สถานการณ์ Covid-19 ลากยาวตั้งแต่ต้นปี 2020 ถึงปัจจุบัน หลายประเทศยังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ หลายอุตสาหกรรมกระทบหนัก รวมทั้ง การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) ปีที่ผ่านมามูลค่าทั่วโลก -30% รวมถึงไทยที่ชะลอตัวลง แต่ประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้แล้วอย่าง “จีน” เริ่มมองโอกาสการลงทุนอีกครั้ง และ “ไทย” เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญที่เม็ดเงินจะทะลักเข้ามาจำนวนมากหลังจากจีน “อั้น” มา 2 ปี
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center: EIC) โดย ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน EIC สรุปภาพรวม การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ หรือ FDI ปี 2020 ว่าทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก จากสาเหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง -4.16% แต่ที่ส่งผลหนักคือ สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจาก Covid-19 ทำให้การลงทุนต้องเลื่อนออกไปก่อน จากมาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ
โดย UNCTAD ประมาณการปี 2020 การลงทุนระหว่างประเทศทั่วโลก -30-40% เทียบปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นระดับต่ำสุด นับตั้งแต่ปี 2015 หรือ 5 ปีก่อนหน้า
หลังจากเศรษฐกิจโลก -4.16% ในปีที่ผ่านมา ปี 2021 ก็น่าจะฟื้นตัวได้ที่ 5.4% แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนจากการเกิดโรคโควิดระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ที่ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญในการลงทุน
ส่วนแนวโน้มการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ ปี 2021 UNCTAD คาดว่าก็ยัง -10% จากผลกระทบโควิด แต่เชื่อว่าการลงทุนจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2022
“เอเชีย” กระทบน้อยสุด “จีน”ไต่เบอร์ 2 ยื่นขอลงทุนไทย
หากดูเม็ดเงินการลงทุน FDI ในปี 2020 รายภูมิภาค “เอเชีย” ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ กล่าวคือ เอเชีย -12% ยุโรป -103% อเมริกาเหนือ -56% ละตินอเมริกาและแคริเบียน -25% และแอฟริกา -28% ที่เอเชียลดลงน้อยกว่าเพราะสามารถควบคุมโควิดได้ดีเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทำให้ จีน ฮ่องกง ก็ยังมีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน
สำหรับ FDI ในประเทศไทย ช่วง 3-4 ปีหลังปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่อง ในช่วงปี 2017-2019 การยื่นขอส่งเสริมการลงทุนสะสมจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมูลค่าราว 1.34 ล้านล้านบาท โดยนักลงทุนที่ยื่นขอหลักๆ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ราว 80% อยู่ในกลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก บริการและสาธารณูปโภค ผลิตภัณฑ์โลหะ
โดยตั้งแต่ปี 2017-2019 มูลค่าต่างชาติยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI นักลงทุนจีนมาเป็นอันดับ 2 (ก่อนหน้านั้นไม่ติดอันดับท็อป 5) ถือว่านักลงทุนจีนให้ความสนใจกับการลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก แม้อันดับ 1 คือ สหรัฐฯ แต่มาจากโครงการใหญ่ Exxon Mobil ยื่นขอ BOI ในหมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติกและกระดาษ มูลค่า 3 แสนล้านบาท หากไม่นับโครงการนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “จีน” เป็นประเทศที่ยื่นขอ BOI สูงสุด
โดยในปี 2019 จีนยื่นขอ BOI สูงสุดในประวัติการณ์ที่ 290,000 ล้านบาท ทิ้งห่างอันดับ 2 ญี่ปุ่นที่ยื่นขอ 69,000 ล้านบาท ถึง 4 เท่า
ภาพรวมการลงทุนจากต่างประเทศในไทย เซ็กเตอร์ที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ เคมีภัณฑ์ บริการ สาธารณูปโภค ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักร
ก็พบว่า “จีน” เป็นประเทศที่มีการลงทุนหมวดสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น เช่น ระบบขนส่งทางราง การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รองลงมาผลิตภัณฑ์เครื่องจักรโลหะ อุปกรณ์ขนส่ง ผลิตยางล้อรถยนต์ บางส่วนเป็นการปรับฐานการผลิตของจีน ย้ายมาไทยหลังเจอสงครามการค้า
หากดูตัวเลข 9 เดือนแรก 2020 ซึ่งเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ตัวเลขการยื่นขอลงทุน BOI -30% แต่มูลค่าการลงทุนที่ได้รับอนุมัติ ปี 2020 เพิ่มขึ้น 21% ซึ่งมาจากการยื่นขอในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าเม็ดเงินการลงทุนยังเข้ามาต่อเนื่อง แม้การเข้ามาขอส่งเสริมการลงทุนใหม่ยังมีอุปสรรคการเดินทางเข้ามาในช่วงโควิดนี้
ปี 2020 ประเทศที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มากที่สุด คือ ญี่ปุ่น แต่ประเทศที่ได้รับอนุมัติลงทุนสูงสุด คือ จีน ที่ มูลค่า 51,500 ล้านบาท เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จีนจะลงทุนเร็วกว่าประเทศอื่นๆ เชื่อว่าการลงทุนจากจีนยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” หลังจากนี้
ไทย-CLMV ฐานลงทุนสำคัญ“จีน”
หลังจากทั่วโลกเจอวิกฤติโควิดกระหน่ำในปีที่ผ่านมาฉุดจีดีพีร่วงทั่วโลก แต่ “จีน” เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่จีดีพี ปี 2020 ยังเติบโตได้ 2% ท่ามกลางประเทศต่างๆ ติดลบ มาปี 2021 เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตได้ 8.3% ทำให้ภูมิภาคเอเชีย จะได้ประโยชน์จากการลงทุนของจีน
คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2015-2019 การลงทุนของประเทศจีนในภูมิภาคเอเชียและไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากเม็ดเงินการลงทุนในต่างประเทศของจีน ปี 2019 ในเอเชีย อยู่ที่ 146,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้อยู่ในอาเซียน 11% CLMV 3-4% (หลักๆ อยู่ในเวียดนาม) และไทย 1% (เพิ่มขึ้นจาก 0.3% ในปี 2015) นั่นคือโอกาสของไทยที่จะขยายได้อีก เมื่อเทียบกับสัดส่วนปริมาณการค้าไทย-จีน
สัดส่วนลงทุนใน CLMV สูงกว่าไทย เป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานต้องพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากจีนสูง ซึ่งเป็นเงินลงทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกัน CLMV 3 ประเทศมีพรมแดนติดกับประเทศจีนจึงมีการค้าใกล้ชิด จึงดึงเม็ดเงินลงทุนได้มากกว่า รวมทั้งปัจจัยต้นทุนต่ำกว่า
แต่ไทยสามารถใช้จุดเด่นเรื่องการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ความพร้อมเรื่องบุคลากร และเทคโนโลยี มาเป็นจุดดึงดูดการลงทุน และต่อยอดการลงทุนให้นักธุรกิจจีน
5 ประเด็นนักธุรกิจจีนแห่ลงทุนไทย หลังโควิดเม็ดเงินทะลัก
เพื่อให้เห็นทิศทางการลงทุนจีนในประเทศไทย ในปี 2021 ไทยพาณิชย์โดย EIC ได้จัดสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนจีน ทั้งที่เคยมาลงทุนในไทยและกลุ่มที่สนใจเข้ามาลงทุน ในธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ที่อยู่ในจีนและในประเทศไทยจำนวน 170 ราย ถึงแผนการลงทุนขยายธุรกิจในประเทศไทย
พบว่านักลงทุนจีนมากกว่า 2 ใน 3 มีความสนใจที่จะขยายการลงทุนมายังประเทศไทยภายในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า ที่น่าสนใจคือราว 60% เป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน
มาดู 5 ประเด็นหลักที่นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
1. ความเชื่อมั่นหลังโควิด-19
ประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนจากจีนมาลงทุนในไทยหลังโควิด จะมี “มากเกินความคาดหมาย” และสูงกว่าปี 2020 จำนวนมาก เนื่องจากดีมานด์ถูก “อั้น” ไว้ในปีที่ผ่านมา จากทั้งปัจจัยการเมืองจีนกับสหรัฐ และประเทศตะวันตกไม่ราบรื่นนักจากภาวะสงครามการค้า (Trade War) ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิต
เดิมนักลงทุนจีนที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว ต้องการขยายฐานการผลิตไปในประเทศอื่น ทั้งสหรัฐฯ หรือ ยุโรป เพิ่มขึ้น แต่จากปัญหาสงครามการค้า ทำให้กลับมามองการขยายลงทุนในอาเซียนและไทยอีกครั้ง
โดย 2 ใน 3 หรือ 66% ของนักธุรกิจจีนบอกว่า จะลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ลงทุนเท่าเดิม 22% และน้อยลง 12%
2. ตลาดไทยมีศักยภาพและเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศอาเซียน
หากดูปัจจัยที่เลือกลงทุนไทย กว่า 56% มาจากต้องการเจาะกำลังซื้อตลาดไทย เพราะหลายแบรนด์สินค้าจีนที่ประสบความสำเร็จในจีน ต้องการมาขยายทำตลาดไทยและอาเซียน
กว่า 40% ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิต การทำตลาดและขยายไปในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และอีก 37% ต้องการใช้วัตถุดิบในไทย
เห็นได้ว่าปัจจัยหลักๆ ที่นักลงทุนจีนเลือกลงทุนในไทย ไม่ได้มองเรื่อง “ต้นทุน” ค่าจ้างแรงงานต่ำ แต่มองเรื่องศักยภาพตลาดเป็นหลัก และเป็นจุดยุทธศาสตร์อาเซียน นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐาน EEC สนับสนุน
3. ขยายการลงทุนกลุ่มธุรกิจบริการและเทคโนโลยี
ปัจจุบันจีนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก แต่ปัจจัยการลงทุนที่ต้องการเข้ามาเจาะกำลังซื้อตลาดไทยโดยตรง จะมีความหลากหลายของอุตสาหกรรมและธุรกิจมากขึ้น กระจายไปอยู่ในธุรกิจบริการ เทคโนโลยี โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ เชนร้านอาหารจีน สำนักงานทนายความ จะเห็นการลงทุนภาคบริการมากขึ้น
4. สั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากไทย
นอกจากนี้แม้ไม่มาลงทุนแต่ก็มีความต้องการสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทยมากขึ้น พบว่ากว่า 50% มีการสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบจากไทยไปทำตลาดและผลิตสินค้าในฐานการผลิตอื่นๆของจีน และกว่า 80% สนใจสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ใน 2 ปีข้างหน้า
5. โครงการขนาดเล็กเข้ามาลงทุนมากขึ้น
จากการขยายอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาลงทุนในไทย ในภาคบริการ เทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้ง SME ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุนของนักธุรกิจจีน โดยเม็ดเงินลงทุนต่อโครงการมีขนาดเล็กลง แต่มีจำนวนมากขึ้น
เดิมเน้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง เช่น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ มาสู่การลงทุนขนาดเล็กลง จากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 57% สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยใช้เม็ดเงินลงทุนมูลค่าต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อโครงการในระยะ 1-2 ปีจากนี้ ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างและขนาดของการลงทุนในอดีตที่เป็นการลงทุนที่มักจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท
โดยมีกลุ่ม SME จีนต้องการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า อีกทั้งต่อยอดห่วงโซ่อุปทานของสายการผลิตให้กับอุตสาหกรรมหลัก (Supply Chain Integration) ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในช่วงแรกน้อยลงเพื่อเรียนรู้ตลาดก่อนขยายธุรกิจในอนาคต ตามทิศทางการเติบโตโดยภาคธุรกิจบริการและเทคโนโลยี เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของนักธุรกิจจีนที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง
แม้ไทยจะเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ และยังเป็นอุปสรรคที่นักลงทุนจีนไม่สามารถเข้ามาไทยได้ แต่จากผลสำรวจเชื่อว่าหลังจากโควิดเริ่มคลี่คลายในครึ่งปีหลังและเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชน เมื่อการเดินทางกลับมาปกติ จะมีดีมานด์การลงทุนจากประเทศจีนกลับมาแบบที่เรียกว่า “ล้นหลาม” หลังจากอั้นลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง “ไทย” และอาเซียน ยังเป็นตัวเลือกลงทุนที่ดีของจีน
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand