คืนถิ่น BEC มาเมื่อเดือนกรกฎาคม กับภารกิจพลิกองค์กรให้กลับมาทำกำไรอีกครั้ง วันนี้ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” ประกาศวิชั่นใหม่ “ช่อง 3” พร้อมทรานส์ฟอร์ม ไม่ได้เป็นแค่ “ทีวี” อีกต่อไป แต่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ทุกแพลตฟอร์ม กับโอกาสสร้างรายได้จากทุกช่องทาง
ผลประกอบการ BEC มีตัวเลขขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2561 จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อทีวี ที่มีคู่แข่งขันมากขึ้นในยุคทีวีดิจิทัล และมาพร้อมการเติบโตของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้เม็ดเงินโฆษณาทีวีหดตัวลงเรื่อยๆ ในที่สุดปี 2562 บีอีซี ตัดสินใจคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง (ช่อง 13 และ ช่อง 28) เพื่อลดภาระต้นทุน และหันมาโฟกัสช่อง 3 เพียงช่องเดียวให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง
แต่ปี 2563 ยังถือเป็นโจทย์ยากของช่อง 3 เมื่อมีปัจจัยลบหลายอย่าง ทั้งโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งสถานการณ์การเมือง ทำให้รุกตลาดได้ไม่เต็มที่ เมื่อลูกค้าลงโฆษณายังลดค่าใช้จ่าย ทำให้สถานีทีวีเองก็ต้องปรับตัวลดต้นทุนด้วยคอนเทนต์รีรัน หลังผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ไปแล้ว เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในไตรมาส 3 รายการของช่อง 3 ก็กลับสู่ปกติ ตั้งแต่เดือนกันยายน หลังเจอโควิด เอฟเฟ็กต์
วิชั่นใหม่ “ช่อง 3” ผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่
ทิศทางของช่อง 3 หลังจากนี้ คุณสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจะอยู่ภายใต้กลยุทธ์ Single Content Multiple Platform คือการทำคอนเทนต์ 1 ครั้ง หรือมีต้นทุนครั้งเดียว แต่เผยแพร่ได้หลายวินโดว์ สร้างรายได้หลายครั้ง
ในอดีตการทำละคร 1 เรื่อง เริ่มจากออกอากาศผ่านจอทีวี จากนั้นตามด้วยรีรันและดีวีดี แต่ปัจจุบัน ละคร มีช่องทางเผยแพร่หลากหลายผ่าน New Media แพลตฟอร์มใหม่ๆ ทำให้ผู้ชมเข้าถึงรายการทีวีได้ง่ายขึ้น ช่อง 3 จึงมองช่องทาง New Media เป็นโอกาสที่จะเข้าถึงผู้ชมและสร้างรายได้มากขึ้น
“ธุรกิจทีวี มักถูกมองว่าเป็น Sunset ธุรกิจขาลง พฤติกรรมผู้ชมเปิดทีวีลดลง แต่ที่จริงคนยังดูคอนเทนต์ทีวีอยู่ แต่ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม จากอุปกรณ์ที่สะดวกอย่างมือถือ สิ่งที่ช่อง 3 ต้องทำ คือ คอนเทนต์ที่ดี และขยายไปในทุกช่องทาง”
จากยุคแรกช่อง 3 มีวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศไทย มาในยุคนี้ วิชั่นของช่อง 3 เปลี่ยนไป โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) เห็นชอบแล้วว่า “ช่อง 3” ไม่ได้เป็นแค่สถานีโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว แต่ได้วางตัวเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ในกลุ่มละคร วาไรตี้ ข่าว จากจุดแข็งมีความพร้อมด้านบุคลากร ดารานักแสดงระดับ A-List จำนวนมากที่อยู่กับช่อง มีผู้จัดที่เป็นพาร์ทเนอร์กับสถานีมานาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้วิชั่นใหม่เกิดขึ้นจริง
ธุรกิจบริการสตรีมมิ่งระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Netflix Disney+ WeTV Line TV รวมทั้งรายใหม่ๆ ที่เข้ามาทำตลาดไทย ต่างก็ต้องการคอนเทนต์ไทย อีกทั้งการแข่งขันจะทำให้ “ผู้เล่น” เหล่านี้ต้องทำ Original Content ของแต่ละแพลตฟอร์มมากขึ้น นั่นถือเป็นอีกโอกาสของช่อง 3 ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ ที่จะเข้าไปผลิตให้แต่ละรายในอนาคต “วันนี้ดารานักแสดง 70-80% ในวงการเป็นคนที่เกิดจากช่อง 3”
โฟกัส “คอนเทนต์” สร้างรายได้ทุกแพลตฟอร์ม
ช่วงที่ผ่านมาช่อง 3 ไปโฟกัสการพัฒนาแพลตฟอร์มก่อน แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจาก “คอนเทนต์” เพราะคอนเทต์ที่ดีจะทำให้ ช่อง 3 เข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ใช้คอนเทนต์เดิม ต้นทุนเดิมสร้างโอกาสหารายได้ผ่านธุรกิจ New Media ขายลิขสิทธิ์ให้กับแพลตฟอร์ม OTT ที่ต้องการ Local Content
ช่อง 3 ทำละครมา 40 ปี มีละครเก่ากว่า 1,000 เรื่อง เรื่องละ 20-30 ชั่วโมง รวมหลายหมื่นชั่วโมง คอนเทนต์เหล่านี้จะสร้างรายได้ใหม่ให้กับช่อง 3 ทั้งช่องทาง New Media และขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ
ปัญหา “ขาดทุน” ของช่อง 3 มาจากรายได้ทีวี (ออฟไลน์) ลดลง ขณะที่รายได้ฝั่งออนไลน์ และขายลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ทันกันอยู่ดี เพราะนับตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมโฆษณาเม็ดเงินลดลงไปแล้ว 40-50% และมีแนวโน้มจะลดลงไปถึงปี 2566 และคงไม่เพิ่มขึ้นอีก สถานการณ์นี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนให้เจ้าของสื่อทีวีและผู้ผลิต ต้องปรับตัวมาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ให้กับสื่อทีวีเองและไปในทุกแพลตฟอร์ม รวมทั้งขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ หากปรับตัวได้ก็มีโอกาสเติบโตได้
ที่ผ่านมาการขายลิขสิทธิ์ละครในต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างเรื่องล่าสุด ร้อยเล่ห์มารยา ขายลิขสิทธิ์เพื่อออกอากาศพร้อมกัน 10 ประเทศ ดังนั้นต่อไปกลยุทธ์การทำละคร จะมองตลาดต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะ จีน ที่เป็นตลาดใหญ่สุดของช่อง 3 การทำละครจะต้องเลือกดารานักแสดงแม่เหล็กที่ผู้ชมจีนชื่นชอบ นำเสนอเนื้อหาที่ไม่ขัดกับกฎการออกอากาศในประเทศจีน
ปี 2563 รายได้ช่อง 3 มาจากขายโฆษณาทีวี 80% รายได้จาก New Media และการขายลิขสิทธิ์ละครต่างประเทศมีสัดส่วน 20% แต่มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกหลังจากนี้ ปีหน้า แอปพลิเคชั่น 3+ ช่องทางดูรายการช่อง 3 ผ่านทางออนไลน์ จะมีคอนเทนต์ ออนดีมานด์ รูปแบบพรีเมี่ยม จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนในอัตราไม่แพงให้รับชมมากขึ้น รวมทั้งมีฟีเจอร์ที่สามารถพูดคุยกับแบบอินเตอร์แอคทีฟ กับดาราคนโปรดได้ด้วย
“วิชั่นใหม่ของช่อง 3 ไม่ได้มองรายได้อยู่แค่ทีวีเป็นหลักอีกต่อไป แต่จะหาโอกาสจาก New Media และการขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศมากขึ้น ข้อดีของการทำคอนเทนท์ละครทีวี คือลงทุนครั้งเดียว แต่สามารถขายลิขสิทธิ์ได้ทุกช่องทางและตลาดต่างประเทศ”
ปี 2564 ปรับยกแผง “ละคร-ข่าว-วาไรตี้”
สำหรับธุรกิจทีวี ในปี 2564 คอนเทนต์หลักยังอยู่ใน 3 กลุ่ม คือ 1. ละคร ซึ่งเป็นรายได้หลักของช่อง 3 แต่ละปีมีละครใหม่ 30-40 เรื่อง โดยจะปรับแนวทางและวิธีการทำละครไปตามกระแสนิยมของผู้ชม ตามยุคสมัย มีแนวใหม่ๆ อย่าง ละครวาย เข้ามาอยู่ในผังมากขึ้น
2.รายการข่าว แม้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความโดดเด่นด้านข่าวลดลง เพราะมีทีวีดิจิทัลช่องข่าวเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ปี 2564 ฝ่ายข่าวจะปรับวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ ข่าวแต่ละช่วงจะมีกลุ่มผู้ชมชัดเจนขึ้น รวมทั้งผู้ดำเนินรายการข่าวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
3 รายการวาไรตี้ โดยภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีช่วงที่ผ่านมา เป็นรายการวาไรตี้มีเรตติ้งลดลงมากสุดเมื่อเทียบกับ ละครและข่าว เพราะผู้ชมมีช่องทางในการเสพคอนเทนต์บันเทิงผ่านสื่อออนไลน์ หากรายการยังนำเสนอเหมือนเดิม โอกาสที่จะประสบความสำเร็จอาจจะยาก ปี 2564 จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอร่วมกับผู้ผลิตรายการเดิมให้มีความหลากหลายมากขึ้น
แม้ธุรกิจทีวีจะถูกมองว่าอยู่ในช่วง “ขาลง” สินค้าลดงบโฆษณา แต่ไม่ได้หมายความว่าเลิกใช้ หากช่อง 3 มีคอนเทนต์ที่ดี ก็จะเป็นตัวเลือกการใช้งบโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ได้ และทำให้ยังมีเม็ดเงินเข้ามา หลังจากเริ่มพลิกมาทำกำไรได้ในไตรมาส 3 และแนวโน้มน่าจะดีขึ้นในไตรมาส 4 แม้ทั้งปี 2563 ยังต้องขาดทุนอยู่ แต่ปี 2564 อาจจะเห็นการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักได้อีกครั้ง