เวลานี้ประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และหลายองค์กรใหญ่ระดับโลกเตรียมปักหมุดเข้าไปลงทุน คือ เวียดนาม ประเทศที่ในอดีตถูกจัดเป็นประเทศยากจนประเทศหนึ่งของโลก แต่หลังจากปฏิรูปเศรษฐกิจ ภายใต้นโยบาย “Đổi Mới” ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ถึงวันนี้ เวียดนามสามารถเปลี่ยนจากประเทศยากจน ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง และที่สำคัญเวียดนามกำลังทยานสู่การเป็น “เสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย” สะท้อนได้จากข้อมูลทางเศรษฐกิจนี้
– ระหว่างปี 2008 – 2018 รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP Per Capita) ของคนเวียดนามเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า และในปี 2019 รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐ
– ประชากรราว 45 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศกว่า 90 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน
– อัตราความยากจนลดลงอย่างรวดดเร็ว จาก 70% ลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 6%
– ปี 2019 GDP ของประเทศเวียดนาม เติบโต 7% ปัจจัยขับเคลื่อนหลักๆ มาจาก Demand ภายในประเทศ กับภาคการผลิตเพื่อการส่งออก
แม้เวียดนาม เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และทำให้เศรษฐกิจปี 2020 เติบโตต่ำสุดในช่วง 9 ปีนี้ (2011 – 2020) แต่เมื่อมองภาพรวมแล้ว ปรากฏว่ายังสามารถผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
– การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment : FDI) ยังคงเติบโต องค์กรใหญ่ระดับโลกเดินหน้าแผนลงทุนในเวียดนาม
– ไตรมาส 4/2020 GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 4.48% สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 4% และเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2020 เพิ่มขึ้น 2.69%
– ภาพรวมทางเศรษฐกิจของเวียดนามทั้งปี 2020 ขยายตัว 2.91% มากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.8%
– ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2020 เพิ่มขึ้น 6.5% ขณะที่นำเข้าเพิ่มขึ้น 3.6% เกินดุลการค้า 19.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ขณะที่ภาคการผลิตทั้งปี 2020 เพิ่มขึ้น 5.82%
– เป้าหมายในปี 2021 เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจโต 6%
หาคำตอบทำไมถนนทุกสายมุ่งสู่ “เวียดนาม” ?!?
ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เวียดนามใช้เวลาไม่กี่ทศวรรษ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจมาแรง ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชีย ประกอบด้วย
1. ผลจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “Đổi Mới” พลิกฟื้นจากประเทศยากจน สู่ประเทศรายได้ปานกลาง
ในปี 1986 รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เรียกว่า “Đổi Mới” มีความหมายว่าการฟื้นฟู วัตถุประสงค์หลักของนโยบายนี้คือ
– เพื่อสร้างความมั่นคง – มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
– ยกระดับประเทศสู่ความเป็นสากล
– สร้างความร่วมมือกับองค์กร – สถาบันทั้งในระดับภูมิภาค และนานาชาติ
– ลดการผูกขาดของภาครัฐ และเปิดเสรีการค้าการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ
– ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI)
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่านโยบาย “Đổi Mới” ทำให้เวียดนามมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 1986 การเริ่มใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ลดการผูกขาดของภาครัฐ และเพิ่มเสรีทางการค้าและการลงทุนในภาคเอกชน
ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 9.6% ต่อปีในช่วงปี 1985-1995 และยังคงเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยราว 6-7% ต่อปี จนกระทั่งปัจจุบัน
ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของนโยบายนี้ คือ การเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน
โดยในระยะเริ่มต้นของการใช้นโยบายดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามได้ยกเลิกการกำหนดราคาสินค้าเกษตร คูปองอาหาร และการควบคุมการผลิตและกระจายสินค้าเกษตร ทำให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และเกษตรกรเริ่มมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ปริมาณสินค้าเกษตรจึงเพียงพอต่อความต้องการภายใน ประเทศและสามารถส่งออกได้ เวียดนามจึงกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวและเมล็ดกาแฟอันดับ 2 ของโลก
ต่อมาเมื่อรัฐบาลสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้การลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างกฎหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวทางเสรีนิยมของนโยบาย “Đổi Mới” ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวียดนาม มุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ในขณะที่บริษัทต่างชาติได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในเวียดนาม ส่งผลให้การจ้างงานในเวียดนามสูงขึ้น และความรู้ด้านเทคโนโลยีกระจายสู่แรงงานชาวเวียดนาม
เบื้องหลังความสำเร็จของนโยบายนี้มี 3 ประการ ได้แก่ วิสัยทัศน์ของผู้นำชัดเจน ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายพัฒนาร่วมกัน และความมุ่งมั่นสู่ความเป็นสากลของเวียดนาม ส่งผลให้พลิกฐานะประเทศเวียดนาม จากประเทศรายได้ต่ำ สู่ประเทศรายได้ปานกลาง พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรหลุดพ้นจากความยากจน และดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ของเวียดนาม จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP) เพิ่มสูงขึ้นหลังการประกาศใช้นโยบาย “Đổi Mới” จาก 0.46 ในปี 1980 ขึ้นมาเป็น 0.67 ในปี 2014
2. ประชากรกว่า 97 ล้านคน มากถึง 70% คือ Gen Y – Gen Z วัยทำงาน – อำนาจซื้อสำคัญ
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว และดึงดูดบริษัทต่างประเทศระดับโลกเข้ามาลงทุน นอกเหนือจากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ คือ จำนวนประชากร และโครงสร้างประชากรเวียดนาม
ปัจจุบันเวียดนาม มีประชากรประมาณ 97 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากปี 1986 อยู่ที่ 60 ล้านคน) ในจำนวนนี้มากถึง 70% อายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย Gen Y หรือ Gen Millennials และ Gen Z ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ มีบทบาทสำคัญ ทั้งในตลาดงาน และเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจการซื้อ
และคาดการณ์กันว่าประชากรเวียดนาม จะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคนในปี 2050 อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น มีการมองว่าต่อไปประชากรสูงอายุในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน รวมทั้งการขยายตัวของชนชั้นกลาง จากปัจจุบันคิดเป็น 13% ของประชากรทั้งประเทศ ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 26% ในปี 2026
3. แนวโน้มการเติบโตการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และอานิสงส์สงครามการค้าสหรัฐ – จีน ดันเวียดนาม เป็นฐานการผลิตใหญ่ของบริษัทต่างชาติ
เวียดนาม เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากการดึงดูดบริษัทต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศ ยิ่ง Trade War ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนระอุ ทำให้สปอตไลท์ส่องมาที่ “เวียดนาม” ทำให้บริษัทต่างชาติ ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามทางการค้าดังกล่าว
เวลานี้บริษัทต่างประเทศระดับโลกหลายราย สนใจลงทุนในเวียดนาม เพราะเห็นถึงปัจจัยบวกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งโครงสร้างประชากรกลุ่มใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงาน ที่มีทั้งทักษะ และกำลังซื้อ
กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม รายงานสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในปี 2020 ที่แม้เผชิญกับ COVID-19 แต่ FDI ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
ตัวเลขตั้งแต่ต้นปี ถึงเดือนกันยายน ปี 2020 มูลค่าการลงทุนของบริษัทต่างชาติ อยู่ที่ 21.20 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดการเบิกจ่ายของบริษัทต่างชาติ อยู่ที่ 13.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบันบริษัทต่างชาติจาก 111 ประเทศทั่วโลกเข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 พบว่า 5 ประเทศที่มีการลงทุนมากสุดในเวียดนาม คือ สิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการลงทุน 6.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ไทย
ในขณะที่ถ้าวัดจำนวนโครงการใหม่ พบว่าเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีโครงการลงทุนมากสุดในเวียดนาม ด้วยจำนวน 499 โครงการ ตามมาด้วยจีน 271 โครงการ ญี่ปุ่น 209 โครงการ และสิงคโปร์ 173 โครงการ
ไม่เพียงแต่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเท่านั้น ขณะเดียวกัน เวียดนามพยายามสร้างความร่วมมือการค้าการลงทุนในระดับนานาชาติมากขึ้น เข่น
– ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) เปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนเกือบทุกรายการ เช่น ทั้งสองฝ่ายลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน ของรายการสินค้าที่มีการค้ากัน
– ข้อตกลงคุ้มครองการลงทุน (EU-Vietnam Investment Protection Agreement: EVIPA) รัฐบาลทั้งสองฝ่ายมีสิทธิออกระเบียบ หรือมาตรการการควบคุมการลงทุน เพื่อวัตถุประสงค์อันชอบธรรม เช่น การสาธารณสุข ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมและคุ้มครองความหลากหลายทางวัฒนธรรม
– ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ประกอบด้วย 10 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม บรูไน บวกกับอีก 5 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
4. ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ประเทศ และแผนพัฒนาจากภาครัฐ – เอกชน สร้างความแข็งแกร่งระบบโลจิสติกส์
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ว่า เวียดนามยังมีพรมแดนติดกับจีน ลาว และกัมพูชา และมีชายฝั่งทอดยาวจากเหนือจรดใต้ของประเทศทำให้มีความเหมาะสมสำหรับการเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้า เพราะสามารถขนส่งสินค้าทางบกมายังจีนและอาเซียน ทั้งยังสามารถส่งออกสินค้าทางเรือได้สะดวกกว่าฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย
นอกจากนี้ เวียดนามมีแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อสนับสนุนโลจิสติกส์ โดยมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติร่วมทุนแล้ว เช่น การก่อสร้างถนนหลวง สะพาน และทางรถไฟ การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในนครโฮจิมินห์ และฮานอย การก่อสร้างและพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการยกระดับท่าเรือน้ำลึก แม้ในเชิงภูมิศาสตร์
5. ให้ความสำคัญ “เทคโนโลยีดิจิทัล” พร้อมผลักดันประเทศสู่ฐานการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม “เทคโนโลยีดิจิทัล” และ “สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง” ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักให้กับเวียดนาม แม้ในภาวะ COVID-19 ก็ตาม โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2020 การผลิตโทรศัพท์มือถือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ เป็น 3 กลุ่มสินค้าหลักที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม
ตัวอย่างการลงทุนการผลิตเทคโนโลยีของบริษัทต่างชาติสำคัญในช่วงนี้ เช่น การลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท USI จากประเทศจีน ในเมือง Hai Phong โครงการลงทุน Furukawa Automotive Systems ในจังหวัด Vinh Long จากญี่ปุ่น โครงการลงทุนผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากไต้หวัน
การลงทุนด้านการผลิตเทคโนโลยีของบริษัทต่างชาติเหล่านี้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเวียดนามที่ต้องการผลักดันภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ไปสู่ Industry 4.0 ด้วยการเป็นฐานการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งขณะนี้ในเมือง Ho Chi Minh วางแผนพัฒนายุทธศาสตร์ AI รวมถึงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม 3 แห่งทั่ววประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต กำลังมุ่งสู่เทคโนโลยีขั้นสูง แต่อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ เช่น เสื้อผ้า และรองเท้า ซึ่งเวียดนามเป็นหนึ่งในฐานการผลิตใหญ่ของสินค้ากลุ่มนี้ ยังคงดำเนินการควบคู่กัน เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกติดอันดับ 1 ใน 5 ของเวียดนาม
“MUJI” สร้างฐานการผลิต และเปิดสาขาแรกในเวียดนาม ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – “Foxconn” ย้ายฐานการผลิตจากจีน สู่เวียดนาม กระจายความเสี่ยงสงครามการค้า
ปัจจุบัน MUJI มี 1,029 สาขาใน 31 ประเทศ ทั้งในญี่ปุ่น และทั่วโลก ซึ่งยุทธศาสตร์การลงทุนของ MUJI คือ โฟกัสตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เพราะเล็งเห็นการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคชนชั้นกลาง และมีอำนาจการซื้อสูง หนึ่งในนั้นคือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Ryohin Keikaku Co., Ltd. บริษัทแม่ของ MUJI จัดตั้ง 2 บริษัทย่อยที่เวียดนาม ประกอบด้วย
1. MUJI Global Sourcing Vietnam Company Limited เพื่อจัดหา และผลิตสินค้าป้อนตลาดอาเซียน
2. MUJI Vietnam Limited Liability Company เพื่อสร้างและพัฒนาธุรกิจในเวียดนาม เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเศรษฐกิจพัฒนา – เติบโตอย่างรวดดเร็ว จึงมองว่าต่อไปเวียดนามจะเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ MUJI ในภูมิภาคนี้
ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ได้เปิดสาขาแรกในเวียดนามที่ Parkson Saigon Tourist Plaza ในเมือง Ho Chi Minh สาขานี้มีขนาด 2,000 ตารางเมตร ปัจจุบันถือว่าเป็นสาขาใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ กว่า 5,000 รายการ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในปี 2017 MUJI เปิดสาขาที่สิงคโปร์ มีขนาด 1,640 ตารางเมตร เวลานั้นถือว่าเป็นสาขาใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาปี 2019 เปิดสาขา Flagship Store ในไทยที่ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ ขนาดกว่า 1,900 ตารางเมตร และล่าสุดที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ขนาด 1,800 ตารางเมตร
“เวียดนามเป็นตลาดค้าปลีกที่มีศักยภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะด้วยความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประชากรรุ่นใหม่ การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร และมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เวียดนาม ถึงได้รับความสนใจจากนักลงทุน” Nagaiwa Tetsuya ผู้อำนวยการทั่วไป Muji Retail Vietnam กล่าวถึงเหตุผลที่ MUJI ลงทุนในเวียดนาม
ยุทธศาสตร์ MUJI ในเวียดนาม ตั้งเป้าเปิด 10 สาขา โดยต่อไปมีแผนพิจารณาเปิด Flagship Store ที่ฮานอย และขยายสาขาไปยังจังหวัดเล็กลงมาจากเมืองใหญ่ โดยขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ – จำนวนประชากร – การพัฒนาของจังหวัดนั้นๆ
ไม่เพียงแต่ “MUJI” เท่านั้น ก่อนหน้านี้ “Foxconn” ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้กับ “Apple” ได้ย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วน iPad และ Macbook จากจีน ไปผลิตที่เวียดนาม โดยจัดตั้งบริษัทย่อย “FuKang Technology Co., Ltd.” ด้วยเงินลงทุน 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหตุผลหลักของการย้ายฐานการผลิตจากจีน เป็นเพราะทั้ง Apple และ Foxconn ต้องการกระจายความเสี่ยง พร้อมทั้งลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวันรายนี้ วางแผนจะย้ายการผลิตบางส่วนจากจีน ไปยังเวียดนาม เม็กซิโก และอินเดีย
Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand