การดูแลสุขภาพ ทั้งอาหารการกิน และการออกกำลังกาย ไมใช่แค่เทรนด์ที่มาแล้วก็ไป แต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ หรือวิถีชีวิตของผู้คนไปแล้ว สะท้อนได้จากความนิยมรับประทาน “สลัด” (Salad) และอาหาร – เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพต่างๆ เพิ่มขึ้น
เมื่อเอ่ยถึง “สลัด” เวลานี้แยกออกมาเป็นหนึ่งใน Category ธุรกิจร้านอาหารที่มาแรง ทั้งจาก Demand มากขึ้น และในฝั่ง Supply ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจร้านสลัด ในปัจจุบันมีหลายราย
หนึ่งในนั้นคือ “Salad Factory” (สลัดแฟคทอรี่) หลังจากเปิดให้บริการสาขาแรกที่เมืองทองธานีในปี 2556 ต่อมา ด้วยทิศทางธุรกิจอาหารที่มาในแนวทาง “เพื่อสุขภาพ” มากขึ้น ทำให้ “Central Restaurants Group” (เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป) หรือ “CRG” สนใจขยาย Brand Portfolio ธุรกิจร้านอาหาร มาเจาะตลาดเพื่อสุขภาพ จึงเข้าร่วมทุนในสัดส่วน 51% ด้วยเงินลงทุน 140 ล้านบาท ก่อตั้ง “บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด” (จากเดิมเป็นบริษัท สลัดแฟคทอรี่ เรสเตอรองท์ จำกัด) โดยตั้งเป้า 5 ปี เปิด 50 สาขา และสร้างยอดขายให้ได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท
3 เหตุผลทำไม “ร้านสลัดเพื่อสุขภาพ” เป็นธุรกิจร้านอาหารมาแรง ?!?
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ร้านสลัด” แม้จะยังเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนัก เมื่อเทียบกับประเภทร้านอาหารที่เป็น Mainstream อย่างร้านอาหารญี่ปุ่น เช่น ชาบู, QSR ของตะวันตก ฯลฯ แต่ถ้าจะกล่าวว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จนถึงวันนี้ “ร้านสลัด” กลายเป็น Rising Star ในวงการธุรกิจอาหารก็ว่าได้ นั่นเพราะ
1. อาหารเพื่อสุขภาพ คือ Now Normal แห่งยุคนี้ และโลกอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการมูลค่าตลาดอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ปี 2562 คาดว่ามีมูลค่า 88,731 ล้านบาท เติบโต 2.4%
ยิ่งการเกิดขึ้นของสถานการณ์ COVID-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคต่างหันมาตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ และสุขอนามัยมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงนี้ แม้ภาพรวมของกำลังซื้อชะลอตัว แต่สินค้าอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กลับสวนทางเติบโต
อย่างไรก็ตามนิยามของคำว่า “Healthy Food” ในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดแค่การบริโภคผักเท่านั้น หากแต่ยังหมายความถึง “วัตถุดิบ” ที่นำมาทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือวัตถุดิบอะไรก็ตาม ต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย และกินแล้วดีต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะฉะนั้นทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทาน Healthy Food ที่หลากหลาย และเป็น Now Normal วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไปแล้ว
2. มีธุรกิจร้านสลัดมากมาย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ในอดีต “เมนูสลัด” เป็นเมนูหนึ่งในร้านอาหาร และมีให้เลือกไม่มากนัก เพื่อเป็นเมนูเรียกน้ำย่อย ก่อนรับประทานอาหารจานหลัก หรือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของจานอาหารเท่านั้น ทว่าปัจจุบันได้ขยายออกมาเป็นอีกหนึ่งประเภทร้านอาหาร โดยมีผู้ให้บริการมากมาย แต่ถ้านับเฉพาะที่เป็นรูปแบบเชน เปิดหลายสาขาในโลเกชั่นต่างๆ พบว่ามี Major Player ประมาณ 5 – 6 ราย คือ
Jones Salad โอ้กะจู๋ Salad Factory Farm Factory Getfresh (หรือเดิมคือ Dressed) รวมไปถึงพี่ใหญ่ที่อยู่ในตลาดมานานอย่าง Sizzler ซึ่งเป็นร้านที่มีจุดเด่นด้าน “สลัดบาร์” และ “เมนูสเต็ก” โดยในปีนี้ได้เปิด Sizzler to go ให้บริการเซ็ทสลัด แซนด์วิช ซุป และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพรูปแบบ Grab and Go
เพราะฉะนั้นการมีผู้เล่นในตลาดนี้มากขึ้นย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคในการเข้าถึงเมนูอาหารเพื่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเมื่อมีผู้เล่นหลายราย ย่อมเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคเช่นกัน
3. การบริโภคสลัด กลายเป็นมื้อหลักในชีวิตประจำวัน
ทั้งจาก Heathy Lifestyle และสลัด ได้แยกออกมาเป็นหนึ่ง Category ร้านอาหาร ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเมนูอาหารนี้ได้ง่ายขึ้น และมีหลากหลายเมนูผักที่ครีเอทออกมามากมาย ทำให้จากเดิมทีในอาหาร 1 จาน โดยเฉลี่ยมีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรต 50% เนื้อสัตว์ 25% และผัก 25% แต่ปัจจุบันการรับประทานสลัด ได้กลายเป็น “Meal” หรือ “มื้ออาหาร” ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะในมื้อเช้า มื้อเย็น มื้อว่างระหว่างวัน หรือมื้อดึก ที่ทำให้ผู้บริโภคอิ่มท้องได้
ยุทธศาสตร์ธุรกิจ “Salad Factory” สร้างความแตกต่างด้านแบรนด์ดิ้ง – ขยายสาขาฟอร์แมตหลากหลาย
สำหรับแผนธุรกิจของ “Salad Factory” นับจากนี้ ประกอบด้วย 5 ด้านหลักๆ คือ
1. ขยายสาขาโซนในเมือง เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น
ปัจจุบัน Salad Factory มี 9 สาขา บวกกับ Cloud Kitchen 1 สาขา ที่ผ่านมาเน้นขยายสาขารอบนอกเมืองมาตลอด และฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มครอบครัว
แต่ต่อไป นอกจากการเปิดสาขารอบนอกเมืองแล้ว “Salad Factory” จะขยายมายังโลเกชั่นในเมืองมากขึ้น อย่างล่าสุดเปิดสาขาอารีย์ เป็น Stand Alone สาขาแรก และถือเป็น Flagship Store
เหตุผลที่เลือกทำเลย่านอารีย์ คุณปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ บอกว่า ย่านอารีย์เป็นทำเลศักยภาพอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เพราะเป็นย่านที่มีความหลากหลายของประชากร ทั้งผู้อยู่อาศัย พนักงานออฟฟิศ วัยรุ่นที่มาคาเฟ่ ซึ่งส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูง
“เรามองเห็นโอกาสว่าร้านส่วนใหญ่ในย่านนี้ มีความเฉพาะเจาะจง จึงอยากให้ “Salad Factory” เป็น Destination ด้านอาหาร ที่มาร้านเราตอบโจทย์ครบ ทั้งด้าน Healthy และ Party ของการรวมตัว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มใหญ่ มากับครอบครัว หรือเพื่อน หรือห้องสำหรับจัดเลี้ยงส่วนตัว
เราตั้งความหวังไว้กับสาขาอารีย์ สูงกว่าสาขาปกติ ทั้งด้านยอดขาย ตั้งเป้าสาขานี้ไว้ที่ 30 – 40 ล้านบาทต่อปี และคาดหวังว่าสาขานี้ จะสร้างประสบการณ์ประทับใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ”
ดังนั้นการขยายมาโซนในเมือง จะช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน และคนรุ่นใหม่ อีกทั้งทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ Salad Factory มากขึ้น
2. พัฒนาสาขาหลายฟอร์แมต ตั้งแต่ Full Service Restaurant ไปจนถึงโมเดล Grab and Go
“Salad Factory” วางขยายสาขาใหม่ในปี 2564 ประมาณ 5 สาขา พร้อมทั้งพัฒนาสาขาหลายรูปแบบ ครอบคลุม 5 ฟอร์แมต คือ
1. Full Service Restaurant รูปแบบร้านขนาดใหญ่ เช่น สาขาอารีย์ที่เปิดไปเมื่อไม่นานนี้ เน้นสร้างประสบการณ์ Dine-in และรองรับบริการ Delivery, Take Away
2. Delco ทรานส์ฟอร์มร้านใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อเน้นให้บริการ Delivery เป็นหลัก แต่ยังคงมีพื้นที่ให้บริการ Dine-in โดยมีโต๊ะให้นั่งรับประทานประมาณ 5 โต๊ะ สามารถรองรับลูกค้าในร้านประมาณ 10 – 15 คน
3. Pop-up Store โมเดลขนาด 10 – 15 ตารางเมตร ทำเป็นพื้นที่ครัวอย่างเดียว และมีเมนูให้บริการ 30 – 40 เมนู ปัจจุบันเปิดใกล้กับท็อปส์ สาขาเซ็นทรัล ชิดลม
4. Grab and Go เหมือนเป็น Kiosk ไปตั้ง ซึ่งด้วยรูปแบบร้านขนาดเล็ก และพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าที่มาถึง ดูสินค้า หยิบ จ่ายเงิน และไป ดังนั้นสินค้าผลิตจากครัวกลาง และนำมาวางจำหน่ายที่หน้าร้าน ต้องขายได้ด้วยตัวมันเอง รับประทานง่าย ราคาเข้าถึงง่าย และตอบโจทย์สุขภาพ เช่น แซนด์วิช สลัด ซุป ข้าวผัด สปาเก็ตตี้
5. Cloud Kitchen ปัจจุบันมี 1 สาขา รองรับ Delivery โดยเฉพาะ
ทั้ง Pop-up Store และ Grab and Go เป็นรูปแบบขนาดเล็ก แต่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ตรง เช่น ไปตั้งสาขาในโลเกชั่นที่มี Traffic กลุ่มคนทำงานหนาแน่น ซึ่งเป็น Core Target ของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ
นอกจากนี้การมี Store Format หลากหลาย ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเปิดสาขา เพราะสามารถนำสาขารูปแบบต่างๆ ไป Match เข้ากับโลเกชั่นที่ต้องการขยาย
ขณะเดียวกันสาขาเหล่านี้ เป็น Network บริการ Delivery และเป็น Visibility สร้างการรับรู้ และการจดจำแบรนด์ Salad Factory
3. ทำราคาเข้าถึงง่าย เพื่อให้เป็นอาหารที่ผู้บริโภครับประทานได้ในทุกโอกาส – ทุกวัน
คุณปิยะ เล่าว่า จุดยืนอีกข้อของ “Salad Factory” คือ เสิร์ฟอาหารที่ให้ทั้งคุณภาพอาหาร ปริมาณอาหารเยอะ ในราคาเข้าถึงง่าย และพัฒนาเมนูหลากหลาย มีทั้งเมนูสลัด และเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่สอดแทรกผักผลไม้อยู่ในเมนู โดยสัดส่วนอาหารที่ให้บริการ 50% เป็นเมนูสลัด และอีก 50% เป็นอาหารอื่นๆ
“เดิมทีอาหารประเภทสลัด มักจะอยู่หน้าแรกๆ ของเมนู เหมือนรับประทานเรียกน้ำย่อย แต่ตอนที่เราเปิดร้านเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เราอยากทำสลัดให้เป็น Meal ที่ลูกค้ามารับประทานแล้ว อิ่ม เพราะเราเสิร์ฟจานใหญ่ อาหารเต็มจาน ราคาสลัดเริ่มต้น 79 บาท และลูกค้ามารับประทานที่ร้าน โดยเฉลี่ยประมาณ 200 – 300 บาทต่อคน
เราอยากทำให้อาหาร Healthy เป็นอาหารที่ผู้บริโภครับประทานได้ทุกวัน เพราะที่ผ่านมาอาหารประเภทนี้ มีราคาสูง เราจึงพยายามทำอาหารสุขภาพ ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกวัน ด้วยเมนูที่หลากหลาย”
4. สร้าง Brand Character ให้ชัดเจน ด้วย “พี่หมีแข็งแรง” ตัวแทนแบรนด์ สร้างความแตกต่าง
เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของ “Salad Factory” สำหรับการสร้างแบรนด์ให้มีคาแรคเตอร์ชัดเจน เพื่อให้คนจดจำได้ เพราะจะสังเกตได้ว่าในธุรกิจร้านอาหารสลัด ทั้งชื่อ และ Color Branding ของแต่ละแบรนด์ ใกล้เคียงกัน คือ มีสีเขียวเป็นสีหลัก
ด้วยเหตุนี้เอง Salad Factory ได้ครีเอท Brand Icon ในชื่อ “พี่หมีแข็งแรง” เพื่อเป็นตัวแทนแบรนด์ เพื่อสื่อถึงความเป็น Salab Factory ที่สบายๆ อบอุ่น และเป็นมิตร ขณะเดียวกันด้วยความที่ทางร้าน เสิร์ฟอาหารใน portion ใหญ่ จึงใช้ “พี่หมี” มาเป็นสัญลักษณ์ของความอิ่มหมีพีมัน
การสร้างแบรนด์ดิ้งให้แตกต่างของ Salad Factory ประกอบด้วย
– ประสบการณ์ของแบรนด์ที่นำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งแต่ละร้านสลัดแตกต่างกัน อย่างของ Salad Factory เน้นสร้างประสบการณ์ Wow! และราคาเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นจุดยืนของแบรนด์
– มี Brand Icon พี่หมีแข็งแรง เพื่อให้ความรู้สึกว่า Salad Factory เป็นแบรนด์ที่เป็นมิตร และสร้างความสุข พร้อมทั้ง Color Brand สีเขียว – ส้ม
– การออกแบบ และตกแต่งร้านให้ตอบโจทย์ Urban Lifestyle ที่ผสมผสานความทันสมัย และให้ความรู้สึกน่าอยู่ สบาย
5. เตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่ รองรับการเติบโตในอนาคต
นอกจากเดินหน้าขยายสาขา เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น “Salad Factory” ยังได้ลงทุนกว่า 40 ล้านบาท สร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ปทุมธานี บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ เพื่อเป็นครัวกลาง เช่น ล้างผัก ตัดแต่งวัตถุดิบต่างๆ และกระบวนการเนื้อสัตว์ เพื่อจัดส่งไปยังสาขาต่างๆ
Salad Factory สร้างโรงงานแห่งใหม่ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต จากปัจจุบันมีครัวกลางอยู่ที่เมืองทองธานี รองรับได้ 9 สาขา ซึ่งค่อนข้าง Full Capacity แล้ว
การขยับตัวของ “Salad Factory” ครั้งนี้ เชื่อว่าจะสร้างความคึกคักให้กับธุรกิจร้านสลัดเพื่อสุขภาพ ซึ่งไม่แน่ว่าต่อไปเราอาจเห็นร้านอาหารเซ็กเมนต์นี้ กลายเป็นอีกหนึ่ง Mainstream ของธุรกิจร้านอาหารในไทยมูลค่ากว่า 3.89 ล้านบาท ก็เป็นไปได้