การดูแลสุขภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ Mega Trend ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หากแต่เป็นไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั่วโลกไปแล้ว นั่นหมายความว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ทั้งตลาด Healthcare และ Healthy & Wellness Foods ทั่วโลกเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้น ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
Research and Markets ฉายภาพตลาด Healthcare ทั่วโลก มีหลายเซ็กเมนต์ เช่น บริการด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพสัตว์ว่า นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ตลาดการดูแลสุขภาพทั่วโลกเติบโตโดยเฉลี่ย 7.3% ต่อปี โดยในปี 2018 มีมูลค่าตลาด 8,452 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าปี 2022 จะเพิ่มขึ้นเป็น 11,908.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่รายงาน Global Health and Wellness Foods Industry ได้ฉายภาพว่าในสถานการณ์ COVID-19 ของปี 2020 ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 764.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะขยับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2070
ส่วนประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการมูลค่าตลาดอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในไทย มีมูลค่า 88,731 ล้านบาท เติบโต 2.4%
จะเห็นได้ว่า “สุขภาพ” ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใด ภูมิภาคหนึ่งของโลก แต่เป็นแนวโน้มทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเช่นกัน
ยิ่งการเกิดขึ้นของ COVID-19 ในปี 2020 ต่อเนื่องมาถึง 2021 เป็นตัวเร่งให้คนทั่วโลกหันมาตระหนักกับ “สุขภาพ” มากขึ้น ส่งผลให้สินค้า และบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพเติบโต และมีผู้เล่นมากมาย ทั้งธุรกิจ SME ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าสู่ตลาดนี้
และหนึ่งใน Healthy Lifestyle ที่มาแรงคือ “Plant-based Food” คือ อาหารที่ใช้วัตถุดิบจากพืชให้คุณค่าโปรตีนสูง ปัจจุบันประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักคือ
1. Plant-based Milk เช่น นมทำจากถั่วประเภทต่างๆ เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วพิสทาชิโอ น้ำนมข้าวโพด หรือแม้แต่นมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นนมที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี
2. Plant-based Protein หรือ Plant-based Meat คือ เนื้อสัตว์จากพืช นำวัตถุดิบจากพืชให้โปรตีนสูง และใช้เทคโนโลยีด้านอาหารมาพัฒนารสชาติ กลิ่น สี ให้เหมือนเนื้อสัตว์จริง
ตัวอย่างของแบรนด์ในกลุ่มนี้คือ Beyond Meat และ Impossible Foods จากสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันขยายฐานลูกค้า ด้วยการจับมือกับร้านอาหาร และเชนร้านอาหารรายใหญ่ ขายเข้าไปเป็นวัตถุดิบเมนูอาหาร
ขณะที่ประเทศไทย มีทั้ง Food Tech Startup จับตลาด Plant-based Meat และบริษัทใหญ่ด้านอาหารสนใจตลาดนี้เช่นกัน
3. Plant-based Meal คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบ Plant-based คาดการณ์ว่าต่อไปกลุ่มนี้จะเป็นตลาดใหญ่ และมีโอกาสเติบโตสูง
มีการประมาณการว่ามูลค่าตลาดรวม Plant-based Food ทั่วโลกอยู่ที่ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นเป็น 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบันตลาด Plant-based Food มีมูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท และศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าในปี 2024 ตลาด Plant-based Food ในไทย จะมีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%
นอกจากนี้ศูนย์วิจัย Krungthai Compass ชี้ถึง 6 เหตุผลที่ทำให้ตลาด Plant-based Food เติบโต
1. การให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดี (Health & Wellness) ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคพยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) และหันมาบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นโปรตีนจากพืชแทน
2. กระแส Flexitarian หรือผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น สามารถทานเนื้อสัตว์ได้เป็นครั้งคราว มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จึงทำให้ตลาด Plant-based Food ไม่จำกัดอยู่แค่กลุ่มวีแกน (Vegan) และ Vegetarian อีกต่อไป โดย Flexitarian มีลักษณะการบริโภคมังสวิรัติเป็นหลัก สลับกับเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาเป็นครั้งคราว
3. กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม และตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น Plant-based Food จึงถูกมองว่าเป็นตัวช่วยสำหรับธุรกิจอาหาร ในการรับมือกับความท้าทายของผู้ประกอบการในยุคที่ผู้บริโภคตระหนักถึงกระแสการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า โดยที่ผ่านมา การทำฟาร์มปศุสัตว์มักถูกหยิบยกถึงประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
4. ปัญหา Food Security ทำให้ Plant-based Food มีความจำเป็น การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในระยะต่อไปจะยิ่งนำไปสู่ความท้าทายในการสร้างความ มั่นคงทางอาหาร (Food Security) อย่างทั่วถึง เพียงพอ และปลอดภัยกับทุกคน ทำให้ Plant-based Food มีความจำเป็น
5. เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารมีบทบาทสำคัญที่ทำให้อาหารที่ทำจากพืชเติบโตอย่างก้าวกระโดด
6. COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลด้านสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งความกังวลจากการติดต่อของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน จะเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตของธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Food)
ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมอาหารขยับมายังตลาดเพื่อสุขภาพเท่านั้น ขณะเดียวกันในฝั่งเครื่องดื่มก็มุ่งไปยังทิศทาง “Functional Drink” ที่ตอบโจทย์เพื่อสุขภาพเช่นกัน
เซ็กเมนต์ Functional Drink ที่เป็นปรากฏการณ์ของตลาดเครื่องดื่มในไทย คือ การเติบโตของตลาดเครื่องดื่มวิตามินซี และน้ำดื่มผสมวิตามิน (Vitamin Water) มีแบรนด์มากมายอยู่เต็มเชล์ฟในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ
และคาดการณ์ว่าแนวโน้มทั้งตลาด “เครื่องดื่มวิตามินซี” คาดการณ์มูลค่าตลาดอยู่ที่กว่า 1,300 ล้านบาท และ “น้ำดื่มผสมวิตามิน” ประมาณการว่าจะมีมูลค่ากว่า 6,000 – 7,000 ล้านบาท ยังคงมาแรงต่อเนื่องในปี 2021 โดยปัจจัยมาจากทั้งฝั่ง Supply และ Demand นั่นคือ
ฝั่ง Supply คือ ผู้ผลิตที่พยายาม Fragment ตลาดเครื่องดื่มให้ซอยย่อย เพื่อสร้าง Value และการเติบโตในน่านน้ำใหม่
ขณะที่ฝั่ง Demand คือ ผู้บริโภค จากแนวโน้ม Healthy Lifestyle ทำให้ต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์สุขภาพ และยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ทำให้หันมาดูแลตัวเองมากขึ้น
เพราะฉะนั้นเมื่อทั้งผู้ผลิต ไม่ว่าจะรายใหญ่ หรือรายเล็ก ต่างพร้อมใจกระโดดเข้ามาแข่งขันในเซ็กเมนต์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ทั้งวิตามินซี และน้ำดื่มผสมวิตามิน ผนวกกับความต้องการของฝั่งผู้บริโภค ย่อมทำให้ปี 2021 เครื่องดื่มทั้งสองเซ็กเมนต์นี้ ยังคงแข่งกันดุเดือด!
Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand