ความซับซ้อนของประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย เห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ทวิตเตอร์ (Twitter) เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) และอีกหลากหลายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่บรรดาผู้ก่อตั้งมักจะบอกว่า ตั้งใจให้แพลตฟอร์มของตนเองเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นแพลตฟอร์มเหล่านี้ที่ออกมาประกาศแบนแอคเคาน์ของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่ให้มีโอกาสสื่อสารไปยังผู้ติดตามได้อีกต่อไปหลังเกิดเหตุการณ์จลาจลที่ Capitol Hill ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ก็ดูจะเป็นสิ่งที่สวนทางกับความตั้งใจเดิม นั่นจึงไม่แปลกที่จะมีคำถามจำนวนมากพุ่งไปยังแพลตฟอร์มเหล่านั้นว่าแท้จริงแล้ว แพลตฟอร์มที่พวกเขาสร้างขึ้นมีนโยบายอย่างไรกันแน่
ซีอีโอทวิตเตอร์อยู่ที่ไหนในวันที่ 6 มกรา?
คำตอบคือ แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) อยู่ในเกาะส่วนตัวที่ French Polynesia โดยในวันนั้น เขาได้รับโทรศัพท์จากทีมงานว่าตัดสินใจล็อกแอคเคาน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้เขามีโอกาสทวีตเรื่องต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากกรณีที่มีม็อบบุกเข้าไปสร้างความเสียหายในรัฐสภา ซึ่งคนที่รู้เรื่องนี้บอกว่า แจ็ค ดอร์ซีย์ค่อนข้างกังวลเรื่องการปิดแอคเคาน์โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะที่ผ่านมา ทวิตเตอร์พยายามแสดงบทบาทว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้นำทั่วโลกสามารถใช้สื่อสารได้ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม (อย่างไรก็ดี ในอีก 36 ชั่วโมงต่อมา ทวิตเตอร์ก็ยกระดับการแบนแอคเคาน์โดนัลด์ ทรัมป์ ไปสู่การปิดแอคเคาน์ของเขาอย่างถาวร)
หลังจากยุติการเข้าถึงแอคเคาน์โดนัลด์ ทรัมป์ วันรุ่งขึ้น ทวิตเตอร์ได้มีการมอนิเตอร์สิ่งที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต และพบว่าผู้สนับสนุนทรัมป์ได้ใช้แมสเสจสุดท้ายของทรัมป์บนทวิตเตอร์เป็นข้ออ้างในการก่อความรุนแรง ขณะที่แอปฯ Parler ซึ่งผู้สนับสนุนทรัมป์ไปรวมตัวกันอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมากนั้นผลลัพธ์รุนแรงยิ่งกว่า โดยมีอยู่โพสต์หนึ่งที่สาวกของทรัมป์เสนอให้ใช้กำลังทหารเข้าหยุดยั้งการรับรองโจ ไบเดน เข้ามาทำงานที่ทำเนียบขาวกันเลยทีเดียว
การตัดสินใจปิดแอคเคาน์โดนัลด์ ทรัมป์ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายของทวิตเตอร์จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน แจ็ค ดอร์ซีย์ก็ออกมาทวีตว่า เขาไม่รู้สึกยินดี หรือภูมิใจที่ทวิตเตอร์แบน @realDonaldTrump เพราะการแบนก็คือการยอมรับว่าทวิตเตอร์ล้มเหลวในการเป็นแพลตฟอร์มแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เขาก็บอกต่อด้วยว่า นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้องสำหรับทวิตเตอร์ เพราะเรากำลังเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และยากจะต้านทานได้ ทำให้ทางแพลตฟอร์มต้องให้ความสำคัญกับทุก ๆ การกระทำเพื่อความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม
I do not celebrate or feel pride in our having to ban @realDonaldTrump from Twitter, or how we got here. After a clear warning we’d take this action, we made a decision with the best information we had based on threats to physical safety both on and off Twitter. Was this correct?
— jack⚡️ (@jack) January 14, 2021
กระนั้น การตัดสินใจแบนโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากแพลตฟอร์ม ก็ทำให้ทวิตเตอร์ตกเป็นเป้าการโจมตีของวุฒิสมาชิกคนดัง นักการเมืองจากพรรครีพับริกัน นักเคลื่อนไหวจากซิลิคอนวัลเลย์ รวมถึงกลุ่มรณรงค์จากทั่วโลกที่กล่าวโทษว่า เป็นแพลตฟอร์มสองมาตรฐานที่เลือกแบนโดนัลด์ ทรัมป์ออก แต่ผู้นำคนอื่น ๆ ที่มีพฤติกรรมคล้าย ๆ กันในการใช้แพลตฟอร์มบูลลี่คู่แข่งกลับไม่โดนแบนแต่อย่างใด เพราะนอกจากโดนัลด์ ทรัมป์ มีผู้นำเพียงสองคนที่ถูกลบทวีตก็คือประธานาธิบดีบราซิล และประธานาธิบดีเวเนซุเอล่า ที่ออกมาให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับไวรัส Covid-19 นอกนั้น ทวิตเตอร์ไม่เคยลบโพสต์ของผู้นำประเทศอื่น ๆ เลย เนื่องจากแจ็ค ดอร์ซียร์มองว่ามันน่าสนใจ และมีความสำคัญต่อสื่อมวลชนในแง่ของการใช้รายงานข่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับการแบนโดนัลด์ ทรัมป์ที่เกิดขึ้นนั้น ได้มีการสำรวจจากบริษัท Zignal Labs ในระหว่างวันที่ 9 – 15 มกราคม 2021 พบว่า ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ บนโลกออนไลน์ลดลงถึง 73%
ขณะที่ Conversation เกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งลดลงจาก 2.5 ล้านข้อความ เหลือ 688,000 ข้อความ และการใช้แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับการจลาจลที่ Capitol Hill อย่าง #FightforTrump ลดลง 95% เช่นเดียวกับแฮชแท็กของกลุ่มคิวอานอน (QAnon) ก็ลดลงเช่นกัน
งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า การมีทวีตของทรัมป์อยู่บนโลกออนไลน์ ทำให้บรรดาผู้สนับสนุนของเขาทำการรีทวีตคอนเทนต์ได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของความรุนแรงนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ การปิดแอคเคาน์ที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงที่ทวิตเตอร์เลือกทำไปครั้งนี้จึงยากจะบอกได้ว่าถูกหรือผิด แต่ที่แน่ ๆ คือ มีบทเรียนให้ศึกษามากมายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และอาจทำให้เกิดการยกระดับการสื่อสารบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้