ขณะที่การใช้งาน 5G ในฟากคอนซูมเมอร์กำลังเกิดขึ้นอย่างคึกคัก การใช้งาน 5G ในฟากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ก็กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะภายใต้แนวคิด Industry 4.0 ที่เครื่องจักรต่าง ๆ สามารถสื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ และสามารถนำข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานไปปรับปรุงการทำงานได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับ BigData และคลาวด์
การประยุกต์ใช้คลื่น 26GHz ซึ่งเป็นคลื่นในย่านความถี่สูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับโรงงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริง โดยในพื้นที่ EEC (โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor – EEC) มีชื่อของ เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) ผู้ผลิตกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยที่นำเทคโนโลยี 5G มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตภายในโรงงานบนคลื่นความถี่ 26 GHz อยู่ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงงานของ SNC หลังจากนำ 5G มาประยุกต์ใช้ ได้รับการเปิดเผยจาก คุณสมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหาร SNC ว่ามีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- การทำให้เครื่องจักรกับเครื่องจักรสามารถสื่อสารกันได้ และเกิดการทำงานโดยอัตโนมัติ เช่น การให้รถ AGV (Automated Guided Vehicles) ขนถ่ายพาร์ทชิ้นส่วนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้เอง
- เครื่องจักรในโรงงานสามารถสื่อสารกับหอบังคับการได้เอง เพื่อให้สามารถควบคุมการผลิตได้แบบเรียลไทม์
- โรงงานสื่อสารกับหน่วยงานภายนอกได้แบบเรียลไทม์ เช่น ฝ่ายจัดซื้ออยากทราบว่ามีวัตถุดิบพอไหม ก็สามารถทราบได้เลย หรือฝ่ายขายอยากทราบว่า สินค้าในลิสต์ ดำเนินการผลิตไปถึงไหนแล้ว ก็สามารถทราบได้เช่นกัน
- ความปลอดภัยของพนักงานในโรงงานมีเพิ่มขึ้น เนื่องจาก AI สามารถวิเคราะห์ได้ว่า พนักงานใส่ชุดถูกต้องตาม Dress Code ที่กำหนดหรือไม่ และทำงานในพื้นที่ตามที่กำหนดหรือไม่
- ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ถูกนำเข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีงานบางส่วนที่ไม่ต้องใช้คนทำแล้ว
- การควบคุมของเสียที่เกิดขึ้นจากการทำงานทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากสปีดในการทำงานของหุ่นยนต์มีความคงที่ ขณะที่การทำงานของมนุษย์อาจมี Human Error หรืออาการเหนื่อยล้าได้
- กระบวนการผลิตเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- มีการเชื่อมต่อระหว่าง Server และ Machine เพื่อให้สามารถมอนิเตอร์สายการผลิตต่าง ๆ ได้ และแสดงผลผ่าน Dashboard ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นข้อมูลตลอดเวลา
ด้านคุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS เผยว่าข้อดีของการนำคลื่น 26GHz มาปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมมีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวคลื่นเองที่อยู่ในย่านความถี่สูง ทำให้รองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้ดีกว่า อีกทั้งยังสามารถติดตั้งเครือข่ายได้อย่างเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ของโรงงาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการกวนกันของคลื่นสัญญาณ
หรือในแง่การออกแบบเครือข่ายก็ทำได้หลากหลาย ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละโรงงานที่แตกต่างกันได้ เช่น บางพื้นที่ในโรงงานอาจต้องการเน้นที่ความหน่วงต่ำ (Low Latency) เพื่อควบคุมการทำงานของสายพานการผลิต ขณะที่บางพื้นที่อาจต้องการความเร็ว (Speed) เพื่อใช้ในการอัปโหลดข้อมูลจำนวนมาก เหล่านี้ทางผู้พัฒนาระบบสามารถออกแบบให้เป็นการเฉพาะเจาะจงได้ เป็นต้น
ไม่เฉพาะโรงงานของ SNC แต่การปรับใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมกำลังเกิดขึ้นแล้วอีกหลายแห่งทั่วประเทศ โดยคุณวสิษฐ์เผยว่า เอไอเอสมีการจับมือกับสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง เพื่อร่วมทุนตั้งบริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค พัฒนาด้าน ICT Infrastructure และเทคโนโลยี 5G, มีการจับมือกับอมตะ คอร์ปอเรชัน ร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมถึงสวนอุตสาหกรรมบางกะดี พัฒนาสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ, สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ในการยกระดับภาคการผลิต และ ปตท. ที่ใช้ 5G ในการส่งเสริมและสร้างนวัตกรรม Unmanned ภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งเพื่อตอบโจทย์การขยายตัวด้าน Industry 4.0 ไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมในปี 2021 ทางบริษัทเผยว่า ได้เตรียมงบลงทุนเครือข่ายรวม 25,000 – 30,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาเครือข่ายทั้ง 5G และ 4G เอาไว้แล้ว รวมถึงมีการชำระค่าคลื่น 26GHz เป็นเงินจำนวนกว่า 5,700 ล้านบาทเรียบร้อยแล้วด้วย