ย่างเข้าเดือนสุดท้ายของปี 2563 กันแล้ว ปีที่ยากลำบากสำหรับตลาดเงินไทยปีหนึ่งทีเดียว เพราะต้องเผชิญความผันผวนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบที่ไม่มีใครคาดคิดว่าหนักหนาสาหัสขนาดนี้ แม้ตอนนี้สถานการณ์ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลายดีขึ้น และผลการทดลองวัคซีนมีแนวโน้มที่ดี แต่หลายคนยังคงกังวลจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไปดูกันว่าทิศทางตลาดเงินไทยปี 2564 จะเป็นอย่างไร? ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ฉายภาพสถานการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ
ชี้ ปี 64 ตลาดเงิน “ราบเรียบ” แต่ไม่ “ราบรื่น” ค่าบาทแข็งโป๊ก
“ตลาดเงินปี 2564 ราบเรียบแต่ไม่ราบรื่น ทิศทางเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง โดยในสิ้นปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2564 คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 29-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ” คำกล่าวของ คุณตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ถึงทิศทางตลาดเงินในปีฉลู ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนที่ยากจะคาดเดาได้ และหลากหลายปัจจัย
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะนโยบายค่าเงินของสหรัฐฯ ที่ดอลลาร์อ่อนค่าลง ทั้งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายขนาดใหญ่ และความพยายามที่จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งการขาดดุลการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นและอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ลดลง การขาดดุลแฝด หรือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังในเวลาเดียวกัน การกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มลดความรุนแรงลงช่วยกดดันค่าเงินหยวนและสกุลคู่ค้าในภูมิภาค เงินทุนไหลกลับสู่กลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย
ขณะที่ ปัจจัยภายในประเทศ ก็มีผลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลเล็กน้อย โดยคาดว่าในปี 2564 จะเกินดุล 1.88 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าปีที่คาดว่าจะเกินดุล 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 600,000 ล้านบาท ซึ่งยังมากกว่ากระแสเงินทุนจากพันธบัตรและตลาดหุ้นที่ไหลออกจากประเทศไทยประมาณ 3.1 แสนล้านบาท รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงสามารถรับมือการไหลออกอย่างรวดเร็วของเงินทุน และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาท รวมถึงการ Recycle การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในรูปของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามการพัฒนาวัคซีนและการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การปิดเมือง หรือ การกลายพันธุ์ รวมทั้งบทสรุป Brexit
Local Currency ทางออกผู้ประกอบการส่งออกยุคบาทแข็ง
คุณตรรก ยังชี้ว่า หากปีหน้าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 29 บาท ภาคการส่งออกไทยอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยอมรับกับค่าเงินที่ระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SME จำต้องปรับตัว และนำเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมาใช้เพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ Local Currency
“ถ้าผู้ประกอบการยังอยู่กับดอลลาร์ ต้องรู้จักใช้เครื่องมือเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาดอลลาร์ แต่ถ้าสามาถทำได้ ก็หันมาใช้ Local Currency เพราะช่วยให้ต้นทุนการบริหารความเสี่ยงต่ำ”
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคารสนใจใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยลูกค้าที่มีธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง 70% เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่มีลูกค้าใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง 50% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง โดย Local Currency ที่มีการใช้มากสุดคือ หยวน แต่ที่มาแรงคือ รูเปียห์
ส่วนนักลงทุนที่กำลังมองการลงทุนในปีหน้า คุณตรรก แนะว่าแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงกว่า 1,400 จุด ส่วนพันธบัตรแม้ว่าผลตอบแทนระยะสั้นจะต่ำ แต่ผลตอบแทนระยะยาวเริ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอกชนเริ่มออกหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิมมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวัง ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากๆ