ปี 2563 นับเป็นปีแห่งความท้าทายที่เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน อันมีเหตุหลักมาจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ การสาธารณสุข สังคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ขณะเดียวกันบนเวทีการเมืองระดับโลก ต่างจับตาความสัมพันธ์ของ 2 มหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน เพราะมีผลต่อทั่วโลก และคาดการณ์ว่าความยากลำบากของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยังคงต่อเนื่องมายังปี 2564
Brand Buffet ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่มาเล่ามุมมองเศรษฐกิจโลก และประเทศไทย ปี 2563 – 2564 ที่กระทบทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ SME รวมทั้งความเสี่ยงของภาคการเงิน และการปรับตัวของธุรกิจบัตรเครดิต ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนในไทยเพิ่มสูงขึ้น
จับตาเศรษฐกิจโลก “สหรัฐฯ – จีน” แยกขั้วชัดเจนขึ้น ยากที่จะกลับมาร่วมมือ!
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบทบาทของสหรัฐฯ และจีน สองมหาอำนาจของโลก มีอิทธิพลต่อการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเช่นกัน
คุณระเฑียร แสดงทรรศนะว่า ในมุมมองเศรษฐกิจโลก จะเห็นการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯ กับจีนชัดเจนขึ้น แล้วเป็นสิ่งที่ยากจะกลับมาเป็นโลกใบเดิมที่มีความร่วมมือกันระหว่างสองฝั่ง เพราะเป็นเรื่องของมหาอำนาจหนึ่งที่กำลังจะถึงจุดสูงสุด และกำลังจะถูกมหาอำนาจหนึ่งแซง ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมตัวรองรับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น
“การแยกขั้วจะรุนแรงมากขึ้น เพราะว่าจีนโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็โตถึงระดับที่ใครไปหยุดเขาไม่ได้ ซึ่งวันนี้เขาไม่ได้โตแบบกลวง เขาโตแบบมีฐานที่แน่น ดูจากการฟื้นจาก COVID-19 จีนฟื้นในระดับที่แทบจะเป็นปกติเลย ทั้งๆ ที่เขาได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะมากในช่วงต้น และดูความเป็นเอกภาพของคนในประเทศจีน เราเห็นเลยว่าจีนเป็นประเทศที่โตต่อไปอย่างแน่นอน
ในขณะที่อเมริกา มีจุดแข็งเยอะมาก จุดแข็งที่สำคัญคือ เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็น Reserve Currency และยังเป็นเงินสกุลเดียวในโลกที่เป็นทุนสำรองของโลก”
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจต้องติดตามสิ่งที่ทั้ง 2 ฝั่งทำว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ หรือกลุ่มธุรกิจของตัวเองหรือไม่ พร้อมทั้งแผนเตรียมการรองรับ
“ผมคิดว่าการ Take Side เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่า เราอาจจะ Take Side ในบางเรื่อง แต่เรื่องธุรกิจ เป็นเรื่องของการเตรียมการสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลที่ทั้ง 2 ฝั่งทำ
เพราะฉะนั้นถ้าเราถอดความเอาอารมณ์ออก หรือการ Take Side ออก และเรามองปัจจัยที่เกิดขึ้น และหากสิ่งนี้เกิดขึ้น หรือการกระทำใดก็ตามแต่ มีผลกระทบกับบริษัทอย่างไร เราต้องเตรียมบริษัท เพื่อรองรับกับผลที่จะเกิดขึ้น จากสิ่งที่เกิดขึ้นของทั้ง 2 มหาอำนาจ หรือกระทั่งของภาครัฐ หรือของสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทของสังคม”
เศรษฐกิจไทยยุค COVID-19 เหนื่อย – หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี ’40
ส่วนมุมมองด้านเศรษฐกิจไทย คุณระเฑียร แสดงความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจน้อยเกินไป ทำให้ดูเหมือนว่าเราปลอดภัยจากโรค แต่ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้าอยู่ ดูจะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของการดุลระหว่าง “ความเสี่ยงจากการระบาด” กับ “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”
เหตุการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย รุนแรงกว่าปี 2540 ในปี 2540 ผลกระทบเกิดกับบริษัทใหญ่ๆ ขณะที่เศรษฐกิจในต่างจังหวัด และประเทศอื่นในโลกยังดีอยู่ และพอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อไทยประกาศลดค่าเงินบาท กลับกลายเป็นว่าภาคส่งออก เป็นตัวชูโรงขึ้นมา เพราะต่างประเทศยังมีกำลังซื้อ และคนที่ตกงานจากรุงเทพฯ พอออกไปต่างจังหวัด ยังมีเศรษฐกิจรองรับอยู่
แต่คราวนี้แตกต่างกัน เนื่องจาก COVID-19 ทำให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบหมด เพราะ
1. เศรษฐกิจโลกติดลบรุนแรงที่สุดในช่วงนี้ ในขณะที่ภาคส่งออกของไทย ก็มีปัญหาอยู่แล้ว
2. เศรษฐกิจไทยในช่วงกว่า 20 ปีมานี้ พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมาก ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน เราไม่เคยคิดว่าจะธุรกิจท่องเที่ยวจะมีปัญหา แต่พอเกิดขึ้นแล้วในระดับที่นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้เลย ทำให้เศรษฐกิจไทย หดตัวค่อนข้างแรง และในที่สุด กระทบไปถึงการจ้างงาน
“Domestic Engine หรือว่าเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนจากภายในของไทยเอง มันมีข้อจำกัดมาก และเงินงบประมาณที่อัดลงไป ไม่ว่าจะเท่าไรก็ตาม ก็มีข้อจำกัด และอย่าลืมว่า เงินนี้ ไม่ใช่เงินฟรีนะ เมื่อไรที่ใช้ไป ต้องชดใช้ในอนาคต
เราไม่สามารถจะพิมพ์พันธบัตรเอง หรือเงินเอง เหมือนในบางประเทศ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เศรษฐกิจเราอยู่ในภาวะที่ต้องถือว่าเป็นภาวะวิกฤต ก็คงจะต้องมีการวางแผนที่ดี ที่จะทำอย่างไรถึงจะให้เราฟื้นจากภาวะวิกฤตให้ได้ ซึ่งการวางแผนที่ดี และอธิบายให้คนที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเข้าใจและดำเนินการตามแผน พร้อมกับทำความเข้าใจกับทุกกลุ่มไปเรื่อยๆ”
“SME” จะกลายเป็น “บริษัทซอมบี้” ไม่ตาย แต่ไม่โต – “ภาคประชาชน” เผชิญภาวะหนี้สูงขึ้น
ดังที่ปรากฏว่าเวลานี้ สองภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากสุดในวิกฤตเศรษฐกิจยุค COVID-19 คือ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME และ ภาคประชาชน ที่เผชิญทั้งภาวการณ์จ้างงาน กำลังซื้อลดลง การแบกรับหนี้สูงขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมมีผลต่อความเสี่ยงของภาคการเงินการธนาคาร
ต่อประเด็นนี้ แม่ทัพใหญ่ KTC อธิบายว่า ความเสี่ยงของภาคการเงินการธนาคาร สำคัญที่สุด คือ คุณภาพของทรัพย์สิน
ดังนั้นต้องพิจารณาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้า เป็นปัญหาระยะสั้น หรือปัญหาระยะยาว และเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง หรือปัญหาที่เกิดเนื่องจากปัจจัยภายนอก ซึ่งมีผลกระทบชั่วคราวและจะดีขึ้น ในกรณีลูกค้าที่ผ่อนปรนไป ถ้าเขามีศักยภาพที่จะสามารถใช้คืนได้ ก็คงไม่ใช่ปัญหา
“อย่างภาค SME เป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมาช่วงหนึ่งอยู่แล้ว และถูกทำให้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจาก COVID-19 อันนี้จะเหนื่อย เพราะถึงแม้ COVID-19 จะหายไป เศรษฐกิจเรายังไม่สามารถโตเท่าเก่า ก็พยากรณ์กันว่าอีก 2 – 3 ปี ถึงจะสามารถโตเท่าเก่าได้
ถ้าอย่างนั้นบริษัทพวกนี้ ถึงแม้จะไม่มีปัญหาสภาพคล่องก็จะอยู่ได้ลำบาก เหมือนอย่างที่คนเรียกกันว่า “บริษัทซอมบี้” คือ ไม่ตาย แต่ก็ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้”
ส่วนภาคประชาชน มีภาระของหนี้ที่สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยอยู่ในเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างเยอะ โดยไม่ได้สอนให้คนมีวินัยทางการเงินมากนัก และไม่ได้สอนให้คนเก็บออมเท่าไร ทำให้จะมีปัญหาสำหรับคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจมากพอสมควรที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ หนี้ที่มีปัญหาจะสูงขึ้น ในขณะที่คนมีวินัยทางการเงิน จะไม่ประสบปัญหา และภาวะวิกฤตครั้งนี้ อาจทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมี กับคนยังไม่มีเท่าไร ห่างกันมากขึ้น
หนี้ประชาชนสูงขึ้น – กำลังซื้อลดลง ส่งผลธุรกิจบัตรเครดิตปรับตัวครั้งใหญ่!
เมื่อประชาชนประสบภาวะหนี้สูงขึ้น กระทบบทโดยตรงต่อกำลังการจับจ่ายน้อยลง และความสามารถในการชำระหนี้ ย่อมมีผลโดยตรงต่อธุรกิจบัตรเครดิต ที่ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ทั้ง Bank และ Non-bank ปรับตัวใน 3 เรื่องหลักคือ
- ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ต้องคัดกรองลูกค้ามากขึ้น
2. การตลาดน้อยลง
3. มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงลูกหนี้
“หลังประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกือบทุกสถาบันเข้มงวดกับการรับลูกค้าใหม่มากขึ้น และแทบจะไม่เห็นมาร์เก็ตติ้งที่จะโครมครามเหมือนแต่ก่อน
แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องมองในมิติอื่น จริงๆ ธุรกิจบัตรเครดิต เป็นธุรกิจที่ถ้าเกิดจับจ่ายใช้สอยโดยที่ไม่ได้เป็นหนี้ คือ ใช้คืนครบ ไม่มีดอกเบี้ยเลย ธุรกิจบัตรเครดิตจะเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำไร เป็นธุรกิจที่ขาดทุนซะด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละธนาคาร หรือแต่ละผู้เล่น มีรูปแบบทางธุรกิจ หรือที่เราเรียกว่า Business Model อย่างไรบ้าง
อย่าง Business Model ของ KTC เราได้กำไรจากการที่ลูกค้าไม่ได้ชำระเต็ม ทำให้เรามีรายได้มาชดเชยกับคนที่ชำระเต็ม แต่คนที่เขามี หรือส่วนใหญ่ของพอร์ตเป็นคนที่ชำระเต็ม เขาก็ต้องคิดว่าจะทำกำไรจากอย่างไร
หรือไม่อย่างนั้นเขาต้องใช้ธุรกิจบัตรเครดิต เพื่อสนับสนุนธุรกิจอื่นของเขา เขาก็ต้องยอมขาดทุนในธุรกิจส่วนนี้ แต่โดยปกติแล้ว ถ้าเกิดลูกค้าใช้ชำระเงินเต็ม ตัวธุรกิจเอง จะขาดทุน”
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ KTC มีแนวทางพูดคุย และอธิบายให้กับลูกค้า พร้อมกับพิจารณาว่าปัจจัยที่ลูกค้าผ่อนผันชำระหนี้ มาจากปัจจัยระยะสั้น หรือปัจจัยระยะยาวที่ทำให้ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้คืนได้เลย
คุณระเฑียร ขยายความเพิ่มเติมว่า มาตรการความช่วยเหลือของ KTC ไม่นิยมการผัดวันประกันพรุ่ง ไม่นิยมหลอกตัวเอง ฉะนั้นเราจะคุยกับลูกค้าของเราเสมอว่า ถ้าหากเขาจะไม่ชำระหนี้ เขาควรต้องอธิบายให้เราฟังได้ว่า ในอนาคตจะมีวิธีการนำเงินมาชำระอย่างไร
หากปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ เกิดจากปัจจัยระยะสั้น อันนี้คงไม่เป็นปัญหา เป็นการผ่อนผันชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเวลาเขากลับมาชำระได้ แต่ถ้าเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นถาวร และไม่เห็นว่าเขาจะสามารถแก้ปัญหาได้ แล้วเราก็ไปตั้งว่าเป็นลูกค้าที่มีความสามารถที่จะชำระคืน แล้วก็รับรู้ดอกเบี้ยโดยที่ไม่ได้เงินเข้ามา อนาคตก็ต้องมา Write-off อยู่ดี นี่เป็นสิ่งที่เราไม่อยากทำ
เพราะฉะนั้นลูกค้าที่เราช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการให้ดอกเบี้ยต่ำ และยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ จะเป็นลูกค้าที่ชัดเจนแล้วว่า เขาประสบปัญหา แต่ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถใช้คืนได้ เราก็จะบอกว่า ขอให้หยุดใช้บัตรไปก่อน แล้วเงินที่เป็นหนี้อยู่ เราลดดอกเบี้ยให้และทยอยค่อยๆ ผ่อนชำระคืนมา และกำหนดชำระขั้นต่ำ เดือนละเท่าไร
“แนวทางของ KTC คือ 1. ลูกค้าใหม่ บริษัทฯ เข้มงวดมากขึ้น 2. ลูกค้าปัจจุบัน ทำความเข้าใจทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าคนที่มาผ่อนผัน หรือมาปรับโครงสร้างกับ KTC เป็นลูกค้าที่สามารถชำระหนี้ได้จริง และ 3. ยอมรับความจริงสำหรับลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ชำระคือไม่ได้แน่ๆ เราต้องรับรู้ไปเลยเป็นลูกค้า NPL และไม่สามารถชำระใช้คืนได้”
มองโอกาสธุรกิจใหม่ เปิดตัว “KTC พี่เบิ้ม” ลุยตลาดสินเชื่อมีหลักประกัน
การดำเนินธุรกิจภายใต้ปัจจัยความไม่แน่นอนในทุกวันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องแสวงหาโอกาสใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และสร้างการเติบโตใหม่
จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ KTC เล็งเห็นว่าโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และธุรกิจบัตรเครดิต จะโตเท่ากับในอดีต อาจไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะฉะนั้นต้องเริ่มมองธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นตัวสนับสนุน หรือขึ้นมาแทนธุรกิจเดิมได้
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเปิดตัวธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเป็นทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ “KTC พี่เบิ้ม” โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงาน เช่น คนทำงานออฟฟิศ คนทำงานโรงงาน ข้าราชการ แต่เป็นคนที่มีรถ หรือมีมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง
แล้วมีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรืออยากจะเอาเงินไปทำอะไรบางอย่าง จึงมาหา KTC พี่เบิ้ม เพราะเชื่อมั่นในแบรนด์ KTC
อย่างไรก็ตามทุกวันนี้มีผู้ให้บริการสินเชื่อมีหลักประกันจำนวนมาก ดังนั้นแม้จะมาที่หลัง แต่ KTC วาง Business Model แตกต่างกับรายอื่น คือ ใช้โมเดล สินเชื่อพี่เบิ้ม เดลิเวอรี่ KTC ไปหาลูกค้า แทนที่จะให้ลูกค้ามาหา บวกกับความได้เปรียบของการมีเครือข่ายสาขาธนาคารกรุงไทยกว่า 1,000 สาขา ที่ในอนาคตลูกค้าสามารถสมัครสินเชื่อ KTC พี่เบิ้มผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยได้
ปี 2564 เศรษฐกิจยังชะลอตัว – ภาครัฐต้องมีโครงสร้างสนับสนุนธุรกิจ SME
ในปี 2564 คุณระเฑียร มองว่า เศรษฐกิจยังชะลอตัวไปอีกช่วงหนึ่ง ไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็ว ดังนั้นต้องมองต่อว่าใน 3 ปัจจัยคือ 1. อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว 2. มีการวางแผนสำหรับรองรับการฟื้นตัวหรือยัง 3. ภาครัฐมีกระบวนการที่จะปรับเปลี่ยนให้ธุรกิจ SME สามารถแข่งขันกับตลาดโลกต่อไปได้อย่างไร
ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด เพราะฉะนั้นสามารถมีผู้เล่นรายใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามาได้ง่ายมากเลย และผู้เล่นปัจจุบันในไทย ถ้าเป็นรายใหญ่ อำนาจการต่อรองสูงมาก ถ้าลงไปเล่นในธุรกิจไหนก็ตาม ธุรกิจระดับกลาง หรือเล็กที่เป็นคู่แข่งอยู่ไม่ได้ ผู้เล่นจากต่างประเทศก็เหมือนกัน ถ้าเมื่อไรเข้ามา ธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่า ยากที่จะสู้กับเขาได้ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่เราจะสร้างโครงสร้างที่จะสนับสนุนธุรกิจ SME ซึ่งการสร้างโครงสร้าง พูดง่าย แต่ทำยาก
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับธุรกิจ SME ก่อน โดยเราต้องมี Benchmark หรือมีมาตรวัดความคืบหน้าในแต่ละจุด ไม่ใช่บอกแค่เป้าหมายปลายทางในอนาคต คนก็จะไม่เชื่อ แต่ถ้าเราต้องบอก Progress ในแต่ละจุด ผู้ประกอบการ SME ถึงจะเชื่อได้ว่าเขาจะเห็นอะไรในอนาคต
“อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า เรายังจะต้องเผชิญกับอุปสรรค และความยากลำบากในช่วง 12 – 18 เดือนข้างหน้า แต่ผมเชื่อว่าเราจะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ แต่ต้องมีสติ ต้องไม่ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือสติ หรืออยู่เหนือเหตุผล
มันจะมีปรากฏการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในสังคม หรือที่กระทบกับเศรษฐกิจ ถ้าเรามีสติ และเรียนรู้ และรับฟังข้อมูลทุกฝั่ง โดยไม่เลือกข้าง และดูผลกระทบที่จะเกี่ยวข้องกับบริษัทของเรา งานของเรา” คุณระเฑียร กล่าวทิ้งท้าย
Credit Photo: NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand