ปี 2020 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งพฤติกรรม วิถีการใช้ชีวิต การทำงาน รวมถึงการตลาดและการทำธุรกิจ โดยปัจจัยหลักมาจากการระบาดของวิกฤติโควิด-19 ที่สร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวงัดสารพัดกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ออนไลน์ และ โซเชียลมีเดีย เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงอย่างมากในปี 2020 เพราะสามารถตอบโจทย์ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ขณะที่ธุรกิจต้องปิดหน้าร้านชั่วคราว
ก้าวเข้าสู่ปี 2021 ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น การคาดการณ์พฤติกรรมความชอบของผู้บริโภคในการใช้โซเชียลมีเดียท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อ “โควิด-19” เริ่มกลับมาระบาดรอบใหม่อีกครั้ง เพราะจะช่วยให้แบรนด์สามารถวางแผนรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดย Facebook ได้สำรวจเทรนด์ต่างๆ เหล่านี้ที่จะมีผลต่อธุรกิจ เป็น 3 เทรนด์ที่น่าสนใจ ดังนี้
1.การใช้งานมือถือและวิดีโอสั้นมาแรง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การรับชมวิดีโอเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง แต่จากมาตรการล็อกดาวน์และการรักษาระยะห่างทางสังคมในปี 2020 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ไลฟ์สตรีม และผลักดันการเติบโตของการไลฟ์สตรีมทั่วโลกในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ถึงร้อยละ 45 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนผู้รับชมวิดีโอในรูปแบบดิจิทัลร้อยละ 77.5 ขณะเดียวกัน วิดีโอสั้นยังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากผู้คนต่างมองหาพื้นที่สำหรับการแสดงออกถึงตัวตนและเพื่อเข้าถึงความบันเทิง
จากเทรนด์เหล่านี้ เราคาดการณ์ว่าจะได้เห็นการเติบโตของ การชอปปิ้งออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานความบันเทิงและการขายสินค้าเข้าด้วยกัน ปลุกกระแสโดยผู้นำเทรนด์และเหล่าครีเอเตอร์ และสำหรับธุรกิจที่ต้องการเป็นที่จับตามองนั้น สิ่งสำคัญคือ การพิจาณาสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของแบรนด์ให้โดดเด่นบนโลกออนไลน์
2.แบรนด์ต้องสร้างประสบการณ์ขายผ่านออนไลน์
ธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าผู้คนในทุกช่วงอายุพร้อมเปิดรับช่องทางใหม่ๆ ในการค้นพบสินค้า รวมถึงวิถีการชอปปิ้งรูปแบบใหม่ ซึ่งอันที่จริง ในปี 2020 ที่ผ่านมา ผู้บริโภค 78% ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค้นพบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากช่องทางออนไลน์
ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่แบรนด์ต้องกล้าทดลองบริการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียโดยตรง การไลฟ์สดขายของ การซื้อของแบบ Click-And-Collect หรือบริการสมาชิกต่างๆ รวมไปถึงธุรกิจควรค้นหาแนวทางใหม่ๆ สำหรับแต่ละช่องทางและแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์
3.การซื้อขายผ่านการทักแชทและการค้าข้ามพรมแดน
เทรนด์สุดท้ายที่น่าจับตามองคือ การซื้อขายผ่านการทักแชท (Conversational Commerce) และการค้าข้ามพรมแดน การส่งข้อความเป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้คนใช้เพื่อพูดคุยกับธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด โดยในช่วงปีที่ผ่านมา จากข้อมูลพบว่ามีจำนวนบทสนทนาระหว่างผู้บริโภคและแบรนด์ต่างๆ บน Messenger และ Instagram เพิ่มขึ้นกว่า 40% และสำหรับ WhatsApp มีผู้คนกว่า 175 ล้านคนทั่วโลกที่ส่งข้อความไปยังบัญชีธุรกิจในแต่ละวัน
การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นว่าช่องทางการส่งข้อความ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อพูดคุยกับลูกค้าเกี่ยวกับข้อมูลผลิตภัณฑ์ อัปเดตสถานะการจัดส่ง และตอบคำถามทั่วไปเป็นสิ่งสำคัญ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคชื่นชอบการโต้ตอบแบบทันทีและทุกที่ทุกเวลา (always-on) ผ่านการส่งข้อความมากกว่า ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ จึงจำเป็นต้องรู้จักสร้างเครือข่ายภายในภูมิภาคและพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ
เพราะฉะนั้น ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็ก สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ค้นหาง่าย ทั้งยังสามารถมอบประสบการณ์ผ่านการสนทนาและบริการแบบไร้พรมแดน ทั้งหมดนี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ไม่เพียงแต่จะช่วยธุรกิจให้อยู่รอด แต่ยังคงเติบโตได้ต่อไป
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand