HomeInsight“Essential Skills” ทักษะที่ “วิศวกร” ยุคดิจิทัล ต้องมี พาอาชีพอยู่รอดและไปได้ไกลกว่าเดิม

“Essential Skills” ทักษะที่ “วิศวกร” ยุคดิจิทัล ต้องมี พาอาชีพอยู่รอดและไปได้ไกลกว่าเดิม

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ไหนแต่ไรมา “วิศวกร” ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์อาชีพยอดฮิตไม่แพ้แพทย์ เพราะนอกจากเงินเดือนสูงแล้ว ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก เรียกได้ว่าจบมาแล้วมีงานรองรับแน่นอน แต่หลังจากถูกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถาโถม ส่งผลให้อาชีพในสายงานต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างมาก บางสายงานมีอาชีพเกิดใหม่ ขณะที่บางสายงานอาจจะเสี่ยงกับการจ้างงานลดลงเพราะถูกหุ่นยนต์ หรือ A.I. เข้ามาทดแทน ซึ่งว่ากันว่าหนึ่งในนั้นก็คือ สายงานวิศวะ

เมื่อประกอบกับทุกวันนี้โลกธุรกิจต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจชะลอและความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยิ่งส่งผลให้สายงานวิศวะต้องเผชิญโจทย์ท้าทายมากยิ่งขึ้น ทำให้ลำพังความรู้ความสามารถด้านอาชีพที่เรียนมา (Technical Skills) อาจไม่เพียงพออีกต่อไป แล้วทักษะอะไรจะตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล ลองมาฟังการวิเคราะห์เหล่านี้จากมุมมองของ SEAC แล้ววิศวกรไทยจะได้คำตอบมาใช้ในการติดวุธ หรือเตรียมตัวให้เท่าทันกับความต้องการอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในโลกยุค NEXT NORMAL

ปัญหาหลากด้าน ทำคนรุ่นใหม่เลือกเรียน “วิศวะ” น้อยลง

จากข้อมูลของสภาวิศวกรในเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์น้อยลงอยู่ที่ 33,000 คนต่อปี โดยในจำนวนนี้มีผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประมาณ 7,000 คนต่อปี ซึ่งอาจมีเพียงบางส่วนที่ประกอบอาชีพวิศวกร และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยจะมีสัดส่วนของคนเป็นวิศวกรเพียงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ

ในขณะที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งมุ่งเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อผลิตบัณฑิตป้อนเข้าตลาดแรงงาน และป้องกันไม่ให้กลายเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนในอนาคต เพราะในระยะเวลา 20 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยได้มีการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เป็นกลุ่ม First S-Curve และกลุ่ม New S-Curve ซึ่งจะรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมที่เป็นพื้นฐานหลักในการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการสร้างนวัตกรรม เช่น ด้านยานยนต์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ การบิน เชื้อเพลิง และเคมี เป็นต้น

เพราะฉะนั้น “วิศวะ” จึงเป็นสายงานที่ตลาดต้องการ เพียงแต่แนวโน้มผู้เรียนอาจลดจำนวนลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสายงานนี้ได้ อีกทั้งเมื่อโลกการทำงานก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล องค์กรต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับวิศวกรที่มี Essential Skills มากขึ้น ซึ่งเป็น ทักษะในการใช้ชีวิต การแก้ปัญหา รวมถึงความสามารถในการบริหารตัวเอง การมี Entrepreneurial Mindset และการบริหารคนเพื่อทำงานร่วมกัน

นั่นจึงทำให้การมีเพียง Technical Skills อย่างเดียวเหมือนในอดีต จึงไม่เพียงพอสำหรับการทำงานในปัจจุบัน เพราะ Essential Skills เป็นทักษะเฉพาะของมนุษย์ที่เทคโนโลยี AI ยากจะเลียนแบบและเข้ามาแทนที่ได้ง่ายๆ อย่างเช่นความสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในขณะที่ Technical Skills ความรู้หรืองานบางอย่าง เราสามารถจะนำเอาหุ่นยนต์เข้าไปทดแทนได้

“ปัจจุบัน Technical Skills ไม่เพียงพอแล้ว ต้องมี Essential Skills เข้ามาเสริมเพื่อให้คนมีความสามารถรอบด้าน โดดเด่นและตอบโจทย์สังคมมากขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร. รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ย้ำถึงความสำคัญของ Essential Skills ที่สายงานวิศวะยุคนี้ต้องมี

วิศวะรุ่นใหม่ไม่อยากตกงาน ต้องรู้จักปรับตัว

เพราะฉะนั้น วิศวกรที่จะอยู่ได้ในตลาดงาน จึงจำเป็นต้องเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอยู่เสมอ แต่หากไม่ยอมปรับตัวและยังคิดว่าทักษะและความรู้เดิมๆ ที่มีอยู่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด โอกาสตกงานก็มีสูงมากเช่นกัน แม้ว่าแนวโน้มสายงานวิศวะจะขาดแคลนก็ตาม

เมื่อ Essential Skills มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับวิศวกรพันธุ์ใหม่ จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานเช่นกัน ดังเช่นล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ SEAC ออกแบบพัฒนาหลักสูตรผ่านการพัฒนาที่เรียกว่า “3Cs” ประกอบด้วย

1. Camp สำหรับแนะแนวปูพื้นฐานเยาวชนที่อยากเป็นวิศวกรในอนาคต เราพบว่าเยาวชนจำนวนมากมีการ “ตกออก” หรือ การค้นพบความชอบตัวเองในภายหลังว่าชอบ/ไม่ชอบ สนใจ/ไม่สนใจในเรื่องไหน อาจทำให้เสียเวลาในการเรียนและการใช้ชีวิต ดังนั้น การเตรียมพร้อมผ่านการแนะแนวในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

2. Career สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการเพิ่มทักษะความรู้ผ่านการ Reskill & Upskill เตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงาน หรือการเปลี่ยนสายงาน

3. Club สำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ กับการฝึกสอนให้มี Entrepreneurship Mindset เพื่อให้วิศวกรนรุ่นใหม่สามารถดำเนินอาชีพในศตวรรษที่ 21 และมีความสามารถเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากลได้


แชร์ :

You may also like