นับตั้งแต่ปี 2020 ต่อเนื่องมาถึงปี 2021 “COVID-19” ยังคงอยู่กับคนทั่วโลก การแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นทั่วโลกครั้งนี้ กลายเป็น “ตัวเร่ง” ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การใช้จ่าย การบริโภค สังคม และเศรษฐกิจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม โดยที่หลายอย่าง เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป!
Euromonitor International รายงานผลสำรวจและวิจัย Top 10 Global Consumer Trends 2021 ฉายภาพ 10 เทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในปีนี้ พร้อมด้วยคำแนะนำให้กับภาคธุรกิจ – แบรนด์ ปรับตัวรองรับสิ่งปกติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น
1. Build Back Better: ผู้บริโภคหวังให้โลกจะกลับมาดีขึ้น และอยากให้องค์กร – แบรนด์ เคลื่อนไหวเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ ลดการใช้พลาสติก และความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทั่งเกิด COVID-19 การแพร่ระบาด และการให้ความช่วยเหลือสังคมอย่างเร่งด่วน กลายเป็นวาระสำคัญลำดับแรก
หลังจากผู้คนทั่วโลกเผชิญอยู่กับการแพร่ระบาดไวรัสมา 1 ปีเต็มของปี 2020 และต่อเนื่องมาถึงปี 2021 ผู้บริโภคคาดหวังว่าหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย หรือสิ้นสุดลงแล้วนั้น อยากให้องค์กร – แบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นหลักๆ ดังนี้
– การปกป้องสุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
– ให้ความช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น
– ส่งเสริมเป้าหมายความยั่งยืน ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มากกว่าจะโฟกัสแค่ผลประกอบการธุรกิจ
ผู้บริโภคเชื่อว่าจากเหตุการณ์ COVID-19 ยิ่งสร้างความตระหนักว่า เราทุกคนต้องการสภาพอากาศที่ดีขึ้น สะอาดขึ้น และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น จึงมุ่งหวังจะสร้างโลกให้ดีกว่าเดิม และมองหาแบรนด์ที่มีกระบวนการธุรกิจไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำเสนอสินค้าที่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น มีความยืดหยุ่น และเท่าเทียมกัน
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ธุรกิจจะ Reposition จากกลยุทธ์มุ่งแสวงหากำไรอย่างเดียว ไปสู่ “Purpose-driven”
– ภายใต้แนวคิด Purpose-driven องค์กร – แบรนด์ให้ความสำคัญกับ “3Ps” ประกอบด้วย People, Planet และ Profits ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้แค่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เป็นองค์กร – แบรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ
– พัฒนาปรับปรุงธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น สร้าง และรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ (Brand Reputation) และสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน
2. Craving Convenience: เทคโนโลยีดิจิทัล ตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค
ก่อนเกิด COVID-19 “ความสะดวกสบาย” กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่แล้ว กระทั่งการแพร่ระบาดไวรัส ทำให้ทั้งสังคมต้องรักษาระยะห่าง และจำกัดความหนาแน่นของผู้คนในสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้จากเดิมที่ผู้บริโภคสามารถ Walk-in เข้าไปใช้บริการในร้านค้า ร้านอาหาร หรือการเข้าชมอีเว้นท์ หรือกิจกรรมต่างๆ ได้เลย ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้จองคิวล่วงหน้า เพราะฉะนั้นเมื่อผู้คนยังคงต้องการความสะดวกสบายเช่นเดิม ผู้บริโภคจึงหันไปพึ่งพาช่องทางดิจิทัลมากขึ้น
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: COVID-19 เป็นตัวเร่งให้แบรนด์ นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ซึ่งช่วงเวลานี้ เป็นช่วงของการทดลองใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการกับลูกค้า เช่น
– ใช้ระบบจองคิวดิจิทัล
– นำ QR Code มาให้บริการกับลูกค้า เพื่อเรียกดูเมนู หรือค้นหาสินค้าที่ต้องการในระหว่างรอคิวเข้าไปร้าน
– เทคโนโลยี Self-serve และ Touchless ทั้งหลาย
อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้บริการลูกค้า แบรนด์ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของวัย เนื่องจากผู้บริโภคแต่ละ Generation ต้องการความสะดวกสบายที่แตกต่างกัน
คนอายุน้อย ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ มากกว่า ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานจริงๆ มากกว่า
ดังผลวิจัยพบว่า 68% ของผู้บริโภคที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ชอบที่จะพูดคุยกับพนักงานที่เป็นมนุษย์มากกว่า เพราะฉะนั้นการส่งมอบประสบการณ์ความสะดวก แบรนด์ต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของช่วงวัยด้วยเช่นกัน
3. Outdoor Oasis: ผู้บริโภคต้องการพื้นที่พักผ่อนกลางแจ้ง และธรรมชาติ
เมื่อคนทั่วโลกเจอภัยคุกคามด้านสุขภาพ ทั้งยังมีข้อจำกัดในการเดินทาง และต้องทำงานรูปแบบ Remote Working ทำให้หลังสถานการณ์ Pandemic หนึ่งในความปรารถนาของผู้คน คือ ต้องการใช้ชีวิตในพื้นที่ Outdoor หรือ Open Air ไม่ว่าจะทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ และพักผ่อน เพื่อฟื้นฟู หรือผ่อนคลายทั้งร่างกาย และจิตใจ
นอกจากนี้คาดการณ์ว่าต่อไปการทำงานระยะไกล (Remote Working) กลายเป็นวิถีปกติใหม่ และการวิจัยนี้ยังพบ Insights ว่า
– ผู้บริโภคบางคนมีความคิดจะย้ายออกจากเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ไปยังต่างจังหวัดที่เงียบ สงบ และชุมชนในพื้นที่ชนบทมีมลพิษน้อยกว่าในเมือง จึงมองว่าด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ จะส่งผลดีต่อสุขภาพ
– คนที่อยากย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด มองว่าการย้ายจากสังคมเมืองที่มีค่าครองชีพสูง ไปยังต่างจังหวัด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ธุรกิจ หรือแบรนด์ควรนำเสนอประสบการณ์พื้นที่การพักผ่อนกลางแจ้งให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการให้บริการส่วน Indoor เช่น
– คอนเสิร์ตแบบ Open Air
– เทศกาลกลางแจ้ง
– ธุรกิจร้านอาหาร และคาเฟ่ ให้บริการ Outdoor Restaurant/Café รูปแบบใหม่ เช่น ทำร้านกาแฟคอนเซ็ปต์แคมป์ปิ้ง
– โรงภาพยนตร์รูปแบบ Drive-in Cinema
– สตูดิโอฟิตเนส เปิดคลาสออกกำลังกายรูปแบบ Open Air
– สถานที่พัก มีพื้นที่สำหรับตั้งแคมป์ พร้อมก้บมีอุปกรณ์แคมป์ปิ้งให้เช่า ซึ่งปัจจุบันเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม
การนำเสนอพื้นที่พักผ่อน หรือกิจกรรมสันทนาการต่างๆ แบบ Open Air จะช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ พร้อมไปกับการรักษาฐานลูกค้าเก่า ที่เดิมทีมีแต่บริการ Indoor แต่เมื่อมีบริการรูปแบบ Outdoor เพิ่มเข้ามา จะสร้างความสนใจให้กับลูกค้าเดิม มาใช้บริการต่อเนื่อง
4. Phygital Reality: การผสานระหว่าง Physical & Digital World
Phygital Reality คือ Physical + Digital หมายถึงการผสานความสามารถทางดิจิทัล และทางกายภาพ (Physical) เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าทำงาน เรียน ซื้อของ เล่น ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น
– การประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์
– เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ
– เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) สร้างพฤติกรรมใหม่ผู้บริโภค ทั้งการทำงาน การเรียน ออกกำลังกาย ช้อปปิ้ง และการเข้าสังคม
ทุกวันนี้ผู้คนพึ่งพาอุปกรณ์ดิจิทัล – แพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งอยู่ในบ้าน และออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ได้สนใจว่ากิจกรรม หรือสิ่งที่กำลังอยู่ จะอยู่บนดิจิทัล หรือ Physical เพราะพวกเขาไม่ได้แยกสองโลกออกจากกัน แต่มองว่ามันคือหนึ่งเดียวกัน
หรือแม้แต่กลุ่มเด็ก ที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล ก็มองว่าสิ่งของทุกอย่างนั้น มีเทคโนโลยีด้วยเสมอ อย่างของเล่น ก็ยังมีเทคโนโลยีโต้ตอบอัตโนมัติ (Interactive Technology) และเมื่อผู้บริโภคคนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตขึ้น “Phygital Reality” จะกลายเป็นสิ่งปกติใหม่
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: นำเสนอประสบการณ์ Phygital เพื่อสร้างยอดขาย และเข้าถึง Data ได้มากขึ้น
– ปัจจุบันร้านค้า Brick-and-mortar เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาให้บริการกับลูกค้าแล้ว เพื่อทำให้การมาที่ร้าน มีความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และผสานประสบการณ์ดิจิทัล เข้ากับบริการออฟไลน์ เช่น ระบบจองผ่านมือถือ QR Code เมนู และชำระค่าสินค้า-บริการแบบไร้สัมผัส ติดตั้งเทคโนโลยีห้องลองชุดแบบเสมือนจริง เพื่อลดการสัมผัส และลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
– ภาคธุรกิจ นำเสนอ Solution เสมือนจริง เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น ใช้เทคโนโลยี VR ส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยว แบรนด์ใช้เทคโนโลยี AI ที่เรียนรู้พฤติกรรม ความชอบ ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน ช่วยในการขาย และส่งมอบประสบการณ์เฉพาะบุคคล เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และของใช้ส่วนตัว ที่ Personalize เฉพาะบุคคล
5. Playing with Time: ผู้บริโภคต้องการแบรนด์ตอบโจทย์เวลาที่ยืดหยุ่น
ชีวิตในแต่ละวันของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ว่าจะชีวิตการทำงาน ดูแลครอบครัว รับ-ส่งลูกที่โรงเรียน และชีวิตส่วนตัว
ด้วยความที่ในแต่ละวัน เต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย และต้องจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำ นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคคาดหวังให้ภาคธุรกิจ หรือแบรนด์ สามารถตอบสนอง “ความยืดหยุ่นด้านเวลา”
จากเดิมที่ภาคธุรกิจ กำหนดช่วงเวลาการให้บริการ เช่น บางองค์กร หรือบางกลุ่มธุรกิจเปิดให้บริการ เฉพาะ 9-to-5 (9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น) ในวันทำงานเท่านั้น ซึ่งผู้บริโภคอยากให้ภาคธุรกิจ หรือแบรนด์ปรับเวลาการให้บริการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
สะท้อนได้จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า
51% ของผู้บริโภคต้องการเป็นผู้เลือกเวลาด้วยตัวเอง
46% ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ Virtual Experience
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้เป็นวัฒนธรรมการให้บริการ 24 ชั่วโมง
เมื่อคนเราทุกวันนี้มีกิจกรรมในชีวิตมากมาย และต้องการเป็นผู้กำหนด หรือเลือกเวลาด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการดำเนินธุรกิจ ด้วยวัฒนธรรมการให้บริการ 24 ชั่วโมง จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกเวลาได้ตามตารางชีวิตของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การให้บริการ 24 ชั่วโมงในที่นี้ ไม่ได้หมายความหากเป็นร้านค้าที่เปิด Physical Shop ต้องเปิดหน้าร้านตลอด 24 ชั่วโมง แต่ให้ใช้ข้อดีของระบบออนไลน์ เข้ามาให้บริการ เช่น เปิดช่องทางออนไลน์ มีระบบรองรับคำสั่งซื้อ และการตอบกลับ ซึ่งแบรนด์ที่สามารถให้บริการผู้บริโภคได้ 24 ชั่วโมง ย่อมเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจมีรายได้มากขึ้น
6. Restless and Rebellious: หลายประเทศเผชิญวิกฤตความเชื่อมั่นทางการเมือง และหลังปลดล็อคดาวน์ ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ กระหน่ำช้อป
ผู้บริโภคหลายคนรู้สึกไม่ไว้วางใจในความเป็นผู้นำ และรัฐบาลของประเทศตัวเอง ก่อให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นทางการเมือง
– ในสหรัฐอเมริกา มีเพียง 17% ของชาวอเมริกันที่เชื่อมั่นในรัฐบาล
– ในชิลี มีเพียง 5% ที่เชื่อมั่นในรัฐบาล
– เกิดการประท้วงรัฐบาลในหลายเมือง เช่น ปารีส ของฝรั่งเศส ซานติอาโก ที่ชิลี พอร์ตแลนด์ สหรัฐฯ และฮ่องกง
– เยาวชนไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับระบบการเมือง โดยเชื่อว่าผู้ที่มีอำนาจไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง
– ความไม่เชื่อมั่นทางการเมือง นำไปสู่การประท้วง จลาจล และการคว่ำบาตร
– Social Media กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปลอม หรือการให้ข้อมูลผิดๆ
ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ COVID-19 ที่รัฐบาลต้องดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยมาตรการ Lockdown กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิด Mindset “ME-First” คือ ผู้บริโภคต้องการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน (Need) และความต้องการที่มากขึ้น (Want) ของตัวเอง ดังนั้น หลังจากถูกจำกัดการใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในบ้านเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อปลด Lockdown ผู้บริโภคบางส่วนออกมาจับจ่าย เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น หรือที่เรียกว่า “Revenge Shopping” (การช้อปปิ้งแก้แค้น) ซึ่งการใช้จ่ายในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่สามารถใช้จ่ายได้ เช่น
– ผู้บริโภคจีนพากันช้อปปิ้งแบรนด์หรู หลังปลด Lockdown อย่างแบรนด์หรูจากฝรั่งเศส “Hermès” ที่กวางโจว ภายในวันเดียว ทำยอดขายมากถึง 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ผู้บริโภคมองหากิจกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เช่น ปาร์ตี้ผิดกฎหมาย การพนันออนไลน์ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในราคาจับต้องได้ อาหารสำเร็จรูป และวิดีโอเกม ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ดังผลวิจัยพบว่า 34% ของผู้บริโภคเล่นวิดีโอเกมออนไลน์ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารอยู่รอบตัวผู้บริโภคมากมาย องค์กร หรือแบรนด์ต้องแน่ใจได้ว่าการสื่อสาร หรือการทำการตลาดของแบรนด์ นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง อยู่บนความจริง เนื่องจากผู้บริโภคคาดหวังข้อมูลถูกต้อง
7. Safety Obsessed: ผู้บริโภคตระหนักถึงสุขภาพ – สุขอนามัย เร่งสังคมเข้าสู่ยุค Touchless – Cashless
นับตั้งแต่เกิด COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และสุขอนามัยเพิ่มขึ้น โดยคนพยายามหลีกเลี่ยงไปสถานที่สาธารณะ และเลี่ยงสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ในที่สาธารณะ
ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “Safety Obsessed” คือ ความเคลื่อนไหวด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่ผู้บริโภคกลัวการติดเชื้อ และตระหนักต่อสุขภาพมากขึ้น ส่งผลต่อ Demand กลุ่มสินค้าบางประเภท และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คือ
– ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Hygiene มีความต้องการเพิ่มขึ้น
– ผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีไร้การสัมผัส (Touchless Technology) เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ กลายเป็นเรื่องปกติ เช่น ชำระเงินด้วย e-Wallet
– การใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เวลาออกนอกบ้าน กลายเป็นนิสัยติดตัวไปแล้ว
– ผู้บริโภครู้สึกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในอนาคต
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: ความปลอดภัย และสุขภาพ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างแรก ดังนั้นองค์กรในอุตสาหกรรมต่างๆ ควรพัฒนานวัตกรรม หรือฟังก์ชั่นสินค้า – บริการที่ตอบโจทย์ด้านสุขอนามัย
ขณะเดียวการให้บริการที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง จะลดลง ทำให้รูปแบบร้านค้าที่ลูกค้าบริการตัวเอง และอีคอมเมิร์ซ จะได้รับความนิยมในวงกว้างขึ้น และผู้บริโภคจะพิจารณาเลือกแบรนด์ ที่ปลอดภัย และมีภาพลักษณ์เชื่อถือได้
8. Shaken and Stirred: ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ – สร้างสมดุลให้ชีวิต – ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่
COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน และเป็นบททดสอบทางด้านจิตใจ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ทั้งการแพร่ระบาด และความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจ
“การมีสุขภาพจิตที่ดี” จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีสุขภาพดี แต่ผลจากการแพร่ระบาดไวรัส นำมาซึ่งความเครียด ความเสี่ยงต่อสุขภาพ การว่างงาน ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ความโดดเดี่ยว และความต้องการบทบาทใหม่ – ทักษะใหม่ในชีวิต
ดังนั้น ผู้บริโภคจึงพยายามหาทางออกให้กับตัวเองเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิต การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และการใช้ชีวิต หางานอดิเรกใหม่ๆ ในโลกที่ต้องเว้นระยะห่าง รวมไปถึงการลงทุนเรียนรู้ทักษะใหม่ เพื่อปรับตัวรับอนาคตที่กำลังจะมา โดยมีผลวิจัยพบว่า
– ก่อนการระบาดไวรัส 46% ของ Gen Z และ 50% ของ Gen Millennials ชอบใช้จ่ายไปกับประสบการณ์ใหม่ แต่สถานการณ์ COVID-19 กลายเป็นข้อจำกัดการใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำให้ผู้บริโภคสนใจกิจกรรมในบ้าน ทำให้ยอดขายสินค้าด้านการศึกษา ของเล่น เกม และงานอดิเรกทั่วโลกเติบโตขึ้น
– งานศิลปะ และงานฝีมือ เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา และคอร์สเรียนออนไลน์ ได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคมองหาสินค้า และบริการที่ช่วยให้พัฒนาทักษะเฉพาะทาง
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: แบรนด์ควรนำเสนอสินค้า หรือบริการที่ช่วยพัฒนาทักษะ สนับสนุนการสร้างสมดุลชีวิต และมีความยืดหยุ่นด้านการเงินให้กับลูกค้า
9. Thoughtful Thrifters: เศรษฐกิจไม่แน่นอน ผู้บริโภคประหยัด และระมัดระวังการใช้จ่าย
ในขณะที่มีผู้บริโภคส่วนหนึ่งใช้จ่ายหลังปลด Lockdown เพื่อตอบสนองความต้องการ และทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น อีกด้านหนึ่ง มีผู้บริโภคที่ระมัดระวังการใช้จ่าย โดยพิจารณาการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ รวมไปถึงลดการใช้จ่าย
เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังไม่มีความแน่นอน ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในงาน และรายได้ครัวเรือนลดลง เป็นเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่าย และต้องการสินค้าราคาไม่แพง
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: แบรนด์ควรนำเสนอสินค้าคุ้มค่าคุ้มราคา (Value for money) ตอบโจทย์ความสะดวก ขยายตลาดด้วยช่องทางออนไลน์ และมีบริการจัดส่ง Last-mile Delivery ที่รวดเร็ว หรือมีบริการเสริมเพิ่มเติม
นอกจากนี้ องค์กรหรือแบรนด์อาจขยายโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น ให้เช่าสินค้า โดยอยู่บนแกนของการทำสินค้าราคาเข้าถึงง่าย และตอบโจทย์ความยั่งยืน รวมทั้งขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาดด้วย Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถ Tailor-made การทำโปรโมชั่นให้เหมาะสมกับแต่ละตลาด แต่ละกลุ่มเป้าหมาย
10. Workplaces in New Spaces: ทำงานที่บ้าน กระทบต่อวิถีชีวิต – ตลาดเครื่องสำอาง และชุดทำงาน
การทำงานจากที่บ้าน ไม่ใช่แนวคิดใหม่ และมีมานานแล้ว แต่ปี 2020 ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้คนทำงานต้องเปลี่ยนบ้าน ให้กลายเป็นสถานที่ทำงานของตัวเอง และถึงแม้เวลานี้ มีการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแล้ว แต่ยังไม่ได้ 100% โดยหลายองค์กรใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างทำงานที่ออฟฟิศ กับที่บ้านควบคู่กัน เพื่อลดความหนาแน่นในองค์กร
อย่างไรก็ตาม เมื่อ Workplace เปลี่ยนเป็นที่บ้านของพนักงาน ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงาน และชีวิตประจำวันหลายด้าน
– มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ในการช่วยให้ทำงานได้สะดวก และคล่องตัว
– ผู้บริโภคบางคนใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งสั่งซื้ออาหาร และเครื่องดื่มคุณภาพดี เพื่อให้ได้ความรู้สึกใกล้เคียงกับเวลาไปรับประทานที่ร้าน ใช้จ่ายไปกับการช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น
– กระทบต่อตลาดชุดทำงาน และตลาดเครื่องสำอาง เนื่องจากผู้บริโภคหันมาสวมใส่เสื้อผ้าลำลอง และแต่งหน้าน้อยลง หรือไม่แต่งเลย
นอกจากนี้พบว่าผู้บริโภคบางคนชอบทำงานที่บ้านมากกว่า เพราะไม่ต้องตื่นแต่เช้า ไม่ต้องแต่งตัว และไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ในขณะที่ผู้บริโภคบางคนมองว่า การทำงานอยู่บ้าน ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
แบรนด์ควรเตรียมตัวอย่างไร: องค์กรที่ใช้นโยบายการทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือสลับระหว่างทำงานที่ออฟฟิศ กับที่บ้าน ควรสนับสนุน Work-life Balance, โฟกัสที่ผลงาน และควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างกัน
ในขณะที่สินค้าที่ตอบโจทย์การทำงานที่บ้าน ต้อง Multifunction และมีขนาดกะทัดรัด เพื่อปรับเปลี่ยนบ้าน ให้เป็นที่ทำงาน และสินค้า – บริการที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการทำงาน จะได้การตอบรับจากตลาด
Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand