อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เกินไป ย่อมตกเป็นเป้าหมายเสมอ คำกล่าวนี้อาจกำลังเป็นจริงในจีนแผ่นดินใหญ่ กับเรื่องราวร้อนแรงของ 2 อาณาจักรอย่างอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) และเท็นเซนต์ (Tencent) ที่ถูกทางการจีนเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งของการถูกคุมเข้มมาจากความพยายามของอาลีบาบาและเท็นเซนต์ที่สยายปีกเข้าไปรุกหนักในตลาดการเงิน จนทำให้บริการอย่างอาลีเพย์ (Alipay) และวีแชทเพย์ (WeChat Pay) ของเท็นเซนต์ มีส่วนแบ่งตลาดในหมู่ผู้ใช้ชาวจีนมากถึง 55% และ 39% ตามลำดับ (อ้างอิงจาก Nikkei Asian Review) ขณะที่บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารไม่มีการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ เลย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้มาจากความพยายามของอาลีบาบา และเท็นเซนต์เพียงลำพัง เพราะในช่วงเริ่มต้น รัฐบาลจีนก็ให้การสนับสนุนพวกเขาอย่างมากในฐานะ “บริษัทเทคโนโลยี” เพื่อหวังให้เข้ามาช่วยพลิกรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงช่วยให้การจัดจำหน่ายทำได้สะดวกมากขึ้น
แต่อาลีบาบาและเท็นเซนต์ไม่ได้หยุดแค่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ตัวอย่างของความก้าวหน้าที่มากเกินไปอาจเป็นการตั้งกองทุนการเงินของอาลีบาบาชื่อ Yu’ebao ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานนำเงินที่เหลือในบัญชีของอาลีเพย์มาลงทุน และรับผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร อีกทั้งยังสามารถยกเลิกการลงทุนได้ง่าย ๆ ถ้าบังเอิญต้องใช้เงิน เพราะระบบจะคืนเงินกลับมาให้ใช้จ่ายในแอป Alipay ในเวลาไม่นาน
บริการดังกล่าวทำให้ชาวจีนเลือกนำเงินที่เหลือมาใส่ไว้ใน Yu’ebao แทนที่จะโอนเงินเหล่านั้นกลับไปใส่ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งแน่นอนว่าทำให้กองทุนดังกล่าวขยายตัวใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ ยอดบัญชีเงินฝากของ Bank of China หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของจีนในช่วงปลายปี 2017 มีเงินอยู่เพียง 1.79 ล้านล้านหยวน ส่วนกองทุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ Yu’ebao พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2018 มีเงินมากถึง 1.86 ล้านล้านหยวนเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น ในเดือนมิถุนายน 2020 กองทุนดังกล่าวของ Yu’ebao ยังมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเป็น 2.54 ล้านล้านหยวนด้วย
สะดวกกว่าด้วย “หยวนดิจิทัล”
การเติบโตที่รวดเร็วนี้จึงทำให้รัฐบาลจีนต้องหามาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อจำกัดการขยายตัวของ “บริษัทเทคโนโลยี” ในอุตสาหกรรมการเงิน ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การเรียกเก็บภาษีบริการดิจิทัลจากบริษัทขนาดใหญ่ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดิจิทัลหลาย ๆ ฉบับให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการใช้ “หยวนดิจิทัล” อย่างแพร่หลาย
Yao Qian ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายเทคโนโลยีแห่งคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์จีน (the China Securities Regulatory Commission) เคยกล่าวถึงหยวนดิจิทัลเอาไว้ว่า มันคือสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางใด ๆ อีกทั้งจากข้อมูลในปัจจุบัน ผู้ใช้งานสามารถเปิดบัญชีหยวนดิจิทัลได้ที่ธนาคารที่มีบัญชีเงินฝาก และสามารถแปลงเงินสดที่มีมาเป็นเงินหยวนดิจิทัลเพื่อใช้จ่ายได้เลย
นอกจากนั้น ในการจ่ายเงินหยวนดิจิทัล ผู้ใช้ยังไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างสัญญาณอินเทอร์เน็ตอีกด้วย เพียงแค่นำสมาร์ทโฟนไปอยู่ใกล้ ๆ กับสมาร์ทโฟนของคนที่เราจะจ่ายเงินให้ก็เพียงพอ ซึ่ง Yao Qian มองว่า หยวนดิจิทัลจะช่วยลดความยุ่งยากในการใช้จ่ายเงินลงได้พอสมควร เนื่องจากไม่ต้องโอนเงินจากบัญชีเงินฝากไปไว้ที่ตัวกลางอย่าง อาลีเพย์ หรือวีแชท เพย์เหมือนในอดีต
การสนับสนุนให้หยวนดิจิทัลเติบโต ส่วนหนึ่งมองได้ว่า ทำไปเพื่อลดทอนอำนาจที่บริษัทเทคโนโลยีครอบครองไว้อย่างช้า ๆ ซึ่งถือเป็นกุศโลบายที่น่าสนใจ โดย Yao Qian มองว่า การเข้าไปควบคุมบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างรวดเร็วผ่านมาตรการต่าง ๆ อาจส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจของจีนโดยรวมได้ เพราะปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีมีอิทธิพลค่อนข้างสูงมากในจีนนั่นเอง
นอกจากจีนที่กำลังต่อกรกับบริษัทเทคโนโลยีในประเทศตัวเองแล้ว อินเดียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เคยเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวมาก่อน และประสบความสำเร็จมาแล้วกับการดึงอำนาจด้านการใช้จ่ายกลับมาจากบริษัทเทคโนโลยี กับการเปิดตัวระบบชำระเงินชื่อ Unified Payments Interface (UPI) ขึ้นเมื่อปี 2016 ซึ่งบริการนี้จะเชื่อมโยงบัญชีเงินฝากธนาคารเข้ากับระบบการชำระเงินของสมาร์ทโฟน คนจ่ายเงินเพียงแค่สแกน QR Code ของร้านที่เราจะซื้อของ และทำตามกระบวนการที่กำหนด เงินก็จะถูกโอนออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของเราไปยังบัญชีธนาคารของผู้รับทันที
ความสะดวกสบายของ UPI ทำให้แอปฯที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางด้านการชำระเงินในเวลานั้นอย่าง Paytm (เป็นบริษัทสัญชาติอินเดียซึ่งมี Ant ของอาลีบาบา และ SoftBank หนุนหลัง) เสียศูนย์ไปพอสมควร
กรณีของจีนจึงอาจเกิดภาพเช่นเดียวกันได้ หากหยวนดิจิทัลที่มีความสะดวกสบายในการใช้งานเติบโตได้ดี อาณาจักรด้านการเงินของอาลีบาบา และเท็นเซนต์ ก็อาจเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ในอนาคตนั่นเอง