HomeBrand Move !!ทำความรู้จัก “Extended Producer Responsibility” (EPR) ความรับผิดชอบที่แบรนด์มีต่อโลก-ผู้บริโภค

ทำความรู้จัก “Extended Producer Responsibility” (EPR) ความรับผิดชอบที่แบรนด์มีต่อโลก-ผู้บริโภค

แชร์ :

Extended Producer Responsibility (EPR)

  • United Nations (UN) คาดการณ์ว่าปี 2100 ทั่วโลกจะมีประชากรมากถึง 11,200 ล้านคน จากปัจจุบันกว่า 7,000 ล้านคน
  • World Bank พยากรณ์ว่าภายใน 30 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะทั่วโลกจะอยูที่กว่า 3,400 ล้านตัน และขยะที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งบนบก และในน้ำอย่างมาก คือ “ขยะพลาสติก”

ยิ่งประชากรเพิ่มขึ้น เท่ากับว่าปริมาณการผลิต และการบริโภคสินค้าต่างๆ ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล และตามมาด้วย “ปริมาณขยะ” หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ย่อมส่งผลให้ปัญหาขยะล้นโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในแนวทางปกป้องสิ่งแวดล้อม และช่วยผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขยายออกไปในวงกว้าง คือ แนวคิด “Extended Producer Responsibility” (EPR) คือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผลิต ไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค ที่ผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเก็บรวบรวม หรือรับคืนผลิตภัณฑ์ – บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อคัดแยก แล้วนำไปรีไซเคิล รวมไปถึงกำจัดซากผลิตภัณฑ์

จุดประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะ และเมื่อผู้ผลิตมีหน้าที่รับผิดชอบตลอดทั้งวงจรผลิตภัณฑ์ ย่อมทำให้ผู้ผลิตให้ความสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ของตนเองตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล นำกลับมาใช้ซ้ำ และลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ

landfill

 

จาก “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม” เน้นผลิตจำนวนมาก สู่ยุค “Purpose-Driven” ธุรกิจต้องขับเคลื่อนด้วย 3Ps

นับตั้งแต่ “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม” (Industrial Revolution) ที่เน้นการผลิตแบบ Mass ในปริมาณมาก และผลักดันเข้าสู่ตลาด มาสู่ยุค Product Centric” ผู้ผลิต หรือเจ้าของแบรนด์ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า แต่ทุกอย่างยังคงเป็น Inside-out นั่นคือ แบรนด์ ผลิตสินค้าเพื่อนำเสนอให้ผู้บริโภคฝ่ายเดียว

ต่อมาเปลี่ยนผ่านสู่ยุค “Customer Centric” เมื่อลูกค้าคือศูนย์กลาง ทำให้การผลิตสินค้า การทำตลาด และการสื่อสาร ปรับไปสู่ Outside-in คือ แบรนด์ฟังเสียงผู้บริโภค ทำความเข้าใจผู้บริโภคแต่ละเซ็กเมนต์ นำมาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาสินค้า – บริการให้ตรงกับพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภค

จะสังเกตได้ว่าทั้ง 3 ยุคข้างต้น เส้นทางความรับผิดชอบในการทำธุรกิจขององค์กร/แบรนด์ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ จัดหาวัตถุดิบ เพื่อผลิต – กลางน้ำ คือ กระจายสินค้า และจัดจำหน่าย – ปลายน้ำ คือ ช่องทางการขาย ที่สิ้นสุดถึงผู้บริโภคซื้อสินค้า!!

หลังจากนั้นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขวดแชมพู – คอนดิชั่นเนอร์ ขวดน้ำยาล้างจาน กล่อง หรือถุงใส่ผลิตภัณฑ์ซักผ้า รูปแบบผง หรือน้ำ ขวดน้ำ ขวดซอส และบรรจุภัณฑ์อีกมากมายที่ใช้ห่อหุ้มอาหาร และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน เมื่อใช้/บริโภคหมดแล้ว หรือหมดอายุแล้ว จะลงสู่ถังขยะ จากนั้นรถเก็บขยะมาเก็บไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการกำจัดต่อไป

plastic waste

ทั้งนี้ ปริมาณการผลิต การบริโภค และปริมาณขยะ สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ด้วยเช่นกัน

United Nations (UN) รายงานว่า ในปี 2030 ประชากรทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 8,500 ล้านคน จากปัจจุบันกว่า 7,000 ล้านคน และในปี 2050 จะเพิ่มเป็น 9,700 ล้านคน จากนั้นปี 2100 ทั่วโลกจะมีประชากรมากถึง 11,200 ล้านคน

เพราะยิ่งประชากรเพิ่มขึ้น นั่นเท่ากับว่าปริมาณการผลิต และการบริโภคสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

และเมื่อมีการผลิต และการบริโภคมากขึ้น ย่อมตามมาด้วย “ปริมาณขยะ” เพิ่มขึ้นตามมา หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ย่อมส่งผลให้ปัญหาขยะล้นโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น!

World Bank คาดการณ์ว่าภายใน 30 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะทั่วโลกจะอยูที่กว่า 3,400 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 อยู่ที่กว่า 2,000 ตัน ซึ่งประเภทขยะที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งบนบก และในน้ำอย่างมาก คือ “ขยะพลาสติก”

นักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามสถานการณ์มลพิษจากขยะพลาสติกทั่วโลก เผยรายงานว่า หากทั่วโลกไม่พยายามลดขยะพลาสติก มีแนวโน้มว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2040 จะมีขยะพลาสติกมากถึง 1,300 ล้านตัน จะอยู่ทั้งบนบก และไหลลงสู่มหาสมุทร

Population Growth

แนวทางแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก จำเป็นอย่างยิ่งต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่ขั้นตอน Upstream ไปจนถึงขั้นตอนหลังการใช้งาน ที่ต้องลดผลิต – การใช้พลาสติก ผลิตสินค้า และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เพิ่มการใช้บรรุจภัณฑ์แบบใช้ซ้ำ ปรับปรุงกระบวนการรวบรวมขยะพลาสติก ขยายระบบกำจัดที่ปลอดภัย และที่สำคัญทุกภาคส่วน ทุกคนต้องลงมือทำอย่างจริงจัง

หากทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้คาด Best Scenario ไว้ว่า ปริมาณขยะพลาสติกทั่วโลกในปี 2040 จะอยู่ที่ 710 ล้านตัน

เพราะฉะนั้นในภาคธุรกิจ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิต และกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น ผ่านกลยุทธ์การตลาด และการขายต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเติบโตด้านผลประกอบการ จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อมได้เลย

ดังนั้น จากในอดีตองค์กรหรือแบรนด์ต่างมุ่งด้านผลประกอบการ เป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ในยุคปัจจุบัน และนับจากนี้ไป องค์กร หรือแบรนด์ที่จะดำรงอยู่ได้ ต้องขับเคลื่อนด้วย “Purpose-driven” บนหลักการ 3Ps ประกอบด้วย People, Planet, Profit เพราะเมื่อสังคม – ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอยู่ได้ องค์กร หรือแบรนด์นั้นๆ ก็อยู่ได้

Environment

 

ทำความรู้จัก “Extended Producer Responsibility” (EPR) ขยายขอบข่ายความรับผิดชอบผู้ผลิต-แบรนด์

Extended Producer Responsibility” (EPR) คือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค ที่ผู้บริโภคใช้/บริโภคหมดแล้ว หรือสินค้าหมดอายุการใช้งาน (Post-consumer products) โดยผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ใช้แล้ว หรือที่หมดอายุการใช้งาน

– องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD ให้นิยาม EPR ไว้ว่า เป็นการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ที่ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หมดแล้ว

– หลักการ EPR จึงช่วยลดภาระหน่วยงานภาครัฐ เช่น เทศบาล ที่ต้องจัดเก็บ – คัดแยก – กำจัดขยะ ขณะเดียวกันทำให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น

– เมื่อผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในขั้นตอนหลังการบริโภค/ใช้ ย่อมเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ – บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิล นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ลดการใช้ส่วนประกอบ หรือวัสดุที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณวัสดุที่ต้องส่งไปพื้นที่ฝังกลบ หรือกำจัดด้วยวิธีการอื่น

ยกตัวอย่างเช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปัจจุบันผู้ผลิตใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือบรรจุภัณฑ์นำกลับมาใช้ซ้ำ ก็ต้องเก็บรวบรวม หรือรับคืนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เพื่อคัดแยก นำไปรีไซเคิล หรือหากเป็นบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เพื่อนำกลับมาใช้ในครั้งต่อๆ ไป

– แนวทาง EPR ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กร หรือแบรนด์นั้นๆ ที่แสดงความรับผิดชอบตลอดทั้งวงจรชีวิตสินค้า และบรรจุภัณฑ์

– สร้าง Demand ให้กับผู้บริโภค เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อ/ใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

– แนวทาง EPR เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) เติบโต

Recycled Plastic

 

“ยูนิลีเวอร์” กับวิถี Circular Economy ใช้พลาสติกรีไซเคิล และวัสดุทดแทน

หนึ่งในแผน Purpose-driven ของยักษ์ใหญ่ FMCG อย่าง “ยูนิลีเวอร์” (Unilever) มีคำมั่นสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2025 ดังนี้

– ลดการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic)

– รวบรวมและแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่บริษัทฯ จำหน่ายไป

– บรรจุภัณฑ์พลาสติกของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ในเครือทั้งหมด ต้องถูกออกแบบให้สามารถรีไซเคิล หรือย่อยสลายได้

– เพิ่มการใช้พลาสติกที่รีไซเคิลจากพลาสติกที่ผ่านการใช้งานโดยผู้บริโภคมาแล้ว (Post-consumer Recycled : PCR) ให้ได้อย่างน้อย 25%

seventh generation_unilever

Photo Credit : Seventh Generation

เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าว “ยูนิลีเวอร์” ได้วางแนวคิดใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในพอร์ตโฟลิโอ ภายใต้ 3 กรอบการดำเนินงานคือ

Less Plastic” คือ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมสินค้าที่ลดการใช้พลาสติก

เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรเข้มข้น Comfort เพื่อลดการใช้น้ำ และลดขนาดบรรจุภัณฑ์ แปรงสีฟันแบรนด์​ Signal ออกแบบให้หัวแปรงเปลี่ยนได้ โดยที่หัวแปรงผลิตมาจากพลาสติก PCR แบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผม Beauty and Planet พัฒนาสูตรเข้มข้น ที่จำนวนการใช้งานเท่ากับขวดขนาดปกติ แต่ใช้พลาสติกน้อยลง 50%

Better Plastic” ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล

เช่น แบรนด์​ Dove ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล 100% โดยปัจจุบันเริ่มวางจำหน่ายบรรจุภัณฑ์นี้ที่อเมริกา และยุโรปแล้ว​ ผลิตภัณฑ์ล้างจาน Sunlight เปลี่ยนมาเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล 100% แล้วเช่นกัน

หรือในเยอรมนี บรรจุภัณฑ์แบรนด์ Seventh Generation ได้ใช้ Local Sourcing พลาสติกรีไซเคิลจากเมืองฮัมบูร์ก บรรจุภัณฑ์แบรนด์ Magnum ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลที่เป็น Food Grade และแบรนด์ OMO (Persil) รีลอนซ์น้ำยาซักผ้า ทั้งบรรจุภัณฑ์ และสูตรช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยขวดสามารถรีไซเคิลได้ 100% และวัสดุที่นำมาทำขวด ก็มาจากพลาสติกรีไซเคิล 50%

Sunlight-Recycled Plastic

No Plastic” ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมสินค้า ไม่ใช้พลาสติก (Zero Plastic)

ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมสินค้า ไม่ให้มีการใช้พลาสติก และหันไปใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น ขวด/กระป๋องอลูมิเนียม แก้ว​ กระดาษ

เช่น Seventh Generation เปิดตัวบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียม พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมสินค้า ให้อยู่ในรูปแบบเม็ด และรูปแบบผง เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างจาน และผลิตภัณฑ์ซักผ้า แบรนด์ชา TG Tips เปิดตัวถุงชาย่อยสลายได้

seventh generation_unilever

Photo Credit : Seventh Generation

 

The Body Shop” รับซื้อขยะพลาสติกจากคนเก็บขยะ

ตามที่กล่าวข้างต้นถึงแนวคิด Extended Producer Responsibility หนึ่งในขั้นตอนที่ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบคือ การเก็บรวบรวม หรือรับคืนซากผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว หรือหมดอายุการใช้งานแล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิล

ในขั้นตอนการเก็บรวบรวม หรือรับคืน เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับองค์กร หรือแบรนด์นั้นๆ แต่ผู้ที่มีบทบาทในการรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล คือ “คนทำอาชีพเก็บขยะ”  

The Body Shop” แบรนด์ความงามสัญชาติอังกฤษ ปัจจุบันอยู่ในเครือ Natura & Co กลุ่มบริษัทเครื่องสำอาง Multi-brand ที่ได้ซื้อธุรกิจ The Body Shop เมื่อปี 2017 ได้กำหนด Brand Purpose อย่างชัดเจนในการใช้บรรจุภัณฑ์ ทำมาจาก “พลาสติกรีไซเคิล”​ จึงได้จับมือกับ Plastics For Change” องค์กรเพื่อสังคมที่ต้องการใช้ขยะพลาสติก เป็นทรัพยากรลดปัญหาความยากจน และแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก ด้วยการช่วยให้คนเก็บขยะ ได้รับค่าตอบแทนจากการขายขยะพลาสติกอย่างยุติธรรม โดยเริ่มต้นที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย

โดยขยะพลาสติกที่ถูกรวบรวมไว้ จะถูกส่งไปให้กับผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ที่ต้องการนำพลาสติกใช้แล้ว ไปรีไซเคิลผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง

Plastics-For-Change-x-The-Body-Shop

Photo Credit : Facebook Plastics For Change

Mark Davis ผู้ดำเนินโครงการ Community Fair Trade ของ The Body Shop กล่าวว่า บริษัทต้องการบรรจุภัณฑ์ขวดที่ดีที่สุด ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม ก็เหมือนกับที่เราคัดสรรวัตถุดิบ เช่น Shea, Brazil Nut, Mango เพื่อนำมาทำเป็นส่วนผสมของสินค้า เพราะฉะนั้นเมื่อคนเก็บขยะในเมืองบังกาลอร์ สามารถซัพพลายวัตถุดิบขยะพลาสติก เพื่อทำให้ผู้ผลิต หรือแบรนด์ต่างๆ นำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลคุณภาพดี ผู้ผลิตควรให้ราคาขยะพลาสติกที่เป็นธรรม เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งขององค์กร และแบรนด์ระดับโลก ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เริ่มขยับมายังแนวทาง “Extended Producer Responsibility” (EPR) มากขึ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อโลก สังคม สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพราะการดำรงอยู่ของธุรกิจทั้งในวันนี้ และอนาคต การมุ่งแต่สร้างผลกำไรสูงสุดไม่ใช่คำตอบของความยั่งยืนอีกแล้ว 

 

 

 

Source 

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like