มิลเลนเนียล ช้อยส์ (Millennials Choice) วันสต็อปเซอร์วิสด้านคอนเทนต์บันเทิงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเจาะกลุ่มมิลเลนเนียล เดินหน้าขยายธุรกิจให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ด้วยการเปิดตัว Mint Magazine นิตยสารแฟชั่นน้องใหม่อัดแน่นจัดเต็ม ในรูปแบบ Crossed Platform Media ที่พร้อมฉีกกรอบนิตยสารแฟชั่นแบบเดิมๆ ด้วยกลยุทธ์ Fanbase Economy
กฤษฏิ์ จิระเกียรติวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ของก้อง 24 จำกัด ผู้ก่อตั้ง Millennials Choice หรือ ก้อง ไฮฟ์ ช่างตัดผมแนวหน้าของเมืองไทย กล่าวถึงที่มาของการขยายธุรกิจในครั้งนี้ว่า งานหลักยังคงเป็นช่างตัดผม ซึ่งปัจจุบันไฮฟ์ ซาลอนมี 3 สาขา (ได้แก่ เซ็นทรัลเอ็มบาสซี เซ็นทรัลเวิลด์ และโครงการเวลา สินธร) และในปีหน้ามีแผนว่าจะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา ขณะที่มิลเลนเนียล ช้อยส์ ซึ่งหลายคนอาจคุ้นหู เพราะเป็นชื่อแฟชั่นอีเว้นต์ประจำปีที่รวมพลทีนไอดอลและนักแสดงชั้นนำของไทยมาร่วมเดินพรมแดง เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจด้านคอนเทนต์บันเทิง ให้บริการครบวงจรทั้งออร์แกไนเซอร์ อีเว้นต์ โปรดักชั่น และบริการจัดหาอินฟลูเอ็นเซอร์/KOL สายแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
“แพชชั่นในการเป็นช่างทำผมของผมไม่เคยเปลี่ยน เพียงแต่อาชีพนี้ทำให้ผมค้นพบตัวเองมากขึ้น เลยมีไอเดียใหม่ๆ มาต่อยอดธุรกิจหรือคอนเนคชั่นที่ผมมี ผมไม่ได้มองว่าเราเป็นเอเจนซี่ แต่เราเป็นมากกว่านั้น เราคือ One-Stop Service ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในการนำเสนอคอนเทนต์ผ่านช่องทางและรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมถนัด มีคอนเนคชั่น และมองว่าจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากในอนาคต โดยจุดเด่นของเจนนี้ คือ มีแพชชั่น และพร้อมที่จะจ่ายหรือทุ่มเทเพื่อสิ่งที่ชอบ ผมเลยตัดสินใจเปิดนิตยสารแฟชั่นแนวใหม่ ชื่อว่า Mint เพื่อเจาะกลุ่มผู้อ่านเจนมิลเลนเนียลโดยเฉพาะเป็นครั้งแรกของไทย”
อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะมองว่าเสี่ยงที่กระโจนมาทำธุรกิจสื่อในช่วงนี้ แต่เรามั่นใจว่ามา ถูกทางด้วยคอนเซ็ปต์ที่ไม่เหมือนใคร มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน และยังได้ ป้อม – สรญา วัฒนเจียมวงษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารหัวนอกชื่อดัง มาเสริมทัพช่วยดูแลในภาพรวม
“ในช่วงที่ร้านต้องปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดโอกาส มีเวลามาลุยโปรเจกต์ Mint Magazine ซึ่งตอนแรกวางแผนว่าจะเปิดตัวปลายปี แต่พอเจอโควิด-19 เลยเป็นตัวเร่งให้ทำงานไวขึ้น สามารถเปิดตัวได้ตั้งแต่กลางปี ผมมั่นใจกับธุรกิจนี้ ไม่ได้มองว่าเสี่ยง เพราะด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน คิดมาแล้วว่าจะบริหารพื้นที่ทั้งในเล่ม และแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างไรให้ตอบโจทย์ลูกค้าแบรนด์ กลยุทธ์ของเราไม่ได้หวังเม็ดเงินจากการ ซื้อพื้นที่โฆษณา แต่มองไปถึงการต่อยอดในการทำคอนเทนต์ร่วมกับแบรนด์ในรูปแบบต่างๆ โดยมีเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ที่เรามีคอนเนกชั่นมาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารในรูปแบบที่แปลกใหม่ ตอบโจทย์ว่ากลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเจนมิลเลนเนียม พวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไร”
ด้าน สรญา วัฒนเจียมวงษ์ Publisher Co-Founder นิตยสาร Mint กล่าวเสริมว่า จุดแข็งของ Mint Magazine คือเราเป็นนิตยสารแฟชั่นไทยหัวแรกที่จับกลุ่มมิลเลนเนียล ชูกลยุทธ์ “Fanbase Economy” หรือ ใช้อินฟลูเอ็นเซอร์หรือ KOL ที่มีฐานแฟนเป็นสื่อกลางในการพูดแทนแบรนด์ต่างๆ ด้วยคอนเทนต์ที่หลากหลายแต่โดนใจผู้อ่าน
“เราวางแผนที่จะออกนิตยสารเหมือนคอลเลกชั่นแฟชั่น คือปีละ 4 ฉบับ แต่หากในอนาคตมีเสียงเรียกร้องมากขึ้น เราอาจจะออกถี่ขึ้น โดยศิลปินที่ขึ้นปกจะเน้นที่มีฐานแฟน เช่น ปกแรก เป็น 4 หนุ่ม F4 เวอร์ชั่นไทย ซึ่งขึ้นปกของเราเป็นที่แรกหลังจากเปิดตัว ส่วนปกที่ 2 เป็นการกลับมารวมตัวสุดเอ็กซ์คลูฟซีฟของ 9 หนุ่ม 9×9 (ไนน์บายนาย) ซึ่งยากมาก เพราะตอนนี้แต่ละคนก็แยกย้ายไปมีสังกัดใหม่ๆ แต่เราก็จัดให้เพื่อตอบโจทย์แฟนๆ ที่คิดถึงและอยากเห็นการรวมตัวของศิลปินที่ชื่นชอบอีกครั้ง ซึ่งนอกจากแฟนๆ จะได้อิ่มเอมกับคอนเทนต์ที่เราเสิร์ฟครบทุกแพลตฟอร์ม เรายังมีสื่อออฟไลน์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนโฟโต้บุ๊ค ควรค่าแก่การเก็บสะสมให้กลุ่มผู้อ่าน โดยกิมมิคของเรา คือศิลปินบนปกจะมาแจกนิตยสารให้กับผู้อ่านถึงมือ”
ทั้งนี้ สองผู้บริหารคนเก่งเชื่อว่า Mint Magazine จะมาช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็มของมิลเลนเนียล ช้อยส์ ในทุกมิติ สมกับเป็นวันสต็อปเซอร์วิสด้านคอนเทนต์บันเทิงของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง