ชื่อของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” คนส่วนใหญ่อาจจดจำชายคนนี้ ทั้งในฐานะอดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และอดีตผู้บริหารมืออาชีพ ที่ร่วมงานกับองค์กรชั้นนำ ทั้งของไทย และระดับโลกมาแล้วมากมาย
โดยเฉพาะในบทบาทการเป็นผู้บุกเบิก “บริษัท ฟริโต-เลย์” ในประเทศไทยเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ปลุกปั้นแบรนด์มันฝรั่งเลย์ จนแจ้งเกิดในไทยได้สำเร็จ และกลายเป็นผู้นำตลาดมันฝรั่งในไทยถึงทุกวันนี้ ก่อนย้ายไปนั่งตำแหน่งซีอีโอที่ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” จากนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมที่ “ทีเอ ออเร้นจ์”
ต่อมาได้เปลี่ยนเส้นทางจากผู้บริหารมืออาชีพ ไปสู่ถนนทางการเมือง โดยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย (สมัยแรก ปี 2547 – 2551 และสมัยที่สอง ปี 2551)
หลังจากโลดแล่นอยู่บนเส้นทางการเมืองมาได้สักพัก เมื่อ 7 ปีที่แล้ว “อภิรักษ์” ได้ตัดสินใจหวนคืนแวดวงธุรกิจ แต่ครั้งนี้เขาเลือกที่จะสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมาเอง ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจ SME โดยกลุ่มธุรกิจที่เลือกทำ คือ ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
ด้วยการก่อตั้ง “บริษัท วีฟู้ดส์” (ประเทศไทย) จำกัด (V Foods) ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพด น้ำนมข้าวโพด และอาหารสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ “วี คอร์น” (V Corn) และ “วี ฟาร์ม” (V Farm)
แน่นอนว่าการหวนคืนเส้นทางธุรกิจในวันนี้ ในฐานะผู้ประกอบการ SME ย่อมมีทั้งข้อดี และข้อจำกัดที่การอยู่ในองค์กรใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และเงินทุน
มาเปิดมุมมองธุรกิจ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” กับการปลุกปั้นบริษัทวีฟู้ดส์ ให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยยักษ์ใหญ่มากมาย และแผนธุรกิจจากนี้ กำลังทรานส์ฟอร์มไปสู่ “Plant-based Food Company” และเป้าหมายผลักดันแบรนด์ “V Farm” ให้ไปไกลระดับเอเชีย
เมื่อเป็น Entrepreneur เต็มตัว! ไม่หวั่นธุรกิจอาหาร – เครื่องดื่มมีแต่ Conglomerate ยักษ์ใหญ่
“วี ฟู้ดส์” เลือกปักธงในตลาดอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยก้าวแรกเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยสินค้า “น้ำนมข้าวโพด” และ “ข้าวโพดหวานพร้อมรับประทาน” ภายใต้แบรนด์ “วี คอร์น” (V Corn) โดยส่งเสริมการวิจัย และการปลูกสายพันธุ์ Golden Sweet Corn ให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งใช้ระบบ Contract Farming แหล่งวัตถุดิบหลักมาจากจังหวัดกาญจนบุรี และภาคเหนือตอนล่าง
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของวี ฟู้ดส์ โฟกัสเซ็กเมนต์ “Urban Healthy Lifestyle” มากกว่าจะทำตลาด Mass
เหตุผลที่เลือกเข้าสู่ตลาดอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยโฟกัสที่ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานพร้อมรับประทาน และน้ำนมข้าวโพด คุณอภิรักษ์ เล่าว่า เนื่องจากตนเองจบสาย Food Science บวกกับอยากพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ Healthy Lifestyle และใช้วัตถุดิบสนับสนุนเกษตรกรไทย ซึ่งข้าวโพดมีคุณประโยชน์ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
“ผมเรียน Food Science ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว พอมาทำธุรกิจ เราอยู่ในธุรกิจอาหารมาเยอะมาก เลยอยากทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ Healthy Lifestyle และเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมเกษตรกร
ผลิตภัณฑ์ข้าวโพด คนไทยรู้จักดี แต่ถ้าจะซื้อ ต้องไปตามตลาดสด หรือร้านรถเข็น ในขณะที่น้ำนมข้าวโพด ส่วนใหญ่เป็นสินค้า OTOP และถ้าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ผลิตรูปแบบ UHT ในขณะที่ของวี ฟู้ดส์ทำรูปแบบพาสเจอร์ไรส์ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับสินค้าที่มีอยู่ในตลาด เราตอบโจทย์ความสะดวก สดใหม่ ปลอดภัย มาตรฐาน” คุณอภิรักษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพที่มาของความสนใจธุรกิจอาหาร
ส่วนช่องทางจำหน่าย “วี ฟู้ดส์” เลือกเข้าไปวางในเซเว่น อีเลฟเว่น ถือเป็น Strategic Partner ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะมองว่าเซเว่น อีเลฟเว่น มีเครือข่ายสาขากว่า 10,000 สาขา ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และวี ฟู้ดส์ ไม่ต้องจ้างทีมเซลล์ในหาช่องทางจำหน่าย และกระจายสินค้าเข้าร้านค้าอีก
นอกจากช่องทางเซเว่นฯ แล้ว “วี ฟู้สด์” ได้เพิ่ม SKU เพื่อขยายไปยังช่องทางขายอื่น เช่น Modern Trade อื่น ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และจำหน่ายผ่านออนไลน์
“แน่นอนว่าจากที่เคยทำงานกับองค์กรใหญ่มาก่อน กับการเป็น Entrepreneur ย่อมแตกต่างกัน ซึ่ง Corporate มีความได้เปรียบตรงที่มีความพร้อมด้านต่างๆ ยิ่งผมอยู่แบรนด์จาก Global Company เวลาทำธุรกิจ สร้างการเติบโต จะทำได้เร็ว
ในขณะที่การเป็น Entrepreneur หรือผู้ประกอบการ SME อาจมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องเงินทุน เรื่องคน อย่างตอนผมตั้งบริษัทวี ฟู้ดส์ใหม่ๆ บุคลากรน้อยมาก ผมได้คนที่เคยทำงานด้วยกันสมัยอยู่ฟริโต-เลย์ ในเครือเป๊ปซี่โคมาช่วย แต่ส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษาแบบ Part time ขณะเดียวกันเรามีพนักงานประจำ และต้องสร้าง Corporate Culture เองในช่วง 6 – 7 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้การมาทำธุรกิจเอง”
แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในไทย มีองค์กรใหญ่ที่พยายาม penetrate แบรนด์ และสินค้าให้ครอบคลุม และเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ดังนั้นหัวใจสำคัญของการเป็น SME ในอุตสาหกรรมนี้ จึงต้องสร้าง Differentiate และโฟกัส Market Target ของแบรนด์ให้ชัดเจน
สำหรับประเด็นนี้ คุณอภิรักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่ค่อยห่วงว่าในธุรกิจนี้ มีรายใหญ่ เพราะตลาดใหญ่มาก และคนสมัยใหม่ Segmentation มากขึ้น เราสามารถเจาะกลุ่มเฉพาะได้ แม้เราขายอาหาร และเครื่องดื่ม แต่เราเซ็กเมนต์ที่กลุ่มสุขภาพ และเซ็กเมนต์กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของผลิตภัณฑ์ในเครือวี ฟู้ดส์ คือ กลุ่ม Urban Healthy Lifestyle เพราะฉะนั้นถ้าเป็นบริษัทใหญ่ จะทำตลาดแบบ Mass ขายทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล แต่เราเจาะเฉพาะกลุ่ม
และอยาก Encourage คนรุ่นใหม่ๆ มาเป็น Entrepreneur มากขึ้น เพราะจะเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งคนรุ่นใหม่ยุคนี้สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
ในขณะที่ยุคผม จบมา ไต่เต้ากว่าจะมาเป็นพนักงาน กว่าจะขึ้นมาเป็น Manager, Director จนกระทั่งมาเป็น CEO ของผมถือว่าเร็ว แต่ก็ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี แต่คนรุ่นใหม่ เริ่มทำธุรกิจ อย่างสตาร์ทอัพ และเป็น CEO ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30”
ทรานส์ฟอร์มสู่ “Plant-based Food Company” – รีแบรนด์สินค้าในพอร์ตฯ เป็น “V Farm” และลงทุนในสตาร์ทอัพ “More Meat”
แผนธุรกิจนับจากนี้ของ “วี ฟู้ดส์” ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลักคือ
1. รีแบรนด์สินค้าในพอร์ตโฟลิโอ อยู่ภายใต้แบรนด์ “วี ฟาร์ม” (V Farm)
เดิมทีภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวโพดของวี ฟู้ดส์ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “วี คอร์น” (V Corn) ประกอบด้วยข้าวโพดหวานพร้อมทาน ข้าวโพดถ้วย ข้าวโพดฝัก ข้าวโพดตัด 3 ท่อน และน้ำนมข้าวโพด
ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น นอกเหนือจากข้าวโพด ใช้แบรนด์ “วี ฟาร์ม” (V Farm) เช่น เมื่อปีที่แล้วทำตลาดผลิตภัณฑ์ชุดรวมนึ่ง ที่ใน 1 กล่องมีข้าวโพด มันม่วง และฟักทอง
อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับการขยาย Product Portfolio ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดเท่านั้น “บริษัท วี ฟู้ดส์” จึงได้ตัดสินใจรีแบรนด์ให้สินค้าทุกตัวใน Portfolio อยู่ภายใต้แบรนด์ “วี ฟาร์ม”
อย่างล่าสุดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มข้าวโพด ได้เปลี่ยนชื่อจาก “วี คอร์น” เป็น “วี ฟาร์ม” และได้วางจำหน่ายสินค้ากลุ่ม Snack เช่น ลูกเดือยอบกรอบ ภายใต้แบรนด์วี ฟาร์ม ทำให้ต่อไปภาพรวมทั้งบริษัท “วี ฟู้ดส์” – แบรนด์ “วี ฟาร์ม” จะเป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์ข้าวโพด
2. ร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ “More Meat”
“วี ฟู้ดส์” ร่วมทุนกับ “More Meat” ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทย สาย Food Tech ที่ผลิตและจำหน่ายโปรตีนจากพืช หรือ Plant-based Protein ล่าสุดเปิดตัวสินค้าในกลุ่ม Plant-based Ready to Eat เมนูลาบทอด เพราะเห็นแนวโน้มสินค้าโปรตีนจากพืช เป็นที่นิยมทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และอีกหลายประเทศ รวมทั้งเริ่มเห็นในไทยแล้ว
โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ผู้บริโภคหลายกลุ่มสนใจและเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ และการสรรหากระบวนการผลิตอาหารที่มีความยั่งยืน
ที่มาของการร่วมลงทุนใน More Meat มาจากในช่วง COVID-19 ทางวีฟู้ดส์ ได้เปิดช่องทางจำหน่าย “V Farm Delivery” และมีผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat ของแบรนด์ More Meat มาวางจำหน่ายด้วย จากนั้นได้ร่วมกันโปรโมทสินค้า
ต่อมาทั้ง “วี ฟู้ดส์” เห็นว่า “More Meat” มีวิสัยทัศน์ และมุมมองธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน คือ การส่งเสริมเกษตรกร และเครือข่ายชุมชนเกษตรกร จึงได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพรายนี้
“หลังจากเราทำผลิตภัณฑ์ข้าวโพดมา 7 ปี ล่าสุดปีที่แล้วก่อนเกิด COVID-19 เรามองว่าแทนที่จะขายข้าวโพดอย่างเดียว ในขณะที่คนไทยใส่ใจสุขภาพ เราจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร “Clean Food” เป็นผลิตภัณฑ์ชุดรวมนึ่งตรา V Farm และเราเห็นกระแสการรับสุขภาพ กับ Plant-based Food เป็นที่นิยมทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และหลายประเทศ
ตอนนั้นเราคิดว่าจะผลิต Plant-based Food เอง หรือหา Food Tech Startup กระทั่งจังหวะมาเจอกับสตาร์ทอัพ “More Meat” และได้มีโอกาสคุยกัน พบว่ามีวิสัยทัศน์ และมุมมองใกล้เคียงกัน บริษัทฯ จึงได้ลงทุนใน More Meat
การลงทุนของวี ฟู้ดส์ นอกจากดูทิศทางการพัฒนา Plant-based Food แล้ว ทางวี ฟู้ดส์ เอาผลิตภัณฑ์ของ More Meat ไปกระจายช่องทางต่างๆ เช่น ออนไลน์ และซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะเดียวกันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน อย่างล่าสุดคือเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ Plant-based พร้อมรับประทาน “ลาบทอด” ตราวี ฟาร์ม” โดยวางขายทั้งใน Modern Trade ทั้งเชนซูเปอร์มาร์เก็ต แม็คโคร และออนไลน์”
3. ทรานส์ฟอร์มสู่ “Plant-based Food Company”
เป้าหมายใหญ่ของ “วี ฟู้ดส์” คือ ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่การเป็นบริษัท “Plant-based Food” ครอบคลุมทั้งกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม
เหตุผลที่ทำให้ “วี ฟู้ดส์” มุ่งมายังตลาด Plant-based Food & Beverage เพราะเป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก ทั้งในวันนี้ และอนาคต ที่คนให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความยั่งยืนของการผลิตอาหาร
ปัจจุบันตลาด Plant-based Food และ Plant-based Beverage ในไทยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 Category หลักคือ
1. Plant-based Milk เช่น นมทำจากถั่วประเภทต่างๆ เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วพิสทาชิโอ น้ำนมข้าวโพด หรือแม้แต่นมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นนมที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี
2. Plant-based Protein หรือ Plant-based Meat เช่น แบรนด์ Beyond Meat จากสหรัฐฯ
3. Plant-based Meal คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบ Plant-based คาดการณ์ว่าต่อไปกลุ่มนี้จะเป็นตลาดใหญ่ และมีโอกาสเติบโตสูง
“สินค้ากลุ่มน้ำนมข้าวโพดวี ฟาร์มโตขึ้นมาก เกือบ 20% เพราะด้วยเทรนด์ Plant-base มาแรง อย่างปีที่ผ่านมาในตลาดจะเห็นการเติบโตของนมอัลมอลด์ นมถั่ว มาตามกระแส Plant-based Milk ทดแทนคนแพ้นมวัว หรือคนทาน Vegan
เรามองเห็นว่าในต่างประเทศ มีตลาด Plant-based beverage ซึ่งเป็นนมทางเลือก (Alternative Milk) เติบโตเร็วมากๆ และอนาคตจะมีความหลากหลายมากขึ้น และเรามองว่าน้ำนมข้าวโพด มีพื้นที่ที่สามารถโตได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ Plant-based Milk ผู้บริโภคดื่มเพื่อคุณประโยชน์เป็นหลัก”
ขณะที่ Plant-based Meal ในอนาคตวี ฟู้ดส์ จะเปิดตัวเมนูใหม่ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทนเมนูใหม่ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย
“ตอนนี้วี ฟู้ดส์กำลังอยู่ในช่วงทรานส์ฟอร์มมาเป็นบริษัท Plant-based Food จากเดิมเมื่อพูดถึงวี ฟู้ดส์ คนส่วนใหญ่นึกถึงผลิตภัณฑ์ข้าวโพด แต่ปัจจุบันเราขายอาหารสุขภาพอื่นๆ เช่น ชุดรวมนึ่งวี ฟาร์ม และล่าสุดจับมือกับ More Meat พัฒนาสินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่ทำมาจากโปรตีนจากพืช
อนาคตเราจะใช้โปรตีนจาก More Meat มาทำผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานเมนูใหม่ เพื่อพัฒนาเมนูโปรตีน Plant-based ให้มีความหลากหลาย และนอกจากการจับมือกับ More Meat ทำสินค้าอาหารพร้อมรับประทานแล้ว ตอนนี้ทีม R&D ของบริษัทวี ฟู้ดส์ กำลังพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน”
ทั้งนี้ วี ฟู้ดส์ ตั้งเป้ายอดขายปี 2563 อยู่ที่ 200 ล้านบาท แบ่งเป็น
– ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดฝัก ข้าวโพดตัด 3 ท่อน และข้าวโพดถ้วย ในสัดส่วนรายได้กว่า 60%
– น้ำนมข้าวโพด 20%
– ผลิตภัณฑ์ชุดรวมนึ่ง และลาบทอด โปรตีนจากพืช More Meat 20%
ขณะที่ปี 2564 จะรุกสินค้าน้ำนมข้าวโพด และเพิ่มสินค้ากลุ่ม Plant-based Food มากขึ้น
เป้าหมายใหญ่ “Regional Brand”
สเต็ปของการทำตลาด Plant-based Food ของวี ฟู้ดส์ โฟกัสตลาดไทยก่อน แต่ในอนาคต ต้องการปั้นให้แบรนด์ “วี ฟาร์ม” (V Farm) พัฒนาไปสู่ Regional Brand ในเอเชีย
คุณอภิรักษ์ บอกว่า นี่คือ สาเหตุที่วี ฟู้ดส์ทรานส์ฟอร์มเป็นบริษัท Plant-based Food ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มี Shelf Life นานขึ้น หรือเป็นโปรดักต์ไลน์ที่เหมาะกับการจำหน่ายต่างประเทศ
“แนวทาง Regional Brand ของวี ฟาร์ม คือ 1. ด้วยความที่อาหารเทรนด์สุขภาพ หรือ Plant-based เป็นไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่แต่ละประเทศ มีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน และกลุ่มเป้าหมายของเราเน้น Urban Healthy Lifestyle เราสามารถขยายผลิตภัณฑ์เรา ภายใต้แบรนด์ “วี ฟาร์ม” ไปทำตลาด
และปัจจุบันมีการสื่อสารผ่าน Social Media เพื่อให้ผู้บริโภคต่างประเทศ เห็นแบรนด์วี ฟาร์ม ได้รับความนิยมในไทย ทำให้ตลาดต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน อยากให้นำไปขายในประเทศ
ประกอบกับเราร่วมทุนกับ More Meat ซึ่งมีแผนไปต่างประเทศเช่นกัน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ตะวันออกกลาง เวลาไปตลาดต่างประเทศ สามารถเอาทั้งสินค้า Plant-based Food ในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน และกลุ่มอาหารพร้อมปรุง โดยชูจุดจุดเด่น Plant-based Food เมนูอาหารไทย ซึ่งการไปตลาดต่างประเทศ อาจไปหาพาร์ทเนอร์ที่ต่างประเทศ”
คุณอภิรักษ์ เชื่อว่าธุรกิจอาหารและเครืองดื่มของประเทศไทย ยังมีโอกาสโตได้อีกมาก เนื่องจาก
1. ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกวัตดุดิบด้านการเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก
2. อาหารไทย เป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียง
3. สุขภาพ เป็น New Normal ซึ่งเป็น Positioning ของบริษัทวี ฟู้ดส์
4. ในยุคสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่เป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต
สร้างวัฒนธรรมองค์กร Innovation Driven Enterprise – หนุนคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนธุรกิจ
อีกหนึ่งเหตุผลที่ “วี ฟู้ดส์” ลงทุนใน More Meat เพราะต้องการเรียนรู้ Culture ของสตาร์ทอัพ ที่คิดเร็ว ลงมือทำเร็ว เพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กรวี ฟู้ดส์ ไปสู่ Next Generation
“ผมอยู่ในธุรกิจมานานมาก คิดอาจอยู่ในกรอบเดิม เพราะฉะนั้นเราอยากก้าวออกจากกรอบความคิดแบบเดิม และใช้วิธีคิดแบบคนรุ่นใหม่ ซึ่งวันนี้เรากำลังทรานส์ฟอร์มหลายเรื่อง ทั้งรีแบรนด์ดิ้ง, Product Portfolio มาเป็น Plant-based Food และปี 2564 เป็นต้นไปแนวทางของวี ฟู้ดส์ จะโฟกัส Next Generation คือ เราจะให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาท มีโอกาสในการขับเคลื่อนบริษัท”
คุณอภิรักษ์ ขยายความเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่องค์กร SME ควรใช้พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนธุรกิจ
1. ปัญหาหลักของ SME อาจยึดติดกับความสำเร็จในอดีต
พร้อมยกตัวอย่างว่าตนเองมีประสบการณ์เคยอยู่องค์กรใหญ่มาก่อน ทำให้การทำ Business Model แบบเดิม ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้
2. SME มีข้อจำกัด แตกต่างจากบริษัทใหญ่ ที่มีความพร้อมทั้งงบการตลาด งบวิจัยและพัฒนา งบลงทุน ขณะที่ SME หรือ Entrepreneur ต้องทำเองเกือบทุกอย่าง
เพราะฉะนั้นต่อไป “วี ฟู้ดส์” จะขับเคลื่อนด้วยแนวคิด “Innovation Driven Enterprise” (IDE) คือ การใช้นวัตกรรม ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ นำ และ Corporate Purpose “VICTOR” ประกอบด้วย V = Value Added / I = Innovation Driven / C = Customer Driven / T = Teamwork Spirit / R = Responsibility
“จุดที่จะขับเคลื่อน SME ได้ นอกจากคนรุ่นใหม่แล้ว ผมว่ามีองค์กรสมัยใหม่ เรียกว่า IDE คือ Innovation Driven Enterprise คือใช้นวัตกรรมนำ ซึ่งนวัตกรรมในที่นี้ อาจไม่ใช่เป็นเรื่อง R&D อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงไอเดียใหม่ๆ เอามาใช้คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
บริษัทฯ มองว่าคนรุ่นใหม่ น่าจะช่วยทำเรื่องนี้ได้ดี ในขณะที่คนรุ่นเก่ามี Culture บางทีไม่กล้าเสี่ยงบ้าง ยึดติด Status ต่างๆ เพราะฉะนั้นนี่เป็นจุดเปลี่ยนของวี ฟู้ดส์ในปีหน้า ทั้ง Product Portfolio, Culture, Next Generation” คุณอภิรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย