นอกจากนินเทนโด (Nintendo) ที่ประกาศว่ามีกำไรในการดำเนินงานครั้งมโหฬาร (ทั้ง ๆ ที่เป็นยุค Covid-19) ไปเมื่อไม่นานมานี้ ล่าสุดดูเหมือนจะมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอีกหนึ่งรายที่กำลังจะประกาศความสำเร็จในลักษณะเดียวกัน แถมเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นเคยมายาวนานด้วย นั่นคือ “ฟูจิฟิล์ม” (Fujifilm)
แต่ความสำเร็จและการเติบโตของฟูจิฟิล์มในยุค 2021 ไม่ได้มาจากธุรกิจฟิล์มและกล้องอีกต่อไป หากแต่ขยับขยายมาสู่ธุรกิจยาและการแพทย์ที่คาดว่าจะสร้างการเติบโตระดับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐได้เลยทีเดียว โดยในปีนี้ บริษัทคาดการณ์ว่าจะมี “กำไรจากการดำเนินงาน” ถึง 45,000 ล้านเยน หรือประมาณ 13,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่คู่แข่งในธุรกิจเดียวกันอย่างแคนนอน (Canon) หรือ ริโค (Ricoh) ล้วนมีผลประกอบการที่สวนทาง เนื่องจากพึ่งพิงรายได้จากการขายอุปกรณ์สำนักงาน และกล้องเป็นหลัก จนนำไปสู่การเลย์ออฟพนักงานนับหมื่นคนในช่วงที่ผ่านมา (แคนนอนเลย์ออฟพนักงาน 4,100 คน ส่วน Ricoh เลย์ออฟพนักงาน 6,400 คน)
ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากยา Avigan (ชื่อทางการค้า) หรือยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนไว้สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ และได้รับการรับรองจากสำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของประเทศจีนว่า ยาดังกล่าวเป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค Covid-19 ได้ (การรับรองมีขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2020) แม้ว่าจนถึงปัจจุบัน ยาดังกล่าวจะไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
ส่วนประเทศที่มีการรับรองยาฟาวิพิราเวียร์ ให้ใช้รักษาผู้ป่วย Covid-19 แล้วนั้น พบว่ามีชื่อของอินเดียและรัสเซียปรากฏอยู่ด้วย นอกจากนี้ ฟูจิฟิล์มยังหวังว่าจะเข้าไปทำตลาดยาฟาวิพิราเวียร์ ในสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
จากฟิล์มสู่ธุรกิจการแพทย์
การก้าวเข้าสู่ธุรกิจการแพทย์ของฟูจิฟิล์มมีที่มาจากการพบว่า เทคโนโลยีในการผลิตฟิล์มนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ได้ จากการค้นพบนั้น ทำให้บริษัทตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ตั้งแต่ปี 2008 ผ่านการควบกิจการบริษัทโทยามะ เคมิคอล (โดยการซื้อหุ้น 66% คิดเป็นมูลค่า 137,000 ล้านเยน) กลายเป็นบริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล ผู้ผลิตยา Avigan ในที่สุด
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยังมีการควบกิจการ Japan Tissue Engineering ในปี 2014 และการควบกิจการ Cellular Dynamics International สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันในปี 2015 รวมถึงการซื้อกิจการของ Wako Pure Chemical Industries จากทาเคดะ ฟาร์มาซูติคอลในปี 2017 ด้วย
ส่วนปี 2021 นี้ ฟูจิฟิล์มยังมีแผนจะซื้อธุรกิจเครื่องมือด้านการวินิจฉัยภาพ (diagnostic-imaging equipment) ของบริษัทฮิตาชิ (Hitachi) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องถ่ายภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และเครื่องถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กด้วยมูลค่า 179,000 ล้านเยนด้วย ซึ่งการมีธุรกิจดังกล่าวเข้ามาร่วมด้วยนั้น จะทำให้บริษัทสามารถสร้างกระบวนการรักษาเช่น การเปลี่ยนกระดูกอ่อนบริเวณหัวเข่า ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาพาร์ทเนอร์จากภายนอกอีกต่อไป และหากดีลนี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล มีการคาดการณ์กันว่า ยอดขายของฟูจิฟิล์มในธุรกิจการแพทย์จะพุ่งขึ้นไปแตะ 700,000 ล้านเยน และกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์สัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดแซงหน้าบริษัท Terumo ได้เลยทีเดียว