เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ไตรมาสที่เป็นความหวังของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและที่พัก หลังจากต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจต้องสูญรายได้อย่างมหาศาล ทำให้ไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงของการเดินทางท่องเที่ยว กอปรกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ภาครัฐปล่อยออกมา ผู้ประกอบการจึงคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น เพื่อชุบชีวิตธุรกิจโรงแรมและที่พักกลับมาฟื้นตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงสำรวจสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมและที่พัก พร้อมพฤติกรรมการเลือกที่พักของนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ต่อเนื่องถึงปี 2564 เพื่อให้ธุรกิจได้รับมือกับพฤติกรรมนักเดินทางที่เปลี่ยนไป
พิษโควิด ทุบโรงแรม-ที่พักครึ่งปีแรกกระอัก
ปี 2563 เป็นปีที่ธุรกิจโรงแรมและที่พักต้องเจอมรสุมลูกโต เพราะนอกจากการเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจหดตัวแล้ว ยังต้องเจอกับพิษร้ายจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างสาหัส สะท้อนภาพชัดจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงเป็นจำนวนมากเกือบเป็นศูนย์ จากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ จนทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเป็นจำนวนมากเกือบเป็นศูนย์ จากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็หดตัวลง เพราะต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านเช่นกัน
ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกจึงสูญโอกาสในการสร้างรายได้จากการพักแรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยเป็นมูลค่าประมาณ 2.56 แสนล้านบาท และหากดูจากรายได้ของกลุ่มตัวอย่างในธุรกิจโรงแรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่า เฉลี่ยหดตัวลงสูงถึง 53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ที่อัตราการเข้าพักแรมเฉลี่ยทั่วประเทศเหลือเพียง 7%
โดยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 นี้ และต่อเนื่องไปยังปี 2564 แม้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัว แต่ธุรกิจโรงแรมเองก็ยังมี ข้อจำกัด สูง เนื่องจากลูกค้ายังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังมีจำนวนที่จำกัด ตามการผ่อนปรนของทางการให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาพำนักระยะยาวประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งคาดว่ากว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวอาจจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2562 ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการเข้าพักแรมในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังเฉลี่ยต่ำกว่าระดับ 40% โดยคาดว่าจะสะท้อนกลับมายังรายได้ของธุรกิจโรงแรมและที่พักที่ถึงแม้จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้วเมื่อเทียบกับช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการ Lockdown แต่ยังต่ำกว่าระดับปกติก่อนโควิด-19 มาก
ที่พักล้นตลาด แข่งเดือดดั้มราคา แนะ 3 กลยุทธ์ ประคองธุรกิจ
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ จำนวนที่พักที่มีสูงกว่าความต้องการของนักท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงโดยเฉพาะการที่กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักระดับ 4 ดาว ลงมาทำแพคเกจราคาพิเศษเพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการ เห็นได้จากค่าห้องพักที่ขายได้ (เฉลี่ย) ของสถานพักแรมทั่วประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปรับลดลงประมาณ 22.3% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่การแข่งขันด้านราคาจะมีความเข้มข้นขึ้น
จากปัจจัยดังกล่าว สร้างความท้าทายให้กับธุรกิจโรงแรมและที่พักในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปี 2564 โดยเฉพาะโรงแรมและที่พักในพื้นที่ที่มีจำนวนที่พักสูง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชาวต่างชาติและมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 60 % ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ อาทิ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะหยุดให้บริการชั่วคราวหรือปิดตัวลง
ส่วนโรงแรมและที่พักที่ยังจำต้องเปิดให้บริการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังเผชิญความท้าทายสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีต้นทุนคงที่ในการให้บริการสูง ทำให้จำเป็นต้องหาแนวทางเพิ่มรายได้สุทธิเพื่อให้กิจการอยู่รอดได้ ซึ่งคงไม่มีสูตรสำเร็จ โดยแนะให้ผู้ประกอบการพิจารณาปัจจัยสำคัญใน 3 เรื่อง ดังนี้
1.เพิ่มความยืดหยุ่นในระบบการจัดการและใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
2.เปิดให้บริการในบางส่วนเพื่อลดต้นทุนหากคาดว่ารายได้จากอัตราการเข้าพักในระยะข้างหน้าสูงกว่าจุดคุ้มทุน
3.ปรับการตลาดมาเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยให้มากยิ่งขึ้น
ที่พักต้องสวย-วิวถ่ายรูปต้องดี ปัจจัยเลือกที่พักของนักท่องเที่ยวยุคนี้
ขณะที่พฤติกรรมการเลือกที่พักของนักท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ราคาที่พักเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ต่อการตัดสินใจเลือกที่พัก แต่ในช่วงนี้ จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง มองว่า ราคาที่พัก ความสะอาด และการให้บริการกลับไม่ใช่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกที่พักของนักท่องเที่ยว แต่ปัจจัยด้านอื่นที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญคือ คุณภาพและสภาพแวดล้อมของที่พัก ซึ่งรวมไปถึงมุมของสถานที่พักที่มีจุดขายที่จะสร้างความประทับใจและมีผลต่อประสบการณ์ของคนที่มาพัก
โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในช่วงอายุ 25-36 ปี (Gen Y) จะเลือกที่พักที่มีการตกแต่งสวยงาม เอื้อต่อการถ่ายรูป มากกว่าชื่อเสียงหรือแบรนด์ของโรงแรม ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เข้าพัก แต่ยังมีผลทางอ้อมในการช่วยประชาสัมพันธ์โรงแรมจากการที่ภาพถูกแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ ยังพบว่า ช่องทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อ Travel Journey ของนักท่องเที่ยว โดยเริ่มตั้งแต่การค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย การจองที่พักผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งจากทั้งเว็บไซต์ของผู้ประกอบการโดยตรงเอง หรือการจองผ่านแพลตฟอร์มการจองที่พักออนไลน์หรือ Online Travel Agency ต่างๆ อาทิ Agoda Booking Traveloka เป็นต้น รวมถึงการให้คะแนนและรีวิวที่พักหลังจากการเข้าพัก ส่งผลให้การบริหารจัดการช่องทางออนไลน์อย่างรวดเร็วและทั่วถึงนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักในปัจจุบัน