ปี 2020 ขึ้นทำเนียบเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญกับความเลวร้ายจากมหาวิกฤติ Covid-19 ตั้งแต่ต้นปีลากยาวมาถึงสิ้นปี เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนอยากให้จบปีอย่างไว ธุรกิจไทย-เศรษฐกิจโลกอยู่ในอาการสาหัส ในรอบปีที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและสุดท้าทายนี้ Brand Buffet สรุป 10 ประเด็นฮอตที่เป็นปรากฏการณ์แห่งปีของแวดวงธุรกิจ ที่น่าสนใจไว้ดังนี้
1. Covid-19 ไวรัสมรณะ “เปลี่ยนโลก” ปรากฏการณ์ที่คนไทยต้องจำไปชั่วชีวิต
ใครจะไปเชื่อว่า เชื้อโรคที่เล็กที่สุด จะเปลี่ยนโลกได้มหาศาลขนาดนี้ กระทั่ง หน้าปกนิตยสาร Time ฉบับเดือนธันวาคม ใช้เลข 2020 และ ❌ ขีดฆ่าตัวเลข พร้อมระบุว่า “เป็นปีที่เลวร้ายที่สุด”
Covid-19 จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวไทยทุกคนต้องจดจำไปตลอดกาล แม้หลายคนอยากให้เป็นแค่ฝันร้าย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดของ Covid-19 นับเป็นวิกฤติการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน และความรุนแรงของการระบาดยังรวดเร็วจนวิทยาการทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยยังเอาไม่อยู่ เพียงไม่ถึงปีประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 6,440 คน ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 81 ล้านคน (ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2563) เป็นสถานการณ์ที่ยังมองไม่เห็นปลายทางจะสิ้นสุดอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ วิถีการใช้ชีวิตของผู้คน รวมไปถึงการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอีกด้วย
จุดเริ่มต้นการระบาดของ Covid-19 ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมหาศาลจนถึงตอนนี้ ปรากฎขึ้นครั้งแรกที่ตลาดอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน โดยพบการระบาดโรคปอดอักเสบในชายวัยเกษียณในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ต่อมาการระบาดเริ่มรุนแรงโดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปในหลายมณฑลของจีน ทำให้จีนตัดสินใจปิดเมืองอู่ฮั่น ห้ามการเดินทางเข้าออกและเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่
ส่วนในไทยนับเป็นประเทศแรกในโลกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีน โดยกระทรวงสาธารณสุขพบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน วันที่ 13 มกราคม 2563 หลังจากนั้นการแพร่ระบาดรุนแรงอย่างต่อเนื่อง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจากหลักสิบ กลายเป็นหลักร้อย โดยการแพร่เชื้อใหญ่สุดมาจากสนามมวยลุมพินี วันที่ 22 มีนาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 188 ราย ทำให้ กทม.ต้องประกาศล็อกดาวน์สั่งปิดสถานประกอบการ 26 ประเภท ส่งผลให้ธุรกิจเงียบเหงาไปตามๆ กัน
เดือนเมษายน 2563 รัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ปิดน่านฟ้าห้ามอากาศยานเข้าออกประเทศไทย จนยอดผู้ติดเชื้อดีขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เป็นครั้งแรกที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยเป็นศูนย์ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ก่อนที่ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง
ต้องยอมรับว่า การแพร่ระบาดของ Covid-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนไทยเท่านั้น แต่เศรษฐกิจ ธุรกิจยังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะร้านค้าธุรกิจต้องหยุกชะงักในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และถึงแม้จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง การจับจ่ายและกำลังซื้อก็ลดลง เนื่องจากหลายธุรกิจไปต่อไม่ไหว ต้องปิดกิจการ คนจำนวนมากตกงาน ขาดรายได้ แม้แต่อาชีพที่มั่นคง เงินเดือนสูงอย่างนักบิน แอร์โฮสเตส ก็ยังถูกพิษร้ายของโควิด-19 เล่นงานแบบตั้งตัวไม่ติด
รวมไปถึงเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค จนเกิดเป็น New Normal แบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ การใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จนธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวออกแบบโต๊ะอาหารให้ห่างกัน ไปจนถึงการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และเรียนออนไลน์
ทั้งหมดนี้คือ พิษร้ายของโควิด-19 จากเชื้อโรคเล็กๆ ที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงกับมนุษย์ เศรษฐกิจ และธุรกิจอย่างมหาศาล ก่อนหน้านี้ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่ช่วงส่งท้ายปีก็ต้องมาเจอกับการระบาดใหม่ จากตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร แพร่กระจายไปแล้วกว่า 40 จังหวัด ถือเป็นวิกฤติที่ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อไป
2. ปีแห่งวิบากกรรมท่องเที่ยว “การบินไทย-นกแอร์” แห่ล้มละลาย
ธุรกิจแรกที่เจอกับผลกระทบ Covid-19 เต็มๆ คือ “ท่องเที่ยว” การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศต้องหยุดการเดินทาง ปิดน่านฟ้า “ล็อกดาวน์” ป้องกันการแพร่เชื้อ ประเทศไทยก็เช่นกัน มีคำสั่งห้ามสายการบินขนส่งคนเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563
เมื่อหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ให้ประเทศปีละ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของ GDP ต้องหยุดชะงัก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบจึง “สาหัส” เพราะรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2562 มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 4 ของโลก นั่นหมายถึงประเทศไทยพึ่งพารายได้จากต่างชาติเป็นหลัก หรือ 2 ใน 3 ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ปี 2563 ททท.ประเมินรายได้ท่องเที่ยว กรณีเลวร้ายที่สุดไว้ที่ 7.25 แสนล้านบาท ลดลง 75% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน ทำรายได้ 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขและรายได้ที่เดินทางเข้ามาในไตรมาสแรกของปี 2563 ก่อนประเทศไทยล็อกดาวน์ ถึงปัจจุบันก็มีการเดินทางเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยังห้ามการเดินทางท่องเที่ยวทั่วไป
กำลังซื้อท่องเที่ยวในประเทศ “ไทยเที่ยวไทย” ดูจะเป็นความหวังประคองอุตสาหกรรมรอวันที่ต่างชาติกลับมาเดินทางอีกครั้ง แต่การระบาดระลอกใหม่ในเดือนธันวาคม ก็ซ้ำเติมการท่องเที่ยวช่วงส่งท้ายปี สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงกว่าครั้งแรก “ท่องเที่ยวไทย” จึงอยู่บนความไม่แน่นอนและยังต้องลุ้นว่าปี 2564 จะกลับมาได้แค่ไหน และยังเป็นอีกปีที่ “เหนี่อย” ต่อไป
วิบากกรรมท่องเที่ยวในปีเลวร้ายนี้ กระทบอุตสาหกรรมทั้งระบบ เจ็บหนักก็ต้องธุรกิจสายการบิน ทั่วโลกเจอฝันร้ายพร้อมกัน หลายแห่งเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เช่นเดียวกับ สายการบินแห่งชาติ “การบินไทย” อายุ 60 ปี แบกหนี้กว่า 3.5 แสนล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
โดยศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ เดือนตุลาคม 2563 การบินไทยที่มีพนักงานกว่า 21,000 คนได้เริ่มลดขนาดองค์กร เปิดโครงการ “เออร์ลี่ รีไทร์” ครั้งแรกมีคนสมัครจำนวน 4,977 คน กลุ่มนี้มีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่ต้องทำ การลดคนลดต้นทุน ของการบินไทยยังต้องตามมีอีกหลายระลอก ซึ่งจะเดินคู่ไปกับ กระบวนการฟื้นฟูที่จะเริ่มในเดือน เมษายน 2564 ต้องใช้เวลา 7 ปี เพื่อทำให้องค์กรหลุดจากสถานะฟื้นฟูกิจการ
อาการไม่ต่างจากสายการบินแห่งชาติ เมื่อ “นกแอร์” ซึ่งมีหนี้กว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ยื่นศาลล้มละลายกลางขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเช่นกัน โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้องเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 คาดว่าจะใช้เวลา 5 ปี ในการฟื้นฟูกิจการ
สถานการณ์โควิดที่ยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก และประเทศไทยเข้าสู่ภาวะระบาดระลอกใหม่ กลายเป็นฝันร้ายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น สายการบิน โรงแรมทั่วประเทศกว่า 31,000 แห่ง มีห้องพัก 1.15 ล้านห้อง ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ที่ยังต้องเจอกับความไม่แน่นอนต่อไปในปี 2564
3. มีทั้ง “ปัง” และ “แป้ก” รวมสารพัดแคมเปญภาครัฐ 2020 เยียวยาโควิด
เรียกว่าปี 2020 เป็นปีสุดหินสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพราะต้องเจอกับหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากไวรัสร้ายที่ถาโถม จนรัฐบาลต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์ให้คนไทยอยู่บ้าน ทำให้หลายกิจการบาดเจ็บสาหัส บางธุรกิจถึงขั้นขาดทุนจนต้องปิดกิจการ ส่งผลให้หลายคนตกงานแบบตั้งตัวไม่ทัน แต่ท่ามกลางวิกฤติที่ทุกคนต้องเผชิญ ก็ทำให้ได้เห็นแคมเปญภาครัฐออกมารัวๆ หวังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และกระตุ้นการจับจ่ายที่ซบเซาให้กลับมาคึกคัก
และนี่คือ 5 แคมเปญภาครัฐที่ Brand Buffet รวบรวมมาฝาก ไปดูกันว่าแคมเปญไหนปัง แคมเปญไหนแป้กกันบ้าง
- เราไม่ทิ้งกัน โดนใจประชาชน ยอดทะลุ 28 ล้านคน
หลังสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในวงกว้าง จนรัฐบาลต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อสกัดเชื้อไม่ให้แพร่ระจายในวงกว้าง ทำให้คนต้องหยุดงาน ขาดรายได้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยา ผ่าน “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” โดยแจกเงินให้กับลูกจ้างชั่วคราว รวมถึงอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบคนละ 5,000 บาทต่อเดือน นาน 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน 2563
ด้วยความที่โครงการเข้าถึงมือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีงานประจำ บวกกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน จึงทำให้โครงการนี้ได้รับความสนใจและเป็นที่พูดถึงอย่างมาก จนมีคนเข้ามาลงทะเบียนถล่มทลายยอดทะลุ 28 ล้านคน จนระบบล่มเลยทีเดียว แถมยังติดอันดับ 1 คำค้น Google มากสุดในไทยประจำปี 2563 อีกด้วย เรียกว่าแคมเปญนี้ได้ใจประชาชนไปเต็มๆ
- เราเที่ยวด้วยกัน ไม่ปังปุริเย่ คนยังใช้สิทธิ์น้อย
ภาคท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด ทำให้ผู้ประกอบบาดเจ็บตัวกันระนาว ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงผุด “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาคึกคัก ด้วยการให้สิทธิ์กับผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยรัฐจะช่วยจ่ายให้ 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาท แต่ดูเหมือนโครงการนี้กลับไม่ปังอย่างที่คิด โดยมีจำนวนคนใช้สิทธิ์ยังน้อย จากข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2563 มีผู้ลงทะเบียนจองที่พักเพียง 851,321 ห้องเท่านั้น จากตัวเลขทั้งหมด 5 ล้านห้อง
เหตุผลที่ทำให้โครงการเราเที่ยวด้วยกันไม่ปัง เป็นเพราะ 1.คนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อน้อยลง จากผลกระทบโควิด-19 กอปรกับสถานการณ์เศรษฐกิจไม่แน่นอน ทำให้คนต้องการเก็บเงินสด ท่องเที่ยวน้อยลง 2.หลายคนยังไม่กล้าออกไปเที่ยว 2.ขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนกว่าโครงการอื่นๆ ทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้ออย่างผู้สูงอายุ ไม่สามารถเข้าถึง และ 4.โรงแรมที่เข้าร่วมยังมีตัวเลือกน้อยและหายาก เพราะผู้ที่จะเข้าโครงการต้องเป็นโรงแรมที่มีใบอนุญาต
- โครงการคนละครึ่ง แคมเปญสุดปัง โดนใจคนซื้อ คนขาย
เพราะต้องการบรรเทาความเดือดร้อนร้านค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และในเวลาเดียวกันยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน จึงทำให้รัฐบาลต้องอัดยาแรงเกิด “โครงการคนละครึ่ง” โดยรัฐจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือ 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน ในระยะที่ 1 สิทธิ์ลงทะเบียน 10 ล้านคน วงเงินคนละ 3,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563
ในช่วงแรกโครงการคนละครึ่งได้รับการตอบรับน้อยมาก เนื่องจากหลายคนเห็นว่าจำนวนร้านค้าน้อย แต่เมื่อโครงการเริ่มไปได้สักพัก จำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้น ทำให้โครงการนี้ได้รับความนิยมจากประชาชนและร้านค้าผู้ประกอบการอย่างมาก จนกลายเป็นโครงการสุดปังมาแรงที่สุด เห็นได้จากตอนนี้ไม่ว่าจะเดินไปตรอกซอยไหน ถนนหนทางทุกแห่งล้วนเต็มไปด้วยร้านค้าติดป้ายว่า “ร้านนี้รับคนละครึ่ง” ขณะที่ยอดใช้จ่ายสะสม ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน สูงถึง 13,481 ล้านบาท และมีประชาชนลงทะเบียนเต็ม 10 ล้านคน และจากความปังของโครงการ ทำให้มีการขยายโครงการเป็นระยะที่ 2 อีกด้วย
สาเหตุหลักที่ทำให้โครงการคนละครึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะ 1.การออกแบบโครงการค่อนข้างดี ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าช่วยลดค่าครองชีพลงได้ครึ่งหนึ่ง จึงจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายจริง 2.โครงการเปิดให้เฉพาะร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการ ทำให้เพิ่มเม็ดเงินกระจายสู่ร้านค้ารายย่อยได้ทั่วถึง
- โครงการช้อปดีมีคืน ไม่เป๊ะปังถูกใจฐานคนจ่ายภาษี
อีกหนึ่งแคมเปญที่ภาครัฐงัดออกมาเพื่อกระตุ้นการบริโภคกับประชาชนที่เสียภาษี โดยให้ประชาชนช้อปปิ้งสินค้าและบริการในประเทศ แล้วนำใบกำกับภาษีมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาทต่อคน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 แม้ว่าโครงการไม่ยุ่งยาก เพราะไม่ต้องลงทะเบียน และให้ระยะเวลานาน แต่เนื่องจากแรงจูงใจในการใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้ของแต่ละคน
หากพิจารณาจากผู้เสียภาษีในอัตรา 5% คนกลุ่มนี้จ่ายเต็มที่ 30,000 บาท จะได้รับเงินคืนเพียง 1,500 บาทเท่านั้น จึงทำให้โครงการนี้ยังไม่โดนใจกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางมากนัก อีกทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจอาจทำให้ผู้จับจ่ายผ่านโครงการนี้อาจจะมีจำนวนน้อยเช่นกัน
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถูกใจคนรายได้น้อย
เป็นมาตรการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 จากเดิมได้รับคนละ 300 บาท รวมเป็น 800 บาท เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน ซึ่งจากฐานผู้ถือบัตรที่มีจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นเสมือนเงินฟรี และไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ จึงทำให้โครงการน่าจะได้รับการตอบรับและช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศดีขึ้น
4. โค้ก ไม่โฆษณา คือ โฆษณา – เบอร์เกอร์ คิง ช่วยร้านค้าขนาดเล็ก – บาร์บีกอน นั่งเป็นเพื่อนในร้าน– Penguin Eat Shabu ต้นตำรับแจกหม้อ
ปี 2020 เป็นปีที่ยากลำบากอย่างยิ่งของวงการโฆษณา ทั้งจาก Digital Disruption ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค แถมยังถาโถมด้วย Covid-19 ที่กระทบการใช้ชีวิตและกำลังซื้ออย่างมหาศาล นั่นทำให้เราได้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาจากแบรนด์ดังที่ออกแคมเปญมาเพื่อ “เอาตัวรอด” และ “สร้างแบรนด์” ในช่วงเวลาที่แสนท้าทายนี้
โค้ก ไม่โฆษณา คือ โฆษณา
แคมเปญระดับโลก ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการโฆษณาอย่างมาก เมื่อเดือนมีนาคม Coca-Cola ฟิลิปปินส์ “ประกาศงดโฆษณา” เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือพนักงาน คู่ค้า และสังคม ผ่านการบริจาคให้กับบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานที่ช่วยเหลือ Covid-19 หลังจากนั้น ทางฝั่งของประเทศไทยก็เดินตามรอย ประกาศ “หยุดโฆษณา” บ้าง แคมเปญนี้ด้านหนึ่งได้ใจผู้บริโภค ที่มองว่าโค้กเสียสละการสร้างการรับรู้ แต่โยกเงินมาช่วยเหลือสังคม แต่อีกด้านเอเจนซี่ที่ดูแลงานสื่อสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหลาย คงต้องทำใจแบบจำใจกันไป
เบอร์เกอร์ คิง ช่วยร้านค้าขนาดเล็ก ยกพื้นที่โฆษณาให้
ปลายปี ที่สถานการณ์ Covid-19 ในยุโรปหลายประเทศต้องล็อกดาวน์หลายรอบ จนธุรกิจร้านอาหาร้องประสบกับความยากลำบาก Burger King ในอังกฤษและฝรั่งเศส จึงผุดแคมเปญที่บอกว่า “ให้สั่งอาหารจาก McDonald’s”กระตุ้นความสนใจด้วยการบอกให้สั่งสินค้าจากคู่แข่งคนสำคัญ และสั่งอาหารจากร้านค้าขนาดเล็กแทน เพราะร้านค้าเหล่านี้ก็มีพนักงานที่ต้องดูแลนับหมื่นคน ต่อมาเดือนธันวาคม Burger King เดินหน้าแคมเปญช่วยเหลือร้านอาหารต่อเนื่องด้วยการยกพื้นที่โซเชี่ยลมีเดีย เช่น Instagram ของแบรนด์ให้เป็นพื้นที่โฆษณาของร้านเล็กๆ หยิบเอาร้าน SMEs มาโปรโมททีละแบรนด์ๆ งานนี้ได้ใจจริง!
บาร์บีคิว พลาซ่า ส่ง “บาร์บีกอน” มานั่งกินข้าวเป็นเพื่อน
มาถึงคิวของแบรนด์ไทยที่ช่วงโควิด-19ที่ผ่านมาทำได้ดีซะเหลือเกินก็ต้องยกให้ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ที่ช่วง รัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ประกาศให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้แล้ว แต่ต้องเว้นระยะห่าง Bar B Q Plaza กลัวลูกค้าจะเหงา ก็ส่ง “Gon กล้าหาญ” ตุ๊กตากระดาษ ที่เดิมแบรนด์เคยใช้ทำกิจกรรม CSR กับเด็กๆ มานั่งเป็นเพื่อนลูกค้า นอกจากจะเป็นฟังก์ชั่นที่ทำให้เก้าอี้ถูกจับจองไว้แล้ว ทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าต้องเว้นที่นั่งไว้ ก็ยังทำหน้าที่สร้างความน่ารัก กลายเป็นกิมมิคที่ลูกค้าขอรอเพื่อที่จะได้นั่งหม่ำปิ่งย่างกับ Gon แล้วถ่ายรูปลงโซเชี่ยลมีเดียไปอี๊กกกกกกก
Penguin Eat Shabu ต้นตำรับแจกหม้อ
ร้านอาหารประเภท DIY ให้ลูกค้าปรุงสุกด้วยตัวเอง ข้อดีคือความสนุก ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เมื่อ โควิด- 19 มาเยือน ร้านค้าเหล่านี้ที่ต้องการการรวมกลุ่มนั่งร่วมกัน กลับเผชิญหน้ากับอุปสรรคครั้งใหญ่ ยิ่งเจอล็อกดาวน์ร้านอาหารต้องล็อกดาวน์ 22 วัน ลูกค้าซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น ร้านประเภทปิ้ง-ย่าง-ต้ม ทั้งหลายที่โมเดลธุรกิจไม่ตอบโจทย์ ต้องดิ้นรนอย่างหนัก และร้าน SMEs อย่าง Penguin Eat Shabu ก็หาหนทางของตัวเองเจอ เมื่อต้มในร้านไม่ได้ ก็ “แจกหม้อ” ให้ลูกค้ากลับไปต้มที่บ้านก็แล้วกัน กลายเป็นเทรนด์ “แจกหม้อ” และพฤติกรรม Cook @Home ขึ้นมา ที่สารพัดแบรนด์ต่างก็ลุกขึ้นมาทำโปรโมชั่น สั่งอาหารพร้อมกับแจกอุปกรณ์ให้ปรุงอาหารที่บ้านกันไปเลย
5. Work From Home ดันแพลตฟอร์มดิจิทัลมาแรง
ในขณะที่สถานการณ์ Covid-19 สร้างวิกฤติในหลายอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวกันก็เป็น “โอกาส” ให้กับหลายกลุ่มธุรกิจเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ แพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลาย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่ตอบสนองวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ (Online Video Conference) สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) และอุปกรณ์สร้างความบันเทิง
- Zoom ดาวรุ่งแพลตฟอร์มประชุมออนไลน์
ในช่วงล็อกดาวน์ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในบ้าน แพลตฟอร์มการประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์ หรือ Video Conference กลายเป็นช่องทางการสื่อสารสำคัญในการติดต่อ ทั้งเรื่องงาน เรียน รวมไปถึงพูดคุยกับคนในครอบครัว และเพื่อน ซึ่งมีให้เลือกใช้หลายแพลตฟอร์ม เช่น Zoom, Microsoft Teams, Google Meet, Slack, LINE, Skype
Covid-19 นับเป็นตัวเร่งให้แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ขยายตัว และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวเลขมูลค่าตลาด Video Conference ทั่วโลกในปี 2019 อยู่ที่ 5.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าปี 2027 จะเพิ่มขึ้นเป็น 10.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในบรรดาแพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ที่มาแรง ต้องยกให้กับ “Zoom” ก่อตั้งโดย Eric S. Yuan เมื่อปี 2011 แต่จากสถานการณ์ Covid-19 ชื่อของ Zoom เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นแพลตฟอร์มที่องค์กรต่างๆ นำมาใช้เวลาประชุมออนไลน์ และสัมมนารูปแบบ Webinar ทำให้รายได้ Zoom เติบโต
ในไตรมาส 3/2020 Zoom มีรายได้ 777.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูงถึง 367% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมผ่าน Zoom กว่า 300 ล้านคนต่อวัน
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า Zoom มีแผนพัฒนาบริการ “อีเมล์” และ “ปฏิทิน” โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบการให้บริการในช่วงต้นปี 2021 นับเป็นการพยายามสร้าง Ecosystem ของ Zoom ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มฐานผู้ใช้งาน และรายได้มากขึ้น โดยไม่พึ่งพาเฉพาะ Video Conference อย่างเดียว หลังจากเวลานี้องค์กรต่างๆ ได้ให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศตามปกติแล้ว
- TikTok แอปฯ ที่มียอดดาวน์โหลด 2,000 ล้านครั้ง
กลายเป็นแอปพลิเคชันมาแรงที่สุดในรอบปี 2020 ก็ว่าได้ สำหรับ “TikTok” ที่มียอดดดาวน์โหลด 2,000 ล้านดาวน์โหลด ทั้ง App Store และ Google Play Store โดยปัจจุบันให้บริการ 154 ประเทศทั่วโลก 75 ภาษา
ความสำเร็จของ “TikTok” มาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ
- Short Video Destination ด้วยความเป็นแอปฯ นำเสนอคอนเทนต์วิดีโอสั้น ทำให้ดึงความสนใจของผู้คนได้มาก เพราะรวดเร็ว กระชับ
- Content Discovery Platform จุดเด่นหนึ่งของ TikTok คือ ระบบ Machine Learning ที่เรียนรู้ความชอบ ความสนใจในคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานแต่ละคนดู เพื่อ Personalize คอนเทนต์บนหน้าฟีดของแต่ละคนตามที่ชอบหรือสนใจ
- Creative Tools ในแอปฯ มีฟีเจอร์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใช้งานได้แรงบันดาลใจ หรือได้ไอเดียในการสร้างสรรค์วิดีโอของตัวเอง
- User Generated Content (UGC) เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ผู้ใช้งานครีเอทคอนเทนต์เอง เช่น ร่วมทำคอนเทนต์ผ่าน Hashtag Challenge ตามสไตล์ของตัวเอง
เมื่อผู้ใช้งาน กลายเป็นผู้ครีเอทคอนเทนต์ขึ้นเอง หลายคนสามารถขยับไปเป็นดาว TikTok ที่มียอดวิวสูง จนกลายเป็น Influencer ที่แบรนด์อยากร่วมงานด้วย
จากองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้แพลตฟอร์ม “TikTok” ในทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียง Social Media รูปแบบวิดีโอสั้นเท่านั้น แต่ยังเป็น Marketing Platform ที่แบรนด์สินค้า-บริการต่างๆ ใช้เป็นช่องทางสร้าง Viral Campaign และเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
- แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มูลค่าทะลุ 220,000 ล้านบาท
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ Covid-19 เป็นตัวเร่งให้เติบโตแบบก้าวกระโดด คือ “อีคอมเมิร์ซ” เพราะในช่วงล็อกดาวน์ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราว ในขณะที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยสินค้าหมวดหมู่ต่างๆ ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์
หรือแม้แต่เวลานี้ปลดล็อกดาวน์แล้ว แต่ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์ ประกอบกับสถานการณ์ Covid-19 ยังคงอยู่ ทำให้ผู้บริโภคยังกังวลความปลอดภัย และสุขอนามัย จึงออกจากบ้านเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
ไพรซ์ซ่า (Priceza) คาดการณ์ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ผลักผู้บริโภคในไทย หันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอาจพุ่งสูงถึง 220,000 ล้านบาทในปี 2020 โดยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 35% จากปี 2019 ที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทย มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท
นอกจากนี้ไพรซ์ซ่ายังฉายภาพแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ (End Consumer) ในไทยแบ่งเป็น 3 ช่องทางหลักคือ
– e-Marketplace มีทั้ง B2C เช่น LazMall, Shopee Mall, JD.co.th และ C2C เช่น LAZADA, Shopee
– Social Commerce เช่น Facebook, Instagram, LINE
– e-Tailer.com / Brand.com ร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์เอง และเชนค้าปลีกเปิดช่องทางออนไลน์ของตนเอง เช่น Central, Tops, Powerbuy
- Food Delivery พลิกโฉมธุรกิจร้านอาหาร
Food Delivery ในไทย เป็น Sunrise Market เพราะเติบโตต่อเนื่องทุกปี เห็นได้จากข้อมูล Euromonitor และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการณ์มูลค่าตลาด Food Delivery ในไทยปี 2020 อยู่ที่ 68,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 99,000 ล้านบาท
อันที่จริงแล้วตลาด Food Delivery มีในไทยมานานแล้ว แต่การเกิดขึ้นของสถานการณ์ Covid-19 เป็น “ตัวเร่ง” ให้ตลาดนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งเปลี่ยนภูมิทัศน์ของธุรกิจร้านอาหาร และพฤติกรรมผู้บริโภค จากคนที่เคยใช้อยู่แล้ว ใช้บริการ Food Delivery ถี่ขึ้น ส่วนคนที่ยังไม่ได้เคยใช้บริการนี้ ได้ adopt มาทดลองใช้ จนกลายเป็นความคุ้นชิน และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันไปแล้ว
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Food Delivery ในไทยมีผู้เล่นรายหลักๆ แบ่งเป็นกลุ่ม Food Aggregator ได้แก่ Grab, LINE MAN, Gojek, Food Panda ที่ในแพลตฟอร์มมีร้านอาหาร ทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อยมากมาย และกลุ่ม Own Platform ที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ในไทย ซึ่งถือ Brand Portfolio เชนร้านอาหารหลายแบรนด์ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง เช่น แอปพลิเคชัน 1112 Delivery ของไมเนอร์ ฟู้ด, แอปพลิเคชัน Foodhunt 1312 ของเครือซีอาร์จี
- 2020 ปีทอง “Nintendo” สร้างกระแสความนิยมเกม Animal Crossing ฮิตทั่วโลก
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมในสายเทคโนโลยี ที่ได้รับผลเชิงบวกจากสถานการณ์ Covid-19 คือ อุตสาหกรรมเกม ซึ่งเป็นความบันเทิงออนไลน์ ที่นับวันความนิยมทั่วโลกมีแต่ละเพิ่มสูงขึ้น
มีการคาดการณ์ว่าปี 2020 อุตสาหกรรมเกมทั่วโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 159 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดใหญ่อยู่ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค คิดเป็นสัดส่วนเกิอบ 50% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งอุตสาหกรรมเกม
เมื่อเจาะเฉพาะตลาดเกมคอนโซล ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทั่วโลกมีคนเล่นเกมคอนโซลมากกว่า 700 ล้านคน โดยหนึ่งในค่ายผู้ผลิตเกมคอนโซลมาแรงในปีนี้ คือ “Nintendo” ที่สร้างปรากฏการณ์ยอดขายเครื่องคอนโซล และเกมที่ยอดขายมาแรงแห่งปี 2020
ยอดขายช่วง 6 เดือน (เมษายน – กันยายน 2020) ของ Nintendo อยู่ที่ 769.5 พันล้านเยน หรือประมาณ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กำไร โดยโปรดักต์ไฮไลท์ต้องยกให้กับ “Nintendo Switch” ที่ทำยอดขายมากกว่า 12.5 ล้านเครื่อง ทำให้ยอดขายรวมของ Nintendo Switch นับตั้งแต่ทำตลาดมาอยู่ที่ 68.3 ล้านเครื่อง
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Nintendo Switch ปีนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า มาจากกระแสความนิยมเกม Animal Crossing: New Horizons ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เพราะเป็นเกมที่ออกแบบให้ผู้เล่นสามารถ Personalize สร้างร่างอวตาร และเกาะของตัวเองได้ตามที่ต้องการ และฮิตถึงกับทำให้วงการแฟชั่นไม่พลาดที่จะทำร่างอวตาร จัดแฟชั่นโชว์เสมือนจริงบนเกม
ถึงวันนี้ เกม Animal Crossing: New Horizons มียอดขาย 26 ล้านชุด และ Nintendo คาดการณ์ว่าในปี 2020 ถึงเดือนมีนาคม 2021 จะมียอดขายเครื่อง Switch 24 ล้านเครื่อง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 19 ล้านเครื่อง
6. Big Deal of the Year “ซีพี”ฮุบเทสโก้ โลตัส – BDMS เท “บำรุงราษฎร์”
บทสรุป Big Deal แห่งปี 2020 ต้องยกให้การคว้าชัยชนะของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” กลุ่มซีพี ในการประมูลซื้อกิจการ “เทสโก้” (Tesco) ประเทศไทยและมาเลเซีย ด้วยมูลค่า 3.38 แสนล้านบาท
การชนะประมูลครั้งนี้เหมือนเจ้าสัวธนินท์ ได้ “เทสโก้ โลตัส” กลับสู่อาณาจักร “ซีพี” อีกครั้ง เพราะหากย้อนไปในปี 2537 ที่ Tesco (ไฮเปอร์มาร์เก็ต สัญชาติอังกฤษ) ถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทย ก็มาจากเครือซีพี เป็นผู้ร่วมทุนกับ Tesco นำเข้ามาทดลองเปิดตลาดค้าปลีกกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ตอนนั้นใช้ชื่อว่า “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ต่อมาเมื่อประเทศไทยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซีพีจึงต้องตัดสินใจขายกิจการคืนให้กับ Tesco ในปี 2541 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “เทสโก้ โลตัส” ถึงทุกวันนี้
ช่วงปลายปี 2562 กลุ่ม Tesco ประเทศอังกฤษ ต้องการโฟกัสธุรกิจค้าปลีกในยุโรป จึงตัดสินใจขายกิจการในประเทศไทยและมาเลเซีย โดยมี 3 กลุ่มทุนใหญ่ ประกอบด้วย ซีพี ทีซีซี และกลุ่มเซ็นทรัล เข้าร่วมประมูลซื้อกิจการ และเป็นกลุ่มซีพี ที่คว้าชัย ได้เป็นเจ้าของ “เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทย ที่มีไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และ Tesco Express 1,574 สาขา และเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา รวม 2,158 สาขา ปี 2562 เทสโก้ โลตัส มีรายได้ 188,628 ล้านบาท
ส่วน เทสโก้ มาเลเซีย มีไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา ร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา รวม 68 สาขา และมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 56 สาขา ปี 2562 มีรายได้ 33,551 ล้านบาท
หลังกลุ่มซีพี ชนะประมูลซื้อกิจการเทสโก้ ในไทยและมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ต้องรอถึง 9 เดือน กว่าที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะอนุมัติให้ ซีพี ควบรวมกิจการ เทสโก้ โลตัส แม้ทำให้มีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ “ไม่เป็นการผูกขาด” ในที่สุดธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียของซีพี ก็เสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563
วันนี้กลุ่มซีพีของเจ้าสัวธนินท์ จึงครอบครองอาณาจักรค้าปลีกครบถ้วนทั้ง ค้าส่ง-สยามแม็คโคร ไฮเปอร์มาร์เก็ต-เทสโก้ โลตัส และร้านสะดวกซื้อ -เซเว่น อีเลฟเว่น และ Tesco Lotus Express
อีก Big Deal ที่สุดจะพลิกผันหนีไม่พ้น การออกมาประกาศซื้อหุ้นทั้งหมดของ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) จากฝั่ง กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มีนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นเจ้าของ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ดีลนี้เป็นอันต้องจบลง จากเสียงคัดค้านของผู้ก่อตั้ง “บำรุงราษฎร์” ในฝั่งตระกูล “โสภณพนิช”
เมื่อไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ท้ายที่สุด BDMS ก็ประกาศขายหุ้น Big Lot โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ถืออยู่ทั้งหมด 22.71% คิดเป็นมูลค่า 18,613 ล้านบาท ให้กับ ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ซึ่งเป็นบุตรชายคนเล็กของ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร อดีตผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ นั่นเอง เรียกว่าเมื่อไม่ได้เป็นเจ้าของบำรุงราษฎร์และเข้าไปบริหารก็ไม่ได้ อย่างนี้คงต้องเท!!
7. IPO 2020 ใครรุ่ง-ใครร่วง และสถิติ Circuit Breaker ตลาดหุ้นไทยในรอบ 12 ปี
ในฝั่งตลาดหุ้น ปี 2020 แม้เจอโควิด แต่ก็มีหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนใหม่ (IPO) ถึง 26 บริษัท เป็นหุ้นในตลาด SET 14 บริษัท มูลค่าระดมทุน 127,014 ล้านบาท มูลค่าเสนอขาย 155,386 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ (มาร์เก็ต แคป) ณ ราคา IPO 534,864 ล้านบาท
หากดูกลุ่มที่เข้า SET ราคาเปิดซื้อขายวันแรก “ส่วนใหญ่” ทำได้เหนือราคาไอพีโอ ที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ดังนี้
- SAK : บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 3.70 บาท วันแรกปิด 8.20 บาท +121.62%
- MICRO : บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 2.65 บาท วันแรกปิด 5.45 บาท +105.66%
- KEX : บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 28 บาท วันแรกปิด 51.25 บาท +83.04%
- STGT : บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 34 บาท วันแรกปิด 60.50 บาท +77.94%
- NCAP : บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 2.20 บาท วันแรกปิด 3.06 บาท +39.09%
ในจำนวนหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนใหม่ใน SET 14 บริษัท มีเพียง 4 บริษัท ที่เปิดซื้อขายวันแรกราคา “ต่ำกว่า” ไอพีโอ ดังนี้
- WGE : บริษัท เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 2.30 บาท วันแรกปิด 1.98 บาท -13.91%
- RT : บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 1.92 บาท วันแรกปิด 1.80 บาท -6.25%
- SO : บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 6.50 บาท วันแรกปิด 6.40 บาท -1.54%
- CRC : บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 42 บาท วันแรกปิด 41.75 บาท -0.60%
ขณะที่สถิติราคาตั้งแต่ไอพีโอถึงปัจจุบัน (วันที่ 25 ธันวาคม 2563) หุ้นในกลุ่ม SET “ส่วนใหญ่” ราคายังบวก โดยเฉพาะหุ้นถุงมือยาง มาร์เก็ค แคป “แสนล้าน” อย่าง STGT จากราคาไอพีโอ 34 บาท ขยับขึ้นมา 72 บาท +111.76% และ KEX เคอรี่ เอ็กซ์เพรส น้องใหม่ในเครือ BTS ไอพีโอส่งท้ายปี ราคายังบวกอยู่ที่ 49.50 บาท หรือ +76.79%
ส่วนกลุ่มที่ราคาลดลง กลายเป็นหุ้นค้าปลีกของตระกูลจิราธิวัฒน์ CRC จากราคาไอพีโอ 42 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 33 บาท หรือ –21.43%
ฟากหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนใหม่ในตลาด MAI 12 บริษัท มูลค่าระดมทุน 3,779 ล้านบาท มูลค่าเสนอขาย 4,035 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 15,184 ล้านบาท มีจำนวน 9 บริษัทปิดวันแรกราคาเหนือไอพีโอ ที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ IIG : บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มเทคโนโลยี ราคาไอพีโอ 6.60 บาท ปิดวันแรก 19.80 บาท +200% เช่นเดียวกับ SICT : บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ราคาไอพีโอ 1.38 บาท ปิดวันแรก 4.14 บาท +200%
ปี 2020 ยังเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยทำสถิติ Circuit Breaker หรือ การพักซื้อขายหุ้นชั่วคราว ถึง 3 ครั้ง
คือในวันที่ 12 มีนาคม 2563 และวันที่ 13 มีนาคม 2563 เป็นครั้งแรกที่ใช้ Circuit Breaker 2 วันติดกัน จากความกังวลวิกฤติโควิดและสงครามน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย โดยตลาดหุ้นลดลง 10% ทำการหยุดซื้อขาย 30 นาที
ครั้งที่ 3 ของปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นการใช้ Circuit Breaker เกณฑ์ใหม่ หลังดัชนีตลาดหุ้นลดลง 8% (จากเดิมใช้เกณฑ์ลดลง 10%) โดยหยุดซื้อขาย 30 นาที
การใช้มาตรการ Circuit Breaker ในปี 2563 ถือเป็นสถิติในรอบ 12 ปี ของตลาดหุ้นไทย ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เพียง 3 ครั้ง ในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 กรณีแบงก์ชาติ ออกมาตรการกันสำรอง 30% ป้องกันค่าเงินบาท ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2551 และวันที่ 27 ตุลาคม 2551 จากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
8. 5G ประมูลแล้ว แต่รอความพร้อมของตลาด
เมื่อช่วงต้นปี 2020 การประมูลคลื่นความถี่ 700MHz, 2600MHz และ 26GHz เพื่อนำไปเปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย นอกจากจะทำเงินเข้ารัฐได้มากกว่าแสนล้านบาทแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยคว้าโอกาสของการเป็นผู้นำด้านการให้บริการ 5G เป็นรายแรก ๆ ของโลก
การล็อกดาวน์จากวิกฤติ Covid-19 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี ก็ทำให้เกิดความล่าช้าด้านการติดตั้งเครือข่ายไปพอสมควร แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาดังกล่าวก็ทำให้เกิดภาพอีกด้านอย่างการนำเครือข่าย 5G ลงมาช่วยแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขขึ้นมาแทน โดยเราได้เห็นภาพของผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างเอไอเอส และทรู เข้าไปติดตั้งเครือข่าย 5G ในโรงพยาบาลที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วย Covid-19 รวมถึงการส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในสถานที่ต่าง ๆ
การผลักดัน 5G เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครือข่ายเพื่อให้บริการ 5G ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และในเขต EEC รวมถึงการเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G จำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ แม้จะยังไม่ใช่ภาพของเครือข่ายอัจฉริยะที่ทุกฝ่ายอยากเห็น แต่มันก็น่าจะเพียงพอสำหรับปี 2020 ที่ทำอะไรไม่ได้มากนัก
ข่าวดีก็คือ นับจากปี 2021 เป็นต้นไป น่าจะเป็นการเริ่มต้นศักราชของ 5G อย่างเป็นทางการ เห็นได้จากการคาดการณ์ของ Ericsson Mobility Report 2020 ที่ระบุว่า ภายในปี 2026 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย จะมีผู้ใช้บริการ 5G ราว 32% ซึ่งไม่ต่างจากการคาดการณ์ของ Frost & Sullivan บริษัทที่ปรึกษาและการวิจัยยักษ์ใหญ่ที่มองว่า ภายในปี 2025 การใช้งานเครือข่าย 5G กว่า 50% จะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและสหรัฐอเมริกา
ส่วนตัวเลขรายได้จากเครือข่าย 5G จะเริ่มเห็นเป็นกอบเป็นกำก็คือช่วงปี 2030 โดย Ericsson Mobility Report คาดว่า บริการดิจิทัลต่าง ๆ เช่น AR/VR บริการเชื่อมต่อในรถยนต์ บริการด้านความบันเทิง โฆษณา ฯลฯ จะทำเงินได้สูงถึง 131,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
9. สงครามการค้า-เลือกตั้งประธานาธิบดี-การพลีชีพของ TikTok
หากมองไปรอบ ๆ ตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2020 ถือเป็นปีที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาสร้างแรงกดดันต่อจีนแผ่นดินใหญ่อย่างหนัก ทั้งการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตั้งแต่ต้นปี ไปจนถึงการไล่บี้ธุรกิจจีนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยสองบริษัทจีนที่ตกเป็นเป้าหมายสำคัญของสหรัฐอเมริกาก็คือ หัวเว่ย และ TikTok ไม่ว่าจะเป็นการกดดันให้ชาติพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปฏิเสธการซื้ออุปกรณ์เครือข่าย 5G จากหัวเว่ย รวมถึงมีการห้ามบริษัทต่าง ๆ ขายชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ด้วย (สหรัฐอเมริกาเพิ่งมาผ่อนปรนให้มีการขายชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้กับหัวเว่ยได้มากขึ้นในระยะหลัง แต่ก็เป็นชิปทั่วไป เช่น หน่วยความจำ ฯลฯ ไม่ใช่ชิปประมวลผลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตสมาร์ทโฟน)
ส่วน TikTok แพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นก็เจอแรงกดดันไม่แพ้กัน กับข้อกล่าวหาเรื่องความมั่นคงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อ้างว่า อาจมีการส่งข้อมูลของผู้ใช้งานชาวอเมริกันกลับไปจีนแผ่นดินใหญ่ จนนำไปสู่การบังคับขายกิจการ
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่จะเกิดการบังคับให้ TikTok ขายกิจการ มีรายงานว่า ทีมหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกผู้ใช้ TikTok ในสหรัฐอเมริกาหลอกจนเสียกระบวนในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรกที่เมือง Tulsa รัฐโอกลาโฮมา ด้วยการสร้างแคมเปญบน TikTok ให้คนมาลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมปราศรัยหาเสียงครั้งแรกของทรัมป์ด้วยชื่อปลอม และสุดท้ายก็พร้อมใจกัน “เท” ไม่เข้าร่วมงานจนที่นั่งใน BOK Center Arena ว่างเปล่าเกินครึ่ง
ความเสียหน้าครั้งนั้นได้ทำให้ Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ หยิบประเด็นเรื่องการแบนแอป TikTok เพื่อความมั่นคงของประเทศขึ้นมาพูดอย่างจริงจัง ซึ่งผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้มีหลายบริษัทแสดงความสนใจเข้าเจรจาขอซื้อ TikTok ไม่ว่าจะเป็น Walmart, Oracle, Microsoft, Twitter ฯลฯ และในท้ายที่สุด ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ก็ต้องจำยอมขายหุ้น 12.5% ของ TikTok Global ให้กับ Oracle และหุ้นอีก 7.5% ให้กับ Walmart รวมถึงได้ Oracle รับหน้าที่เป็น “พันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้” ของ TikTok เพื่อให้การเก็บข้อมูลอยู่ในสหรัฐอเมริกาตามที่รัฐบาลต้องการ เพียงแต่ดีลนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับการอนุมัติจากทางการจีนก่อน ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการอนุมัติใด ๆ ออกมา จึงเป็นไปได้ว่าทุกอย่างจะถูกยกยอดไปเจรจากันในปี 2021 ต่อไป
อย่างไรก็ดี ทั้ง Trade War และ Tech War ที่โดนัลด์ ทรัมป์ใช้ความพยายามกดดันมาตลอดทั้งปี 2020 รวมถึงใช้มันเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงเลือกตั้งของตนเองก็ให้ผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ เพราะสุดท้ายเขาก็ต้องพ่ายแพ้ต่อ “โจ ไบเดน” คู่แข่งวัย 77 ปี จากพรรคเดโมแครตในที่สุด (โจ ไบเดนมีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง Electoral Votes รวมเกิน 270 คะแนน ซึ่งถือเป็น Electoral Votes เกินครึ่งของทั้งหมด) โดยโจ ไบเดน จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 และต้องสานต่อภารกิจต่าง ๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์สร้างเอาไว้ตลอดทั้งปีนี้ต่อไป
10. ปรากฏการณ์ #แบนเนชั่น ถึงผู้ประกาศดัง “ลาจอ” ค่ายบางนา จับตาช่องใหม่ TOP TV
ปี 2020 สถานการณ์ร้อนแรงแข่งกับโควิด ก็ต้องยกให้เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและม็อบราษฎร ความคิดเห็นที่แตกต่างของสังคมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย กลุ่มที่สนับสนุนการชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพกับกลุ่มที่เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิ
การเกาะติดรายงานข่าวของสื่อหลายสำนักถูกตั้งคำถาม จากกลุ่มที่เห็นต่าง จนกลายเป็นกระแส “แบน” สนั่นโซเชียล ที่โดนแรงก็ต้องยกให้สื่อค่ายบางนากับ #แบนเนชั่น สะเทือนสปอนเซอร์ช่องจนบางรายต้องออกมาแสดงจุดยืนระงับสนับสนุนชั่วคราว
ไม่เพียงความคิดเห็นที่แตกต่างของสังคมต่อสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่ “จุดยืน” การเสนอข่าวม็อบ ในองค์กร Nation TV เองก็เริ่มเห็นต่างกัน นั่นจึงเป็นที่มาของการประกาศ “ลาออก” ของคนข่าวตั้งแต่ผู้บริหาร สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ตามต่อด้วยทีมผู้ประกาศข่าวดังอีก 7 คน
นำโดยพิธีกรข่าวชื่อดัง โลโก้ช่องเนชั่นทีวี กนก รัตน์วงศ์สกุล โบกมืออำลาชีวิตการทำงาน 24 ปี กับเครือเนชั่น พร้อมด้วยคู่หู ธีระ ธัญไพบูลย์ รวมทั้งผู้ประกาศข่าวคนดัง ปอง-อัญชะลี ไพรีรัก, สันติสุข มะโรงศรี โดยทั้งทีมเตรียมเปิดช่องทีวีดาวเทียม TOP TV เริ่มออกอากาศ มกราคม 2564 หลังจากเจรจากับช่อง New TV ไม่ลงตัว
ฟาก เนชั่นทีวี “ฉาย บุนนาค” ต้องประกาศปรับโครงสร้างใหม่ ดึงอดีตผู้บริหารเก่า NBC อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กลับมานำทัพอีกครั้ง กับเป้าหมายทำให้ Nation TV กลับสู่สถานีข่าวมืออาชีพ อีกครั้ง พร้อมเผยโฉมผังข่าวเฟสแรกให้เห็นไปแล้วกับทัพ 8 ผู้ประกาศข่าวใหม่ จากหลายค่าย นำโดย “ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า” คนข่าวรุ่นใหม่ ประสบการณ์กว่า 10 ปี ที่จะมาจัดรายการข่าวเช้า Good Morning Nation เวลา 06.00-08.30 น. จันทร์-ศุกร์ เริ่ม มกราคม 2564
ปี 2564 ยังต้องจับตาดูทั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่บอกไว้แล้วว่ายังมีภาคต่อ และการฟาดฟันของสนามสื่อ บนจุดยืน ที่ดูเหมือนว่าแบ่งขั้วกันชัดเจน จึงต้องอยู่ที่วิจารณญาณของผู้ชมในการเสพข้อมูลอย่างรอบด้าน
ทั้งหมดนี้ คือบทสรุปความเปลี่ยนแปลงในปีแห่งวิกฤติ Covid-19 และเรื่องราวที่สุดปรากฎการณ์ธุรกิจ แม้ปี 2020 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่สถานการณ์โควิดยังไม่จบลงง่ายๆ ปี 2021 จึงเป็นอีกปีที่ต้องเจอกับความท้าทายบนความไม่แน่นอน และไม่มีใครรู้ว่าเจ้าไวรัสร้ายที่จะจบลงเมื่อไหร่
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand