ผ่าน 88 วันของการให้บริการไปแล้วเรียบร้อย สำหรับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่ “โรบินฮู้ด” (Robinhood) ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกจากทีมบริหารของโรบินฮู้ด นำโดยคุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ และคุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ถึงการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาว่า สามารถเพิ่มจำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มเป็น 55,000 แห่งแล้ว จากเดิมในตอนเปิดตัวที่มีประมาณ 20,000 แห่ง ส่งผลให้ปัจจุบัน มีเมนูอาหารให้สั่งได้บนโรบินฮู้ดแล้วถึง 1.6 ล้านเมนู โดยคำค้นหายอดฮิตบนแพลตฟอร์ม 5 อันดับแรกได้แก่ แซลมอน โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ และส้มตำ
“ตอนเริ่มโปรเจ็คโรบินฮู้ด เรามาช้ามาก เลยต้องคิดตรงข้ามกับคนอื่น นั่นคือการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อคนตัวเล็ก โดยจะเห็นได้ว่า ร้านค้า 55,000 แห่งที่อยู่บนแพลตฟอร์มเรา 90% เป็นร้านอาหารของผู้ประกอบการรายย่อย บางร้านไม่เคยอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นมาก่อน” คุณธนา เธียรอัจฉริยะกล่าว
ในการบอกเล่าถึงการเติบโต คุณธนายังได้ชี้ถึงข้อแตกต่างของโรบินฮู้ดอีกข้อคือ การแพลตฟอร์มที่ไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร แต่ทางแพลตฟอร์มมีโปรแกรมที่ชื่อว่า LS ซึ่งจะให้ร้านค้ามอบส่วนลดค่าอาหารกับลูกค้าโดยตรง ตั้งแต่ 3% จนถึง 20% ขึ้นไป ในจุดนี้ ทางแพลตฟอร์มพบว่ามีร้านอาหารให้ความสนใจเข้าร่วมโปรแกรม LS แล้วถึง 8,200 แห่ง และพบว่าร้านที่ให้ส่วนลด 8% กับลูกค้ามีจำนวนสูงสุด คือ 2,705 แห่ง รองลงมาคือร้านที่ให้ส่วนลด 9 – 10% อีก 2,421 แห่ง ซึ่งทางแพลตฟอร์มพบด้วยว่า ร้านค้าที่ให้ส่วนลด LS มียอดจำหน่ายสูงกว่าเมื่อเทียบกับร้านค้าที่ไม่ให้ส่วนลดใด ๆ
ส่วนร้านอาหารขายดีบนแพลตฟอร์มพบว่า อันดับหนึ่งคือ มนต์นมสด (สาขาเสาชิงช้า) รองลงมาคือรุ่งเรืองตั๋ง ก๋วยเตี๋ยวหมูสุขุมวิท 26 และ Oba San 168 ซึ่งเป็นร้านขายปลาแซลมอนยี่ห้อดัง
รุกโมเดลตลาดสด – เมนูอาหารเช้า – บุก 5 หัวเมืองใหญ่
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2021 นั้น ทางทีมงานโรบินฮู้ดมองว่า ภาพรวมการแข่งขันอาจไม่ดุเดือดเหมือนในอดีต เนื่องจากไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด อีกทั้งการใช้เงินของคู่แข่งเพื่อทำสงครามราคาก็มีน้อยลง ทำให้สภาพการแข่งขันของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ค่อนข้างเสถียร และราคาค่าส่งอาหารของโรบินฮู้ดเองก็อยู่ในระดับกลาง ๆ ของตลาด ซึ่งไม่ได้เปรียบเสียเปรียบคู่แข่งแต่อย่างใด
จากสภาพตลาดดังกล่าว ทางทีมงานจึงมองว่า ปีนี้เป็นปีของการสเกลธุรกิจ ด้วยการขยายธุรกิจสู่หัวเมืองใหญ่ เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี รวมถึงการเปิดโมเดล “ตลาดสด” โดยจะดึงตลาดสดเข้ามาในแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้ออาหารพร้อมรับประทาน หรือแม้แต่หมู ไก่ ผัก ไปปรุงรับประทานเองได้ด้วย
ทั้งนี้ ทางแพลตฟอร์มได้เริ่มนำร่องการเปิดโมเดลตลาดสดไปแล้ว 4 แห่งจากทั้งหมดที่วางแผนไว้ 9 แห่ง ได้แก่ ตลาดถนอมมิตร ตลาดบางใหญ่ เสนีย์ฟู้ด และตลาดมีนบุรี โดยรูปแบบการให้บริการนั้น ทางตลาดจะจัดหาร้านต่าง ๆ มาเตรียมไว้ เช่น เขียงหมูของนาย A ร้านผักของนาย B เป็นต้น จากนั้นเมื่อมีออเดอร์เข้ามา ทางตลาดจะจัดส่งรันเนอร์ไปที่ร้านดังกล่าวเพื่อสั่งสินค้า และนำสินค้ามาส่งให้กับไรเดอร์ที่รออยู่เพื่อส่งให้ถึงมือผู้บริโภคต่อไป
ด้วยแผนการขยายธุรกิจออกไปสู่หัวเมืองใหญ่ และการรุกตลาดสดนั้น ทางโรบินฮู้ดคาดว่า อาจช่วยเพิ่มผู้ใช้บริการจากปัจจุบันที่มีอยู่ 580,000 รายให้เป็น 1 ล้านรายได้ภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับจำนวนไรเดอร์ (Riders) ที่โรบินฮู้ดมีไรเดอร์ที่พร้อมวิ่งรับงาน 11,500 ราย (74% วิ่งรับงานบนโรบินฮู้ดเป็นงานเสริม) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 รายภายในสิ้นปีเช่นกัน
ในส่วนของผู้บริโภค หลังจากที่ทางแพลตฟอร์มลองเริ่มเจาะตลาดเซกเมนต์ใหม่ ๆ เช่น แคมเปญ “มิดไนท์ ไรเดอร์” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อตอบโจทย์คนนอนดึก เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่อ่านหนังสือช่วงกลางคืน กลุ่มคนทำงานกะดึก กลุ่มคนดูบอลเชียร์กีฬารอบดึก กลุ่ม E-sport ไปแล้วนั้น
ในปี 2021 นี้ ทางแพลตฟอร์มก็มีแผนจะเจาะตลาดเซกเมนต์ใหม่เพิ่มเติม โดยแคมเปญแรกของปีคือแคมเปญอาหารเช้าพร้อมเสิร์ฟ ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นจุดแข็งให้กับแอปโรบินฮู้ดในปีนี้ด้วยเช่นกัน
มอเตอร์ไซค์ EV ตัวช่วยไรเดอร์
สำหรับการดึงใจให้ไรเดอร์เข้าแพลตฟอร์มนั้น คุณธนา เธียรอัจฉริยะ เผยว่า มีแผนจะให้บริการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ EV เพิ่มเติม ซึ่งการให้ไรเดอร์สามารถเช่ารถมอเตอร์ไซค์ EV ได้นั้น ตอบโจทย์กลุ่มไรเดอร์ได้สองข้อ นั่นคือ ในเรื่องการลงทุนเริ่มต้นที่ไรเดอร์ไม่ต้องก่อหนี้ และข้อสองคือค่าบำรุงรักษาที่ไม่สูงเท่ารถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
“เมื่อก่อน ถ้าคน ๆ หนึ่งจะทำหน้าที่ส่งอาหารได้ต้องมีมอเตอร์ไซค์ ต้องกู้หนี้ แต่เราอยากให้เขาเข้ามาทำงานแบบไม่ต้องกังวล สามารถเข้ามาตัวเปล่า มาเช่าเราเป็นรายวันแล้วก็ทำงานได้เลย ที่สำคัญ เป็นมอเตอร์ไซค์ EV ซึ่งนอกจากรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ในมุมของคนขับ ค่าบำรุงรักษาเขาจะต่ำมาก เพราะไม่ต้องเติมน้ำมัน โดยเราจะใช้สาขาของเราเป็นที่ชาร์จแบต แล้วพอเขาแบตหมดก็มาเปลี่ยนแบตไปได้เลย”
อย่างไรก็ดี โปรเจ็คดังกล่าวอาจเริ่มทดลองในบางพื้นที่ก่อน และคาดว่าจะพร้อมเริ่มทดสอบได้ในเดือนมีนาคมนี้
สำหรับการสเกลธุรกิจของโรบินฮู้ดในปี 2021 นี้ ทางแพลตฟอร์มตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีจะต้องมีไรเดอร์ 20,000 คน มีร้านค้าบนแพลตฟอร์ม 150,000 แห่ง มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน และมีเม็ดเงินไหลผ่านแพลตฟอร์มไม่ต่ำกว่า 1,596 ล้านบาท (คำนวณจากจำนวน 17,500 ทรานแซคชั่นต่อวัน มูลค่าเฉลี่ยต่อทรานแซคชั่น 250 บาทคูณ 365 วัน) ซึ่งคุณธนาระบุว่า จากมูลค่าของเม็ดเงินดังกล่าว อาจประเมินมูลค่าแพลตฟอร์มได้คร่าว ๆ ที่ 4,000 ล้านบาท
“ปีนี้อาจยังไม่ได้เห็นการรุกตลาดใหญ่โต เราคงต้องสเกลก่อน ส่วนที่ว่ามีคนถามว่า จะไม่เก็บจีพีถึงเมื่อไหร่ ด้วย Business model ที่เรามี ก็น่าจะไม่มี GP ตลอดกาล เพราะการทำให้ไม่มีจีพีมันคือทำให้ได้ใจร้านค้า และเมื่อได้ใจร้านค้า มันคือการทำธุรกิจต่อไป ดังนั้นเราจะฆ่าสิ่งสำคัญของตัวเองเพื่ออะไร” คุณธนากล่าวปิดท้าย