หากย้อนกลับไปในปี 2015 ซีอีโอของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) อย่าง Reed Hastings ได้เคยกล่าวบนเวทีสัมมนาในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีว่า รายการทีวีแบบเดิมที่มีการกำหนดเวลาออกอากาศไว้ชัดเจนจะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไป ส่วนคอนเทนต์แบบออนดีมานด์ (On-Demand) จะกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมสูงขึ้น ไม่ต่างกับการเลิกใช้ม้าแล้วเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์แทน
มันเลยค่อนข้างน่าแปลกใจที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เน็ตฟลิกซ์ได้มีการเปิดตัวบริการใหม่ชื่อ “Netflix Direct” ขึ้นในฝรั่งเศส โดยจุดเด่นของ Netflix Direct ก็คือ มีการกำหนดเวลาออกอากาศแต่ละคอนเทนต์เอาไว้อย่างชัดเจน (คล้าย ๆ กับรายการทีวีที่เราคุ้นเคยกัน) ซึ่งถือว่าค่อนข้างแตกต่างกับแนวคิดเดิมที่ Reed Hastings เคยกล่าวไว้ ผู้บริโภคควรเลือกได้ว่าจะดูคอนเทนต์ที่ต้องการเมื่อไรก็ได้ และจะดูนานเท่าไรก็ได้ตราบที่พวกเขามีเวลา ที่สำคัญ เน็ตฟลิกซ์ตั้งเป้าไว้ว่า วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ จะเปิดบริการ Netflix Direct ให้ได้ทั่วฝรั่งเศส (นั่นคือมีคอนเทนต์ต่าง ๆ อัดแน่นให้ชมตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว)
อะไรทำให้การปรับเปลี่ยนแบบ 360 องศานี้เกิดขึ้น
ส่วนหนึ่งอาจต้องพิจารณาจากการชี้แจงในบล็อกของบริษัทที่บอกว่าผู้ชมบางส่วนไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะตัดสินใจได้ว่า เขาอยากดูอะไร เขาแค่เปิดเน็ตฟลิกซ์ขึ้นมาเพราะอยากดูอะไรบางอย่าง ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะให้ผู้บริโภคมานั่งเลือก เน็ตฟลิกซ์ก็เลยอยากเป็นฝ่ายเลือกให้แทนนั่นเอง
ทำไมต้องเป็น “ฝรั่งเศส”
อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจก็คือประเทศที่เน็ตฟลิกซ์ให้บริการมีมากมายทั่วโลก แต่ทำไมบริษัทต้องเลือกปักหมุดที่ฝรั่งเศสเป็นที่แรก คำตอบอาจมาจากความจริงที่ว่า ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ยังนิยมการชมรายการโทรทัศน์แบบดั้งเดิม และ 94% มีโทรทัศน์ในบ้าน โดยชาวฝรั่งเศสรับชมรายการโทรทัศน์เฉลี่ย 3.5 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้นเป็น 4 ชั่วโมง 40 นาทีต่อวันเลยทีเดียว
เมื่อหันมาดูยอด Subscribers ของเน็ตฟลิกซ์ในฝรั่งเศสนั้นพบว่าอยู่ที่ 6.7 ล้านราย จึงเป็นไปได้ว่า Netflix Direct อาจช่วยให้เน็ตฟลิกซ์ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนที่ชอบดูรายการที่กำหนดเวลาไว้แล้วได้นั่นเอง
ประโยชน์อีกข้อของ Netflix Direct ที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็คือ เน็ตฟลิกซ์อาจใช้ประโยชน์จากการถูกมองว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ ทำให้บริษัทสามารถนำภาพยนตร์ต่าง ๆ มาฉายได้เร็วขึ้น (ส่วนหนึ่งมาจากกฎที่บังคับไว้ว่า ภาพยนตร์ต่าง ๆ นั้น หากฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว จะต้องรอเวลาอีก 4 เดือนจึงจะสามารถออกแผ่นดีวีดี-บลูเรย์ได้ ส่วนช่องทีวีต้องรอถึง 22 เดือน และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต้องรอนานถึง 36 เดือน ดังนั้น หาก Netflix Direct ถูกจัดประเภทเป็นเหมือนสถานีโทรทัศน์ ก็จะช่วยลดเวลาในการรอชมภาพยนตร์บนแพลตฟอร์มจาก 36 เดือนเหลือ 22 เดือนนั่นเอง)
เพิ่มช่องทางให้ซีรีย์
ประโยชน์ข้อสุดท้ายที่มองเห็นกันตอนนี้ก็คือเรื่องของ Netflix Originals หรือซีรีย์ต่าง ๆ ที่เน็ตฟลิกซ์ผลิตขึ้นมา หากอยู่ในแพลตฟอร์มแบบเดิม บริษัทก็อาจต้องอาศัยการโปรโมตเพื่อให้คนคลิกเข้าไปรับชม แต่เมื่อมี Netflix Direct ก็เท่ากับว่าเน็ตฟลิกซ์มีช่องทางเพิ่มสำหรับโปรโมตคอนเทนต์ให้เป็นที่รู้จักนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อของฝรั่งเศสอย่าง Marie-France Chambat-Houillon ผู้อำนวยการฝ่าย Communication and media ของมหาวิทยาลัย Sorbonne-Nouvelle จึงมองว่า Netflix Direct อาจกลายเป็นตัวปิดฉากอุตสาหกรรมทีวีแบบเดิมได้เลยทีเดียว เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะหากพิจารณาร่วมกับการเคลื่อนไหวของเน็ตฟลิกซ์ในอดีตที่ผ่านมา ก็ถือว่ามีการสั่นคลอนธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งคอนเทนต์ที่สามารถเลือกดูได้ตามสะดวกเพื่อเอาใจผู้บริโภคในวันที่ไม่มีทางเลือก จากนั้นก็เริ่มผลิตคอนเทนต์ของตัวเองที่หลายเรื่องกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ และสามารถกุมใจผู้ชมบนแพลตฟอร์มได้มหาศาล
สุดท้าย เมื่อมีคอนเทนต์พร้อมมากพอ พวกเขาก็เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ด้วยการบริการแบบครบวงจร คือมีทั้งคอนเทนต์ที่ฉายตลอดวันและคอนเทนต์แบบที่ให้เลือกชมได้ตามต้องการ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มที่มีบนโลกใบนี้