กลายเป็น Now Normal สำหรับการใช้ชีวิตรูปแบบ “Hybrid” คือ การผสานระหว่างชีวิตออฟไลน์ และออนไลน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน ประชุม งานสัมมนา เสพความบันเทิงต่างๆ เช่น ดูหนัง คอนเสิร์ต ฯลฯ
การเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้การใช้ชีวิต และกิจกรรมต่างๆ จากที่เคยทำรูปแบบออฟไลน์ ต้องย้ายไปอยู่บนออนไลน์ และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย หรือสิ้นสุด อีกทั้งวัคซีนยังไม่ได้กระจายทั่วถึงทั่วโลก และประสิทธิภาพของวัคซีนยังไม่ 100% เท่ากับว่าวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ต้องอยู่ในรูปแบบ Hybrid
และคาดว่าเมื่อวันหนึ่งสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย หรือสิ้นสุดลงแล้ว แต่ด้วยโมเดล Hybrid สร้างความสะดวก ทำให้ผู้คน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สามารถเข้าถึงกิจกรรมนั้นๆ ได้ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้คนให้กับแบรนด์ได้ มีความเป็นไปได้ว่า บางกิจกรรมจะไปคู่กันทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์
– Video Conference ตอบโจทย์ Remote Working กลายเป็นวิถีการทำงานในทุกวันนี้
หนึ่งในแพลตฟอร์มการทำงาน เรียนออนไลน์ – ประชุม – สัมมนาออนไลน์ คือ แพลตฟอร์มประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์ หรือ Video Conference กลายเป็นช่องทางการสื่อสารสำคัญในการติดต่อ ทั้งเรื่องงาน เรียน รวมไปถึงพูดคุยกับคนในครอบครัว – เพื่อน ซึ่งมีให้เลือกใช้หลายแพลตฟอร์ม เช่น Zoom, Microsoft Teams, Google Meet, Slack, LINE, Skype
มีรายงานว่า COVID-19 เป็นตัวเร่งให้แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ขยายตัว และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวเลขมูลค่าตลาด Video Conference ทั่วโลกในปี 2019 อยู่ที่ 5.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าปี 2027 จะเพิ่มขึ้นเป็น 10.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในบรรดาแพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ที่มาแรง ต้องยกให้กับ “Zoom” ก่อตั้งโดย Eric S. Yuan เมื่อปี 2011 แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ชื่อของ Zoom เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นแพลตฟอร์มที่องค์กรต่างๆ นำมาใช้เวลาประชุมออนไลน์ และสัมมนารูปแบบ Webinar ทำให้รายได้ Zoom เติบโต
ในไตรมาส 3/2020 Zoom มีรายได้ 777.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูงถึง 367% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมผ่าน Zoom กว่า 300 ล้านคนต่อวัน
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า Zoom มีแผนพัฒนาบริการ “อีเมล์” และ “ปฏิทิน” โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบการให้บริการในช่วงต้นปี 2021 นับเป็นการพยายามสร้าง Ecosystem ของ Zoom ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มฐานผู้ใช้งาน และรายได้มากขึ้น โดยไม่พึ่งพาเฉพาะ Video Conference อย่างเดียว หลังจากเวลานี้องค์กรต่างๆ ได้ให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศตามปกติแล้ว
– Live Streaming – Webinar – Virtual Event ทางเลือกงานคอนเสิร์ต – สัมมนา
ถึงแม้ไม่ได้สร้างประสบการณ์ได้ 100% เหมือนกับไปเจอของจริง สัมผัสของจริงก็ตาม แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าเวลานี้แพลตฟอร์ม Live Streaming, Webinar และการจัดงานรูปแบบ Virtual Event ได้กลายเป็นทางเลือกของการจัดงานคอนเสิร์ต งานประชุม – สัมมนา และการแสดงต่างๆ เช่น แฟชั่นโชว์ นิทรรศการ
อย่างการจัด “Hybrid Concert” ที่เปิดขายบัตรสำหรับชมการแสดงในสถานที่จัดงานตามปกติ แต่จำกัดจำนวนผู้เข้าชม ขณะเดียวกันจำหน่ายบัตรสำหรับรับชมผ่านแพลตฟอร์ม Live Streaming ทำให้โมเดลรายได้มาจาก 3 ทาง คือ รายได้จากการขายบัตร On Ground รายได้จากบัตร Online หรือ Live Streaming และจากสปอนเซอร์
หนึ่งในตัวอย่างของการจัดงาน Hybrid Concert ในไทย คือ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” การจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบที่ออร์กาไนเซอร์ สถานที่จัดงาน (Hall) และศิลปิน มาร่วมกันทำงานโดยไม่ต้องมีผู้จ้าง แต่ทุกคนลงทุนในทรัพยากรที่ตัวเองมี ขายบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตทั้ง On Ground และ Live Streaming โดยราคาบัตรเข้าชมงาน สูงกว่าราคาบัตร Live Streaming ขณะที่รายได้นำมาแบ่งกัน
หรือการจัด “Virtual Event” เช่น อีเว้นท์แฟชั่นโชว์ จากเดิมทำในรูปแบบ On Ground มาโดยตลอด แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี ประกอบกับในยุค COVID-19 เพื่อให้การจัดงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเพื่อความปลอดภัยของผู้ชม ทำให้มีงานแฟชั่นโชว์บางงาน จัดรูปแบบ Virtual Event เช่น Shanghai Fashion Week พร้อมทั้ง Live Streaming และจับมือกับ TMall เพื่อเปิดให้มีการซื้อขายแบบ Real-time
– Video Streaming พลิกโฉมอุตสาหกรรมความบันเทิงทั่วโลก
คาดการณ์ว่าปี 2021 ยังคงเป็นปีทองสำหรับแพลตฟอร์ม “Video Streaming” ต่อเนื่องจากปี 2020 เพราะการเกิดขึ้นของ COVID-19 กลายเป็น “ตัวเร่ง” ให้แพลตฟอร์ม Video Streaming ยิ่งทวีบทบาทความสำคัญมากขึ้นในอุตสาหกรรมความบันเทิงทั่วโลก ทั้งกับสตูดิโอผลิตคอนเทนต์ ไม่ว่าจะรายใหญ่ กลาง หรือเล็ก คนในวงการคอนเทนต์ ตลอดจนเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมความบันเทิงของผู้คน
หนึ่งในแพลตฟอร์ม Video Streaming รายใหญ่ของโลก “Netflix” รายงานผลการดำเนินธุรกิจในปี 2020 ในไตรมาส 1 มียอดสมาชิกใหม่ เพิ่มขึ้น 15.77 ล้านคน ขณะที่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 10.1 ล้านคน ปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองไตรมาสดังกล่าว มียอด Subscriber เพิ่มขึ้น
เพราะมาจากมาตรการ Lockdown และการรณรงค์ Social Distancing ในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์บางประเทศปิดให้บริการชั่วคราว และคนอยู่กับบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคจึงแสวงหาความบันเทิง ในรูปแบบ Video Streaming มากขึ้น
ในขณะที่ไตรมาส 3 คนเริ่มกลับไปทำงาน ไปเรียน ไปใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น ทำให้ยอดสมาชิกใหม่เติบโตลดลงมาอยู่ที่ 2.2 ล้านคน ซึ่งยอด Subscriber โดยรวม (ณ ไตรมาส 3/2020) อยู่ที่กว่า 195 ล้านคน ส่วนไตรมาส 4 ประมาณการยอด Subscriber ใหม่อยู่ที่ 6 ล้านคน
ขณะที่อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ทั้งด้านคอนเทนต์ และแพลตฟอร์ม Video Streaming ที่น่าจับตามองที่สุดในเวลานี้ คือ “Disney Plus” (Disney+) ที่มาพร้อมกับความได้เปรียบของการมีบริษัทผลิตคอนเทนต์ภายในเครือ คอนเทนต์ในมืออยู่เพียบ เช่น คอนเทนต์ของค่าย Walt Disney Studios, Pixar, Marvel Studios, 20th Century Studios โดยหลังจากเปิดตัวเมื่อปี 2019 ถึงวันนี้มียอด Subscriber มากถึง 86.6 ล้านคนแล้ว!
ยอดสมาชิกดังกล่าว เป็นตัวเลขในขณะนี้ที่ Disney+ ยังไม่ได้ขยายครอบคลุมทั่วโลก มีให้บริการเฉพาะในบางประเทศเท่านั้น เช่น อเมริกา แคนาดา บางประเทศของยุโรป บางประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น
Disney+ ตั้งเป้าว่าในปี 2021 จะขยายมายังยุโรปตะวันออก และรุกตลาดเอเชีย พร้อมทั้งตั้งเป้าภายในปี 2024 หลังจากขยายตลาดทั่วโลกแล้ว จะมียอด Subscriber 230 – 260 ล้านคน
Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand