ปี 2020 อาจเป็นปีที่หลายคนเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โลกดิจิทัลก็เช่นกัน โดยข้อมูลจาก YouTube Brandcast Delivered 2020 พบว่า ภาพรวมการใช้งานในประเทศไทยมีการใช้เวลาบนแพลตฟอร์ม YouTube เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงยังพบการเติบโตของตัวเลขของช่องระดับไดมอนด์ (มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคน) ที่ปัจจุบันพบว่ามีแล้วถึง 14 ช่อง ขณะที่ช่องระดับโกลด์ (มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน) ก็พบว่ามีมากกว่า 450 ช่องเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น จากการเปิดเผยของคุณแจ็กกี้ หวาง ผู้จัดการ Google ประจำประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน ยังพบว่า คำค้นหาอย่าง “การทำอาหาร” บน YouTube นั้นเพิ่มขึ้นกว่า 80% เลยทีเดียว ซึ่งเบื้องหลังการเติบโตเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีปัจจัยอะไรให้การติดตามช่องเป็นไปอย่างยั่งยืนนั้น อาจต้องลองฟังจากสองครีเอเตอร์ดาวรุ่งบนแพลตฟอร์ม YouTube อย่างช่อง “กินได้อร่อยด้วย” และช่อง “กับข้าวกับปลาโอ” เพื่อฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่พวกเขาประสบพบมาด้วยตัวเอง
เริ่มจากช่องกินได้อร่อยด้วย คุณคิว (ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง) เจ้าของช่องเล่าว่า เดือนเมษายนที่ผ่านมา คือช่วงเวลาที่ช่องของเขามีผู้กดติดตามมากที่สุดนั่นคือกว่า 100,000 ครั้ง รวมถึงมียอดการรับชมคลิปสอนทำอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่บางคลิปก็โพสต์มาแล้วกว่า 2 ปี
“อาจเพราะคนต้องทำอาหารรับประทานเองในบ้าน ก็เลยเกิดการเสิร์ชหาเมนูต่าง ๆ มากขึ้น จะได้ไม่ทำซ้ำแต่เมนูเดิม ๆ ซึ่งเราพบว่า คลิปที่มีคนชมเยอะ ๆ มักเป็นเมนูที่คนไทยชื่นชอบ เช่น ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน ผัดกะเพรา ฯลฯ เรียกว่าอาหารทุกประเภท ทั้งของหวาน ของคาว ของทานเล่น หรือเบเกอรี่ ก็มีคนเข้ามาชมเยอะขึ้นทั้งหมด”
แต่นอกจากเข้ามาศึกษาเมนูอาหารเพื่อทำรับประทานเองในบ้านแล้ว สิ่งที่คุณคิวพบเพิ่มเติมก็คือ มีหลายคนเข้ามาหาสูตรอาหารเพื่อนำไปประกอบอาชีพในช่วงล็อกดาวน์ด้วยเช่นกัน และก็มีหลายรายที่ประสบความสำเร็จ และมีการขอบคุณทางช่องที่ทำให้พวกเขามีรายได้เสริมด้วย
ตั้งต้นช่องจาก Cook Book
“ตัวผมเองมีความชื่นชอบในการทำอาหารตั้งแต่เด็ก เพราะเข้าไปช่วยคุณยายกับคุณแม่ในครัวบ่อย ๆ เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็เลยเรียนด้านโภชนาการ และเปิดร้านเบเกอรี่ของตนเอง ซึ่งก็มีเพื่อน ๆ มาขอให้สอนทำอาหารอยู่เรื่อย ๆ แต่ความที่เราบ้านไกล ไม่สะดวกจะเปิดสอน ก็เลยคิดว่า ทำเป็นคลิปแล้วโพสต์ลงบน YouTube ก็ได้นี่ เพื่อนจะอยู่ที่ไหนก็สามารถดูได้”
“ด้วยเหตุนี้เราเลยอยากทำช่องเป็นเหมือน Cook Book เพื่อรวมสูตรอาหารต่าง ๆ เอาไว้ไม่ให้มันหายไป หรือเผื่ออนาคต เราอายุมากขึ้น ลืมไปแล้วว่าเมนูนี้ทำอย่างไร ก็จะได้เข้ามาฟื้นความจำ แต่จนถึงตอนนี้ ผลลัพธ์มันไปไกลกว่านั้นมาก เพราะหลายคนที่เข้ามาดู นอกจากได้สูตรไปทำแล้ว บางคนยังสามารถเปิดร้านทำเป็นอาชีพได้อย่างจริงจัง วันที่เขาส่งข้อความมาขอบคุณ ส่งภาพลูกค้ามาซื้อเต็มร้าน มันทำให้เราดีใจมากว่า สิ่งที่เราตั้งใจนั้นสำเร็จแล้ว”
เช่นเดียวกับทางช่องกับข้าวกับปลาโอ ที่เจ้าของช่อง (ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริงเช่นกัน) บอกว่า อาหารที่ผู้ชมให้ความสนใจตลอดมา โดยเฉพาะในช่วง Covid-19 เป็นเมนูง่าย ๆ ที่ทุกคนทำตามได้ที่บ้าน รสจัดจ้าน วัตถุดิบไม่เยอะ อย่างพวกตำ และยำเป็นหลัก
สำหรับจุดเด่นของผู้ติดตามช่องกับข้าวกับปลาโอนั้น ทางเจ้าของช่องเล่าว่า ไม่ว่าจะโพสต์ตอนดึกแค่ไหนก็มีคนติดตามตลอด และเป็นลักษณะคุยกันแบบเป็นกันเอง จนสนิทกันเหมือนเพื่อนไปแล้ว
คลิปสอนทำอาหาร ถ้าคนดูรัก ยังไงเขาก็รัก
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าบนยูทูบนั้น มีคลิปมากมายเต็มไปหมด ซึ่งแต่ละช่องก็ต่างพยายามหาจุดสนใจ หรือตัวตนในมุมต่าง ๆ มานำเสนอเพื่อเพิ่มฐานแฟนคลับ เช่นเดียวกับช่องกับข้าวกับปลาโอ และกินได้อร่อยด้วย ในฐานะที่เป็นคนทำอาหาร ก็คงต้องมีเคล็ดลับที่นำไปสู่การติดตามช่องเช่นกัน
ในจุดนี้ คุณกับข้าวกับปลาโอเล่าว่า ขอให้เป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่รัก แล้วนำสิ่งที่รักมาสร้างสรรค์ผลงานออกมาในแบบของตัวเอง เช่นเดียวกับคุณคิวจากช่องกินได้อร่อยด้วย ที่เห็นตรงกันว่า อาจต้องเริ่มจากการมีความรักในสิ่งที่ทำก่อน เพราะเมื่อเริ่มต้นจากสิ่งที่รัก จะทำได้นาน และคนดูก็จะสัมผัสได้ว่าถึงความจริงใจที่เรามี และถ้าเขาชอบสไตล์การนำเสนอของเรา เขาก็จะกดติดตามเราต่อไปเอง
“จริง ๆ เรื่องของอาหารทำได้หลากหลายมาก เมนูต่าง ๆ เราสามารถพลิกแพลงได้ตลอด จึงไม่ค่อยรู้สึกว่าคิดไม่ออก หรือเกิดปัญหาไอเดียตัน สิ่งที่เราเน้นคือคุณภาพของงานมากกว่า”
“การทำคลิปของช่องกินได้อร่อยด้วยก็คือ เมื่อถ่ายทำเสร็จจะยังไม่โพสต์ทันที เราจะตัดต่อก่อน จากนั้นก็ใส่เอฟเฟ็กต์ ฯลฯ แล้วก็ทิ้งไว้อีก 2 วัน แล้วค่อยมาดูซ้ำอีกสัก 2 รอบ โดย 2 รอบสุดท้ายนี้เราจะทำตัวเป็นเหมือนคนดูคนหนึ่ง ว่าคลิปนี้ เราจะดูจนจบไหม จะเบื่อก่อนหรือเปล่า มีตรงไหนที่เราไม่ชอบ หรืออยากแก้ไขอีกหรือเปล่า ถ้ามีก็จะแก้ไข ทำให้กระบวนการผลิตคลิปหนึ่งชิ้นอาจมีตั้งแต่สามวันไปจนถึงหนึ่งสัปดาห์”
“วันแรกที่เริ่ม ผมมีมือถือเครื่องเดียว กับตัวหนีบหนึ่งอัน ผมก็หนีบเลย แล้วก็ลงมือถ่ายเลย ตอนนี้กลับไปย้อนดูคลิปแรกที่ทำก็ยังขำ เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง จากคนที่พูดไม่เป็นเลย ไม่พร้อมอะไรเลย แต่เราก็ทำได้นี่ ดังนั้นไม่เฉพาะการทำอาหาร และไม่จำเป็นต้องทำยูทูบเสมอไป อยากให้คนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อย่ามีข้ออ้างเยอะ หรือผัดวันประกันพรุ่ง ใช้โอกาสที่มีเริ่มทำสิ่งที่รักเลยดีกว่า” คุณคิวกล่าวปิดท้าย