และเพิ่มมูลค่าให้โครงการที่อยู่อาศัย ด้วยบริการ Nursing Home ดูแลสุขภาพและผู้สูงวัยกับโมเดล คลินิก “บ้านหมอวิมุต”
โรงพยาบาลวิมุต อาคารสูง 18 ชั้น สร้างอยู่บนพื้นที่ขนาด 4 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สี่แยกสะพานควาย (ติดกับธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่) เป็นโรงพยาบาลขั้นตติยภูมิ (Tertiary Care) ขนาด 236 เตียง บริการรักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไป โรคซับซ้อน เช่น หัวใจ กระดูก เตรียมเปิดให้บริการเฟสแรกกลางปี 2564 ถือเป็นสายงานใหม่ของกลุ่มพฤกษาสู่ ธุรกิจสุขภาพ (Health Care) มูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ที่กำลังเติบโต อีกทั้งยังสร้างรายได้ใหม่ในกลุ่ม Recurring Income (รายได้ประจำ) นอกจากอสังหาฯ ที่ครองพอร์ตโฟลิโอเกือบ 100%
ได้ฤกษ์เปิดธุรกิจสุขภาพเกาะเทรนด์สูงวัย
นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด กล่าวว่าแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในประเทศไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก เนื่องจากจำนวนเตียงผู้ป่วยต่อประชากรยังน้อย อีกทั้งปัจจัยสนับสนุนจากบุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพสูง ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ตอกย้ำชื่อเสียงนี้จากการดูแลสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ประเทศไทยทำได้ดี รวมถึงค่าบริการรักษาพยาบาลในไทยต่ำกว่าต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นอีกตัวเลือกการเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพ
ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ มีประชากรอายุ 60 ปี มีสัดส่วน 20% ซึ่งจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โควิดก็เป็นอีกตัวเร่งที่คนกังวลเรื่องสุขภาพ จึงต้องดูแลตัวเอง การเปิดธุรกิจโรงพยาบาลวิมุตในปีหน้าจึงเป็นจังหวะที่ดี
โดยเฟสแรกกลางปีหน้า เปิดบริการห้องตรวจผู้ป่วยนอกทั้งหมด 120 ห้อง ส่วนคนไข้ในเปิดให้บริการ 100 เตียง โดยจะครบ 236 เตียงใน 2 ปีจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายฐานผู้ใช้บริการ กลุ่มเป้าหมายหลักของโรงพยาบาลวิมุต เป็นคนทั่วไประดับกลาง (Middle Income) ซึ่งเป็นฐานประชากรขนาดใหญ่ ที่มีกำลังใช้จ่าย และลูกค้าบริษัท
เปิดคลินิก “บ้านหมอวิมุต” ในโครงการพฤกษา
นอกจากเปิดโรงพยาบาลวิมุตแล้ว ปีที่ผ่านมา พฤกษา ยังได้เปิด คลินิก “บ้านหมอวิมุต” โครงการนำร่องแห่งแรกย่านรังสิต คลอง 3 จังหวัดปทุมธานี ให้บริการรักษาโรคทั่วไป เป็นอีกธุรกิจที่ต่อยอดจากโรงพยาบาลวิมุต
โครงการนำร่องคลินิกรูปแบบสแตนด์อโลน ทำให้ได้เรียนรู้ตลาดว่าต้องการบริการรักษาโรคและดูแลสุขภาพประเภทใด การเลือกทำเลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของคลินิก เพื่อนำมาวางแผนขยายในปี 2564 ในช่วงกลางปีหลังจากโรงพยาบาลวิมุต เปิดให้บริการแล้ว
คลินิกบ้านหมอวิมุต ที่จะขยายสาขาจะมีโมเดลเป็นพันธมิตรร่วมกับศูนย์ดูแลและรักษาโรคต่างๆ เช่น ศูนย์ไตเทียม แล็ปตรวจโรคต่างๆ ศูนย์กายภาพบำบัด ซึ่งแต่ละพันธมิตรจะปรับขนาดมาบริการในคลินิก ซึ่งจะทำให้มีฐานลูกค้ากว้างขึ้น ส่วนคลินิกเองก็จะมีความครบวงจรในการให้บริการมากขึ้น
ในมุมของการต่อยอดธุรกิจสุขภาพกับอสังหาฯ ของพฤกษา ในปี 2564 ที่จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ใหม่ 30-35 โครงการ ในจำนวนนี้บางทำเลมีคลินิกบ้านหมอวิมุต เปิดให้บริการ 3-4 แห่งด้วย โดยจะอยู่ในพื้นที่โครงการและอยู่ใกล้กับโครงการ ให้บริการรักษาโรคทั่วไป และเปิด Nursing Home ในบางทำเลที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้สูงวัย ซึ่งจะให้บริการทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการพฤกษาและผู้อยู่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงคลินิก ทำให้โครงการของพฤกษา มีมูลค่าเพิ่ม จากเซอร์วิสที่แตกต่าง เกาะเทรนด์ดูแลสุขภาพและสังคมสูงวัย
ปรับบิสซิเนส โมเดล อสังหาฯ ปีนี้ติดลบ ปีหน้าฟื้น
สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาด 208,994 ล้านบาท ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งปี 2563 ตลาดอสังหาฯ น่าจะติดลบประมาณ 30% จากปัจจัยลบวิกฤติโควิดและปัญหาเศรษฐกิจ “พฤกษา” เองก็ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ท้าทายและต้องปรับตัวเช่นกัน
คุณปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) สรุปตัวเลขผลประกอบการงวด 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2563 มียอดขาย 16,161 ล้านบาท ลดลง 56.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีโครงการเปิดใหม่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การแพร่ระบาดโรคโควิด รวมทั้งมาตรการ LTV ส่วนรายได้งวด 9 เดือนอยู่ที่ 19,801 ล้านบาท ลดลง 30% กำไรสุทธิ 1,942 ล้านบาท ลดลง 45% มองว่าทั้งปีนี้รายได้ พฤกษา น่าจะลดลงราว 10%
สถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯ ในปีนี้ ทำให้พฤกษา ต้องปรับกลยุทธ์การบริหารและโปรดักท์ใหม่ ให้สอดคล้องกับกำลังซื้อในปี 2564 สรุป 5 เรื่องหลัก
1. เปลี่ยนบิซสิเนส โมเดล จาก Operation Company สู่ Thinking Company ลดค่าใช้จ่ายองค์กร ปรับรูปแบบการก่อสร้างจากเดิมที่แต่ละโครงการมีผู้รับเหมารายย่อย 20-30 ราย เปลี่ยนเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ 3-4 ราย ซึ่งสามารถดูแลต้นทุนได้ดีกว่า
2. เน้นตลาด “ฮีโร่ โปรเจกต์” (Hero Projects) จากปกติพฤกษา จะเปิดโครงการใหม่เกือบ 200 โครงการ ในอนาคตจะเปิดประมาณ 100 โครงการ โดยจะเลือกเปิด ฮีโร่ โปรเจกต์ โครงการที่ตรงกับความต้องการลูกค้ารายเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะการออกแบบโปรดักท์ ที่มีฟังก์ชันตรงกับการใช้งาน โดยให้ Data Analytic เก็บข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์การทำตลาดมากขึ้น
กลุ่มฮีโร่ โปรเจกต์ จะเป็นตลาดกลาง-บน อย่าง ทาวน์เฮาส์ ราคา 2-5 ล้านบาท คอนโด 2-5 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 5-15 ล้านบาท ฐานลูกค้ารายได้ 30,000-200,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากลูกค้าหลักตลาดล่าง รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ทำให้ทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอยอดขาย 40% ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยปีหน้าจะปรับสัดส่วนตลาดล่างให้เหลือ 30% และไปเพิ่มกลุ่มกลาง-บน
3. บริหารที่ดินในมือ มี 2 ส่วน คือ ที่ดินพร้อมเปิดโครงการมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท จะนำมาพัฒนาโครงการในปี 2564 ราว 30-35 โครงการ แต่ที่ดินเซ็กเมนต์บนบางทำเล หากพัฒนาเป็นคอนโด ราคา 200,000 บาทต่อตารางเมตร มองยังไม่เหมาะในช่วงนี้ ดังนั้นหากมีที่ดินในทำเลแบบนี้ก็จะปล่อยขายออกมาก่อน แต่หากขายไม่ได้ก็คงต้องรออีก 3 ปี เพื่อรอกำลังซื้อต่างชาติ จึงพัฒนาโครงการออกมาขาย ซึ่งราคาที่ดินปรับขึ้นทุกปีอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบ
4. ต่อยอดธุรกิจโรงพยาบาลวิมุต หลังจากนี้จะมีคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว บางโครงการ ที่มีผู้อยู่อาศัยหลายเซ็กเมนต์ จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลวิมุต ด้วยการเปิดให้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ในโครงการหรือพื้นที่ใกล้เคียง ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้โครงการจากบริการที่แตกต่าง
5. ลดสต็อกเพื่อทำให้ตัวเบา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 พฤกษามีโครงการที่เปิดขายอยู่จำนวน 166 โครงการ มูลค่ารวม 95,151 ล้านบาท และยังมียอดขายที่รอรับรู้รายได้อีก (Backlog) 25,605 ล้านบาท กลยุทธ์หลังจากนี้จะเน้นการลดสต็อก ซึ่งอาจจะทำให้กำไรลดลง จากการใช้กลยุทธ์ราคาให้ส่วนลด 10-20% แต่โดยรวมปีหน้ายังสามารถทำกำไรได้ในอัตราสองหลัก
หากประเมินภาพรวมอสังหาฯ ปี 2564 น่าจะกลับฟื้นตัวและเติบโตราว 10% จากปีนี้ที่คาดติดลบ 30% ส่วนพฤกษา ปีนี้น่าจะติดลบ 10% ปี 2564 วางเป้าหมายเติบโตไว้ 10-15% คาดว่าปี 2565 รายได้พฤกษา น่าจะกลับมาปกติเหมือนปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ที่ตัวเลข 50,000 ล้านบาท หลังจากนี้คงไม่ได้โฟกัสเป้าหมายที่เคยพูดไว้ว่าจะทำให้ได้ 100,000 ล้านบาทอีกแล้ว แต่จะมองที่กำไรเป็นหลัก