HomeFinancial7 ประเด็นบทสรุปศูนย์วิจัยกสิกรไทยกับเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ยังฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอน

7 ประเด็นบทสรุปศูนย์วิจัยกสิกรไทยกับเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ยังฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอน

แชร์ :

Thailand GDP 2021

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand
http://www.number24.co.th/

บทสรุปเศรษฐกิจปี 2563 คือ อาการสาหัสจากโควิด-19 แม้มีข่าวดีโค้งสุดท้ายกับการเริ่มใช้วัคซีนในต่างประเทศ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังคงติดหล่มโควิด ความหวังการฟื้นตัวยังอยู่บนความไม่แน่นอน มาดูคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กับ 7 ประเด็นสำคัญ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. ปี 2564 ฟื้นตัวช้า บนความไม่แน่นอน

สรุปปี 2563 จีดีพีน่าจะ -6.7% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนสิงหาคมที่ -10% หลังไตรมาส 3 ตัวเลขออกมาดีจากมาตรการคลายล็อกดาวน์และไตรมาส 4 ก็ได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐหนุนกำลังซื้อจากโครงการคนละครึ่ง

ส่วน จีดีพี ปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน เติบโต 2.6% ช่วงครึ่งปีแรกยังได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ปัจจัยหนุนการขยายตัวมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน โดยภาพรวมปี 2564 ทุกเครื่องยนต์เศรษฐกิจฟื้นตัวหมดแต่ในอัตราช้า แม้จะเริ่มใช้วัคซีนในประเทศได้ราวครึ่งปีหลัง แต่การฟื้นน่าจะเห็นผลชัดในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 เนื่องจากต้องรอกำลังการผลิตวัคซีนเพื่อกระจายการใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

“แม้มีข่าวดีเรื่องวัคซีน แต่ระหว่างทางก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทั้งกำลังการผลิต การขนส่งมายังภูมิภาคเอเชีย และการกระจายวัคซีนให้เข้าถึงประชากรทั่วประเทศไทย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา” คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าว

gdp 2021 KResearch

2. จับตาปัจจัยเสี่ยงรายไตรมาส – ค่าเงินบาทปีหน้าหลุด 30

ปี 2564 สถานการณ์โควิดยังเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยแต่ละไตรมาสยังเผชิญกับความไม่แน่นอน

– ไตรมาส 1 ต้องจับตาดูเงินบาทแข็งค่า เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อเนื่องทั้งปี 2564 เพราะไม่ว่าตลาดจะผันผวนอย่างไร แต่โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงทำให้เงินตราต่างประเทศยังไหลเข้า โดยสิ้นปีนี้ค่าเงินยังไม่หลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ปี 2564 มองไว้ที่ 29-29.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนการส่งออกไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3% หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว 7% ในปี 2563 โดยทิศทางการฟื้นตัวยังช้ามาจากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มหลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

มาตรการการคลังยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอยู่ ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 2  โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ส่วนมาตรการทางการเงินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายคงที่ 0.50% หรืออาจลดลงได้อีก 0.25%

– ไตรมาส 2  เรื่องวัคซีนยังคงไม่แน่นอน มาตรการการเงินและการคลังยังมีเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

– ไตรมาส 3  คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบวัคซีน ที่ประเทศไทยได้ทำสัญญาซื้อล่วงหน้าไว้กับ Astrazenaca จำนวน 3,000 ล้านโดส โดยจะเริ่มทยอยฉีดให้กับบุคลากรกลุ่มเสี่ยงก่อน

– ไตรมาส 4  การทบทวนทิศทางช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินและมาตรการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

KResearch thai Baht 2021

3. โจทย์ยากแบงก์ชาติ แต่ยังมีกระสุนฟื้นเศรษฐกิจ

ปี 2564 เป็นปีที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนเร็ว หากทยอยเห็นการฟื้นตัวได้บ้างแม้จะอยู่ในอัตราช้า ดังนั้นแบงก์ชาติก็ยังไม่มีความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยยังคงไว้ที่ 0.50%

แต่ด้วยสถานการณ์ยังไม่แน่นอน สิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกทำ คือ การเตรียมความพร้อมผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม ซึ่ง ธปท. เองก็ยังกระสุนหนุนเศรษฐกิจไทย ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ดอกเบี้ยในระบบอยู่ในอัตราต่ำช่วยผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจและรายย่อย

นอกจากนี้สามารถช่วยเรื่องสินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loans) เพื่อช่วยเหลือบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก หรือปรับโครงสร้างหนี้

4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐยังจำเป็น ยังมีอีก 5 แสนล้านฟื้นโควิด

ปี 2564 สิ่งที่ต้องเจอในครึ่งปีแรก ช่วงที่ยังเปิดประเทศไม่ได้มากนัก แต่การพึ่งพิงการใช้จ่ายในประเทศอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะทดแทนเม็ดเงินที่หายไปจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ จึงมีความจำเป็นในการใช้มาตรการทางการคลังต่อไป

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ยังมีอีกราว 5 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจในช่วงโควิด โดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่มเติม ภายใต้สถานการณ์โควิดไม่รุนแรงจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

KResearch DE 2021

5. ปัญหาหนี้ยังสูง

แม้ปี 2564 เศรษฐกิจมีปัจจัยบวกมากกว่าปี 2563 แต่ปัญหาหนี้ และความสามารถในการใช้หนี้ยังคงมีอยู่ต่อไปในปี 2564-2565 หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นก็เป็นผลมาจาก “จีดีพี” หดตัวลง ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลกจากผลกระทบโควิด

ขณะที่ความสามารถในการใช้หนี้ของภาคเอกชน เมื่อดูสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) กิจการในตลาดหลักทรัพย์ที่มีหนี้ต่อทุนมากกว่า 2 เท่า ของแต่และประเภทธุรกิจ พบว่าธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ 8.2% แต่ไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มมาอยู่ที่ 38.5% หรือเกือบ 40% ของธุรกิจท่องเที่ยวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีหนี้ต่อทุนเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดปีนี้ เช่นเดียวกับกลุ่ม อสังหาริทรัพย์ ก่อสร้าง ที่มีหนี้ต่อทุนมากขึ้น

6. NPLs ปี 2564 ยังขยับขึ้น

กลุ่ม SMEs ซึ่งมีสัดส่วน 26% ของสินเชื่อยังเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยสัดส่วน 50% ใช้มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันยังส่งผลรายได้ SMEs อย่างมาก

หากดูสถานการณ์สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPLs) ปี 2563 ที่เจอกับโควิดเต็มๆ คาดการณ์อยู่ที่ 3.35% และยังมีแนวโน้มขยับอีกในปี 2564 ที่ระดับ 3.53% แต่เป็นตัวเลข NPLs ที่อยู่ภายใต้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินการจัดชั้นหนี้ของแบงก์ชาติที่จะหมดอายุในปี 2564

แม้ NPLs จะขยับขึ้นแต่การตั้งสำรองของแบงก์ไทยยังมากกว่า NPLs 1.4-1.5 เท่า โดยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 Capital) ยังอยู่ที่ระดับ 16% เป็นระดับที่แข็งแรงอยู่

“โจทย์สำคัญในภาคการเงิน คือ การดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง” คุณธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าว

KResearch NPL 2021

7. ปีหน้า 3 อุตสาหกรรมอาการยังน่าห่วง

สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปี 2564 คุณเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าแม้อุตสาหกรรมหลักของไทยส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเป็นบวก แต่ก็เป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563 และแต่ละอุตสาหกรรมมีเงื่อนไขที่ต่างกัน เส้นทางการฟื้นตัวจึงไม่เท่ากัน โดย 3 อุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวช้าและยังน่าห่วง

1. ภาคการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศกว่า 31,000 แห่ง มีห้องพัก 1.15 ล้านห้อง ปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 38 ล้านคน สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท ผลประทบโควิดปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปทันทีในไตรมาส 2 ทั้งปีนี้จึงน่าจะทำได้แค่ 7 ล้านคน จากก่อนโควิดตั้งเป้าไว้ถึง 40 ล้านคน นั่นจึงทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย “สาหัส”

แม้มีข่าวดีเรื่องวัคซีน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ท่องเที่ยวปี 2564 กลับมาได้เร็ว เพราะการเปิดประเทศยังต้องทยอยเปิดในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ซึ่งยังมีตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้จากสถานการณ์โควิดและวัคซีน ดังนั้นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564 น่าจะอยู่ที่ 4.5-7 ล้านคน ประเมินกันว่าการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกต้องใช้เวลาถึงปี 2567 จึงกลับสู่ปกติระดับเดียวกับก่อนโควิด

ดังนั้นการอยู่รอดของธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรม ในปี 2564 คงต้องมีมาตรการทางการเงินที่เฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือ เช่น มาตรการการปรับเงื่อนไข Soft Loans การจัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับพักหนี้

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ จังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง 20 อันดับแรก และจังหวัดที่มีห้องพักจำนวนมากถือว่ามีความเสี่ยง เช่น  เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ ที่อาจต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจงเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อประคองธุรกิจส่วนใหญ่ให้มีโอกาสไปต่อได้

KResearch tourism 2021

2. อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ที่ยังมีประเด็นด้านสภาพคล่องตึงตัว ท่ามกลางหน่วยเหลือขายสะสม (สต็อก)ณ สิ้นปี 2564 คาดว่าจะสูงราว 2.2 แสนหน่วย เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัว และต่างชาติยังมาได้จำกัด ทำให้ผู้ประกอบการยังต้องรอบคอบในการเปิดโครงการใหม่ สต็อกเหลือขายมากสุดเป็นคอนโดมิเนียม 41% และทาวน์เฮาส์ 33% ในระดับราคา 1-3 ล้านบาท

3. รถยนต์ แม้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคงผ่านปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ถัดจากนี้อุตสาหกรรมจะเจอโจทย์ที่ต้องยกระดับการผลิตไปสู่รถยนต์แห่งอนาคต อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า มิเช่นนั้นจะสูญเสียศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกได้ ซึ่งภาพนี้ก็นับเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่หากไม่ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร

โดยสรุปแล้วปี 2564 ต้องบอกว่าปัจจัยบวกยังมีมากกว่าปี 2563 โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่เช่นกัน และปัจจัยบวกที่มียังไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นตัวเลขบวกในอัตราสูง แต่เป็นการฟื้นตัวแบบช้าๆ บนความไม่แน่นอนที่ต้องปรับตัวให้ทัน


แชร์ :

You may also like