ธนาคารกรุงเทพ หนุนผู้ประกอบการหันมาใช้บริการ e-Withholding Tax ยกระดับธุรกิจสู่ Digital Business เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เอื้อพนักงานทำงานสะดวก ชวนลูกค้า “สยามฟาร์มาชูติคอล” และ “หน่ำเซียน” เปิดประสบการณ์ตรง หลังประเดิมใช้ e-Withholding Tax แล้วปลื้ม ประสิทธิภาพดีขึ้น ลดขั้นตอนงาน ลดความยุ่งยากเรื่องเอกสาร พร้อมพาเหรดบริการต่าง ๆ ช่วยจัดการภาษีอีกเพียบ ตอกย้ำจุดยืนในบริการ Digital Service อย่างครบครัน
นายพิพัฒน์ อัสสมงคล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ ‘เพื่อนคู่คิด’ มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาบริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้สะดวก ราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสอดรับกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในยุค New Normal โดยล่าสุด ธนาคารได้เริ่มให้บริการภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ด้วยบริการนี้จะช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุน ลดเวลาและภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงลดขั้นตอนการดำเนินการด้านเอกสารทางภาษี อีกทั้งสามารถตรวจสอบรายการแบบออนไลน์ได้อีกด้วย
สำหรับบริการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ คือบริการที่ธนาคารเป็นผู้นำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายและข้อมูลให้กับกรมสรรพากร เมื่อผู้จ่ายเงินโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารจะทำรายการหักเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งข้อมูลพร้อมเงินภาษีดังกล่าวให้กับกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้จ่ายเงินไม่ต้องยื่นแบบ และชำระเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วยตนเอง รวมถึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (Withholding Tax Certificate) ให้กับผู้รับเงินอีกต่อไป นอกจากนี้ กรณีผู้จ่ายเงินชำระเงินภาษีไว้ไม่ครบถ้วน ผู้จ่ายเงินสามารถชำระเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติมได้ ผ่านทางระบบ e-Tax Payment ผ่านช่องทางบริการ Corporate iCash และ BIZ iBanking รวมถึงการชำระเงินผ่านบริการ Bill Payment ที่สาขาของธนาคารได้ทันที
บริการ e-Withholding Tax เหมาะกับองค์กรที่ต้องมีการชำระค่าสินค้าและบริการ และมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับคู่ค้าจำนวนมาก รวมถึงองค์กรที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาทดแทนการทำงานแบบ Manual ซึ่งการปรับมาใช้ e-Withholding Tax จะช่วยให้คู่ค้าขององค์กรได้รับค่าสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และเอื้อให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ดีขึ้น จากมาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายของกรมสรรพากร จาก 5% และ 3% เป็น 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax โดยมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563-31 ธันวาคม 2565 รวมถึงผู้จ่ายเงินสามารถนำรายจ่ายจากการลงทุนและการใช้บริการระบบ e-Withholding Tax มาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ หลังจากเริ่มเปิดให้บริการดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากให้เป็นผู้ให้บริการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีกลุ่มบริษัทชั้นนำให้ความไว้วางใจใช้บริการแล้วอาทิ กลุ่มบริษัทสยามฟาร์มาชูติคอล ผู้วิจัย ผลิตและจัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์คุณภาพระดับสากลของประเทศไทย และกลุ่มบริษัทหน่ำเซียน ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมจากผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก รวมถึงงานบริการด้านเทคนิค การพัฒนาสูตรต้นแบบสำหรับเครื่องสำอาง อาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
นางดรุณี ยินดีผลเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท สยามฟาร์มาซูติคอล จำกัด กล่าวว่า e-Withholding Tax เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการชำระค่าสินค้าและบริการให้กับคู่ค้า/ผู้ให้บริการ ซึ่งรวมถึงการออกหนังสือรับรองภาษี หัก ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษี หัก ณ ที่จ่ายในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระบวนการมีความแม่นยำ ลดขั้นตอนการทำงาน ลดการใช้เอกสารกระดาษ ทั้งในส่วนงานของกลุ่มบริษัท และคู่ค้า/ผู้ให้บริการของกลุ่มบริษัท การเปลี่ยนมาสู่ระบบดิจิทัล ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรดีขึ้น
ด้านนางศุภางค์ ศกุนตนาค รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทหน่ำเซียน กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมีนโยบายในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร แต่เดิมได้ใช้บริการดิจิทัลอื่น ๆ กับธนาคารกรุงเทพอยู่แล้ว และเรารู้สึกยินดีอย่างมากที่ธนาคารกรุงเทพได้เพิ่มบริการ e-Withholding Tax ซึ่งเราไม่ลังเลใจเลยในการขอรับบริการนี้ เนื่องจากระบบ e-Withholding Tax ของธนาคารกรุงเทพ ช่วยลดความยุ่งยากด้านงานเอกสารภาษี ซึ่งต้องการความถูกต้องและใช้บุคลากรจำนวนมาก การใช้ระบบดิจิทัล ทำให้เราสามารถทำงานรวดเร็ว ลดความผิดพลาด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดต้นทุนของกิจการ ต้องขอขอบคุณธนาคารกรุงเทพ กับบริการดี ๆ สมกับที่เป็น เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน
ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าผู้ประกอบการได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นจากบริการด้านภาษี ธนาคารกรุงเทพยังมีบริการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) และใบเพิ่มหนี้/ใบลดหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (e-Debit Note/e-Credit Note) โดยจัดส่งให้แก่ลูกค้าหรือคู่ค้าของผู้ประกอบการผ่านทางอีเมลหรือช่องทางอื่นตามที่ตกลงไว้ พร้อมทั้งนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่กรมสรรพากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานที่กำหนดอีกด้วย
อีกทั้ง ยังพร้อมให้บริการด้านการชำระเงินแก่หน่วยงานราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย บริการชำระค่าพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (Customs Paperless e-Payment) บริการชำระเงินสมทบประกันสังคมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Social Security Payment) เพื่อช่วยผู้ประกอบการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ช่วยให้ทำธุรกรรมได้รวดเร็วและคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถตรวจสอบรายงานการโอนเงินได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์เช่นเดียวกัน
“ธนาคารเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและต่อยอดบริการ เพื่อให้เป็นดิจิทัลทั้งกระบวนการ สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่ผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ทางธุรกิจที่เป็นดิจิทัล เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ การชำระภาษีและการจัดการเอกสารทางภาษีเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งในด้านต้นทุน ด้านเอกสาร ด้านเวลา และด้านบุคลากร การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อผู้ประกอบการกับระบบการชำระภาษี และจัดการเอกสารด้านภาษีครั้งนี้ นับเป็นการส่งมอบบริการด้านภาษีที่ครบวงจร และช่วยลดภาระต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยกระดับองค์กรสู่ระบบนิเวศน์แบบใหม่ได้อย่างสมบูรณ์” นายพิพัฒน์ กล่าว./