เอไอเอส เปิดผลประกอบการ 2563 รายได้รวม 172,890 ล้านบาท กำไรสุทธิ 28,423 ล้านบาท เตรียมลงทุนเพิ่ม 25,000 – 30,000 ล้านบาทขยายเครือข่าย 5G/4G พร้อมจ่ายเงินปันผล 3.68 บาทต่อหุ้นเมษานี้
สำหรับภาพรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือนั้น เอไอเอสระบุว่ามีรายได้ลดลง 6.5% เทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการสูญเสียรายได้ในกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่ติดข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีตัวเลขผู้ใช้บริการมากที่สุดในประเทศ 41.4 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าระบบรายเดือน จำนวน 10.2 ล้านราย (เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 จำนวน 420,900 ราย) และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 31.2 ล้านราย (เพิ่มขึ้น 74,400 ราย)
ส่วนการใช้งาน 4G ข้อมูล ณ สิ้นปี มีลูกค้าที่ใช้งาน 4G เพิ่มขึ้นเป็น 77% โดยลูกค้าใช้ปริมาณดาต้าเฉลี่ย 18 กิกะไบต์ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 42% เทียบกับปีก่อน ส่วนการใช้งาน 5G นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2020 จนถึงปัจจุบัน มีลูกค้ารวมทั้งสิ้น 239,000 ราย
ด้านบริการเน็ตบ้าน หรือ เอไอเอส ไฟเบอร์ พบว่ามีอัตราการเติบโตถึง 22% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อานิสงส์จากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ปลี่ยนวิถีชีวิตมา Work from Home และ Learn from Home เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเหนือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ที่ 1.3 ล้านราย
เอไอเอสเผยว่า ตลอดปี 2563 เอไอเอส ไฟเบอร์ มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 29% หรือกว่า 299,300 ราย ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เติบโตเฉลี่ย 10-12% และยังได้รับเลือกเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยอดเยี่ยมในเอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2563 โดย Frost & Sullivan องค์กรให้คำปรึกษาทางธุรกิจและการวิจัยเชิงธุรกิจที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 50 ปี และ Ookla® Speedtest® ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับโลก ซึ่งทางบริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะก้าวสู่ Top 3 ผู้นำอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของไทย ให้ได้ภายในปี 2564 ด้วย
ลงทุนเพิ่มแตะ 30,000 ล้านบาท
สำหรับทิศทางในปี 2564 เอไอเอสเผยว่าได้เตรียมงบประมาณสำหรับการลงทุนรวมทั้งสิ้น 25,000 – 30,000 ล้านบาท สำหรับขยายเครือข่าย 5G/4G และยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ โดยจ่ายเงินปันผล 3.68 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 20 เมษายน 2564 *ไม่รวมผลของมาตรฐานบัญชีไทย 16*
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “วิกฤต Covid-19 ในปี 2564 ทำให้ทุกภาคส่วนได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ และเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
ข้อมูลเอไอเอสเผยด้วยว่า บริษัทมีการถือครองคลื่นความถี่ ทั้ง 4G และ 5G มากที่สุด จำนวน 1420MHz และภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะได้รับใบอนุญาตคลื่น 26GHz ครบทั้ง 3 ย่านความถี่ สูง กลาง และต่ำ จะมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพของการขยายเครือข่าย 5G เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าคนไทย และผลักดันส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยภาพรวม จากการบริหารต้นทุนที่ดี ทั้งด้านต้นทุนการให้บริการ และค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหาร ส่งผลให้เอไอเอสมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่ที่ 76,619 ล้านบาท ลดลง 2.7% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการลดลงของรายได้ และมีกำไรสุทธิ 28,423 ล้านบาท ลดลง 8.9% เทียบกับปีก่อน
“จากบทเรียนในวิกฤตที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่า ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัว จะช่วยผลักดันให้เราเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในวันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราอีกต่อไป อยู่ที่ว่าใครจะปรับใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร สำหรับเอไอเอส วันนี้เรามีทั้ง Core Business และการเติบโตในกลุ่มธุรกิจใหม่ หรือ New Business อาทิ ธุรกิจวิดีโอ ประกันภัย ดิจิทัลเพย์เมนท์ และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ เป็นต้น”
“สิ่งสำคัญคือความสำเร็จข้างหน้าร่วมกัน โดยเอไอเอสเดินหน้าจัดสรรงบลงทุนในปี 2564 จำนวน 25,000 – 30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลสำหรับประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้ง และพร้อมที่จะเป็นแกนกลาง สนับสนุนทุกภาคส่วน จากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ใน Digital Ecosystem เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวผ่านทุกความท้าทายไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” คุณสมชัย กล่าวสรุป