ใครที่บอกว่า ปี 2020 เป็นปีที่เจอกับความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตมามากแล้ว ทั้งการล็อคดาวน์ การ Work From Home หรือการถูกเลย์ออฟ ฯลฯ แต่บางที การเข้าสู่ปี 2021 อาจมีเหตุให้ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี และความปลอดภัยทางไซเบอร์
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าหลังจากนี้ มนุษย์มีแนวโน้มจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของ Covid-19 แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในปี 2021 นั้น จะต้องมาพร้อมความตระหนักในเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างมากด้วย ซึ่งทางค่ายพาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ได้มีการคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2021 เอาไว้ 4 ด้าน พร้อมคำแนะนำเอาไว้ดังนี้
1. ปีที่การเดินทางต่างประเทศ อย่าปฏิเสธการแชร์ข้อมูล
ข้อแรกต้องทำใจว่า การเดินทาง (ท่องเที่ยว) แบบที่เคยเป็นมาในโลกก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนคนที่คิดถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศ อาจต้องทำใจแต่เนิ่น ๆ ว่า การเดินทางไปต่างประเทศหลังจากนี้จะต้องมีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ข้อมูลว่าเราไปที่ไหน และเจอกับใครมาบ้าง (Contact Tracing) โดยข้อมูลใดที่เราไม่มั่นใจมากพอว่าทางผู้ขอจะสามารถเก็บรักษาได้อย่างปลอดภัย ก็ไม่ควรแชร์ให้บุคคลภายนอกทราบ นอกจากนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศต้องมีมาตรการในการดูแลข้อมูลของผู้เดินทางที่น่าเชื่อถือ และปลอดภัยมากพอด้วย
2. ปีที่ 5G อาจมาพร้อมความเสี่ยง
การผลักดันให้เกิดเครือข่าย 5G อย่างคึกคักในปีที่ผ่านมา อาจมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อหน่วยงานภาครัฐที่ควรจะเป็นฝ่ายพัฒนาเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพอาจต้องนำงบประมาณไปสู้ศึก Covid-19 ก่อน
การคาดการณ์ของคุณฌอน ดูคา รองประธานและหัวหน้าฝ่
อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังก็คือ การลงทุน 5G โดยภาคเอกชนนี้เอง ที่อาจทำให้การใช้งานเครือข่าย 5G เสี่ยงต่อการถูกโจมตีโดยผู้ไม่ประสงค์ดีได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนอุปกรณ์ IoT ที่อาจมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่แตกต่างกัน และอาจส่งผลให้ระบบมีช่องโหว่จนผู้ไม่ประสงค์ดีเจาะเข้ามาสร้างความเสียหายได้นั่นเอง
3. ปีแห่งการมอง Work From Home เป็นโซลูชันระยะยาว
ในขณะที่หลายคนคิดว่าการ Work From Home หรือการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องชั่วคราว พอ Covid-19 หายไป เราก็จะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมกันได้นั้น ถึงตอนนี้อาจคงต้องคิดใหม่ และเตรียมการมากขึ้นสำหรับการ Work From Home ในระยะยาวกันแล้ว โดยสิ่งที่คุณฌอน ดูคา ให้คำแนะนำองค์กรเรื่องการปรับ Work From Home เป็นโซลูชันระยะยาวว่า อาจถึงเวลาต้องหาเซอร์วิสใหม่ เครื่องมือใหม่ หรือการย้ายขึ้นไปอยู่บนคลาวด์อย่างเต็มตัว เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมา ระบบหลาย ๆ อย่าง เช่น VPN หรือระบบรักษาความปลอดภัยยังอาจเป็นเทคโนโลยีเก่า ที่รวมศูนย์เอาไว้ตรงกลาง และไม่เสถียรพอจะรองรับการเข้าใช้งานระบบของพนักงานจำนวนมากพร้อม ๆ กันจากระยะไกลนั่นเอง
4. ปีแห่งการให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐาน
หากปี 2020 เป็นปีแห่งการตื่นตระหนกและเอาตัวรอด ปี 2021 ก็คือปีแห่งการแก้ไขและปรับปรุงเครื่องมือด้านไอทีต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ยกตัวอย่างเช่น การกลับมาตรวจสอบนโยบายด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของบริษัท ว่าทำไว้ถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า การให้สิทธิ์พนักงานในการเข้าถึง – แก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทนั้น ยังถูกต้อง – ปลอดภัยหรือไม่
นอกจากนี้ การหันมาใช้คลาวด์มากขึ้นก็มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะนักวิจัย Palo Alto Networks Unit 42 ได้ให้ข้อสังเกตว่าการกำหนดค่า IAM ผิดเพียงครั้งเดียว อาจทำให้บริษัทถูกโจมตีจนทำให้ข้อมูลทั้งหมดเสียหายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ทั้งนี้ ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และอินโดจีน กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่เฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องตระหนักในเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ แต่หน่วยงานภาครัฐที่มีเจ้าหน้าที่ในสังกัดราว 3.8 ล้านคน ก็ต้องตระหนักในเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้มากเช่นกัน
“การเร่งให้ความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐให้มีความรู้พื้นฐานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้มากขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะต่อให้มีนโยบายที่ดี อาชญากรไซเบอร์ก็ยังสามารถเจาะเข้ามาในระบบได้ในจุดที่อ่อนที่สุด (The Weakest Link) ได้อยู่ดี”