การใช้เทคโนโลยีมาควบคุมดูแลการขับรถส่งสินค้าเป็นสิ่งที่ธุรกิจโลจิสติกส์ต้องการมาตลอดหลายสิบปี ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาอยากจะรู้ว่า คนขับรถส่งของมีพฤติกรรมอย่างไรในขณะขับขี่ ซึ่งหากเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเสียหายของสินค้าหรือการขนส่ง ก็จะได้ตักเตือน หรือพักงานพนักงานคนดังกล่าวได้ทันท่วงที
ไม่เฉพาะในไทย แม้แต่ Amazon บริษัทเทคโนโลยีและผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็หนีไม่พ้นความต้องการนี้ แต่การเริ่มต้นของ Amazon กับการติดตั้งกล้อง AI ลงในรถขนส่งสินค้าของพาร์ทเนอร์ที่ดูแลการจัดส่งสินค้าในช่วง Last-Mile Delivery ทั่วสหรัฐอเมริกา หรือที่มีชื่อเรียกว่า Delivery Service Partner Program (DSP) ก็นำไปสู่ดราม่า และกลายเป็นกรณีศึกษาให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้เช่นกัน
กล้องละเมิดความเป็นส่วนตัว?
สาเหตุประการแรกมาจากการทำงานของกล้อง AI ผลงานการพัฒนาของบริษัท Netradyne ที่ Amazon บอกว่ามันจะบันทึกพฤติกรรมของคนขับรถตลอดเวลา และสามารถตรวจจับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ด้วย เช่น การไม่หยุดที่ป้ายให้หยุ การขับเร็วเกินกำหนด การเบรกแรงเกินไป การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การหาว หรือการเสียสมาธิอื่น ๆ ระหว่างขับรถ ซึ่ง Amazon มองว่าเป็นฟีเจอร์ที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับการจัดส่งสินค้าได้ รวมถึงสามารถแจ้งเตือนคนขับได้แบบเรียลไทม์เพื่อให้พวกเขามีสมาธิมากขึ้นเวลาอยู่บนท้องถนน
เหตุที่ทำได้ระดับนี้ มาจากความสามารถของกล้องที่มีเลนส์ถึง 4 เลนส์ ทำให้มันจับภาพถนน จับภาพคนขับรถ และจับภาพด้านขวา – ซ้ายของรถได้ตลอดเวลา (ผู้ก่อตั้งบริษัท Netradyne เป็นอดีตวิศวกรอาวุโสจากควอลคอมม์) ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทำให้มันสามารถวิเคราะห์รูปแบบการขับรถของคนขับแต่ละรายออกมาได้ และมันยังได้รับมอบหมายให้ตรวจจับ 16 พฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้วย โดยเมื่อพบสัญญาณนั้น มันจะอัปโหลดภาพฟุตเทจดังกล่าวส่งเข้าไปยัง Secure Portal รวมถึงส่งเสียงเตือนให้คนขับรู้ตัว เช่น การบอกให้ขับรถช้าลง เป็นต้น
แต่สำหรับคนขับรถ พวกเขามองต่างออกไป หลายคนรู้สึกว่าถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว บ้างก็นึกถึงรายการดังในอดีตอย่าง Big Brother ที่เหมือนมีผู้อยู่เบื้องหลังคอยควบคุมทุกฝีก้าว ทำให้ทำงานได้ไม่สะดวกใจเหมือนก่อน หรือแม้กระทั่งการหาวก็เป็นประเด็น เพราะเมื่อ AI ตรวจจับได้ มันจะส่งข้อมูลเข้าไปยังศูนย์กลาง และสั่งให้คนขับรถจอดพักข้างทางเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ซึ่งหากคนขับไม่ปฏิบัติตาม จะมีหัวหน้าจาก DSP โทรมาบอกให้จอดพักรถแทนเช่นกัน
ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนส่วนตัว?
สิ่งที่เป็นดราม่าข้อที่ 2 จากกรณีของ Amazon คือการบังคับให้คนขับรถติดตั้งแอปพลิเคชันชื่อ Mentor ลงในสมาร์ทโฟน ซึ่งพาร์ทเนอร์ส่งของบางรายก็มีสมาร์ทโฟนเตรียมไว้ให้พนักงาน แต่บางรายไม่มี กลายเป็นการบังคับให้พนักงานต้องติดตั้งแอปพลิเคชันลงในสมาร์ทโฟนของตนเอง ใช้แพกเกจดาต้าของตัวเอง จนทำให้หลาย ๆ คนไม่พอใจ
ข้อมูลที่บันทึกไว้มีผลต่อการจ้างงาน
นอกจากจะถูกบังคับให้ติดตั้งแอปพลิเคชันลงในสมาร์ทโฟนส่วนตัวแล้ว การทำงานของแอปพลิเคชันดังกล่าวก็ดูจะไม่เป็นคุณกับเจ้าของเครื่องเท่าไร เพราะแอปฯ Mentor สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมคนขับ และให้คะแนนออกมาได้หลายระดับ เช่น Poor, Good, Fantastic ไปจนถึง Fantastic+ อย่างไรก็ดี พาร์ทเนอร์รายใดที่ได้คะแนนจากแอปฯ Mentor ต่ำลงเรื่อย ๆ ก็จะถูกลดระดับการมอบหมายงาน และทำให้สิทธิประโยชน์ หรือเส้นทางดี ๆ ที่เคยได้รับถูกตัดออกไป
ในส่วนของกล้องก็เช่นกัน เพราะมีการนำภาพจากกล้องไปใช้ประเมินคนขับรถในด้านต่าง ๆ เช่น ควรจ่ายโบนัส – ค่าแรงให้กับคนขับเหล่านั้นเท่าไหร่ โดยคนขับรถที่ได้คะแนนดี ก็อาจได้ค่าแรงเต็มวัน (แม้จะทำงานเสร็จเร็วกว่ากำหนดก็ตาม) แต่ถ้าคนใดมีพฤติกรรมเสี่ยงก็อาจได้ค่าแรงเท่าจำนวนชั่วโมงที่พวกเขาทำงานในวันนั้น เป็นต้น
ตามติดชีวิตนอกเวลางาน!
โดยปกติแอปพลิเคชันเพื่อการทำงานก็ควรทำงานในเวลาที่กำหนด แต่รายงานจาก CNBC ระบุว่า แอปพลิเคชัน Mentor ของ Amazon ไม่จบแค่เวลางาน แต่ยังตามสะกดรอยคนขับรถนอกเวลางานด้วย โดยคนขับที่ได้รับผลกระทบจากข้อนี้คือกลุ่มที่ต้องติดตั้งลงในสมาร์ทโฟนของตัวเอง เพราะพวกเขาถูกแทร็คสถานที่ตลอดเวลาจากแอปพลิเคชันนั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาถึงของ 5G ทำให้มุมมองเรื่องการใช้เทคโนโลยี Telematics อย่างการนำกล้อง AI มาใช้ร่วมกับแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนนถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในขณะที่หลายฝ่ายมองเห็นข้อดีของการมีเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ในการปฏิบัติงานจริง ดูเหมือนว่ามันต้องการการพัฒนาอีกมากพอดู เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นเพื่อนคู่คิดของมนุษย์ ไม่ใช่ใช้เพื่อจับผิด และผลักให้เขาไปอยู่คนละฟากอย่างที่ Amazon กำลังทำอยู่