กลายเป็นน้องใหม่มาแรงไปในทันใด สำหรับ Clubhouse แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่กำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้างในตอนนี้ โดยเฉพาะเมื่อเห็นรายชื่อบรรดาคนดังทั้งหลายที่ไปรวมตัวกันบนแพลตฟอร์มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับมือดี Ava DuVernay, Elon Musk ซีอีโอเทสล่า, Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook, Jack Dorsey ซีอีโอ Twitter, Terry Crews นักแสดงรุ่นเดอะ, Mark Cuban, ฯลฯ หรือแม้แต่ผู้ก่อตั้ง Reddit อย่าง Alexis Ohanian ก็อยู่บน Clubhouse เช่นกัน
ขายเสียง-สิทธิ์ แบบ Exclusive
ความพิเศษของ Clubhouse คือ การเป็นแอปพลิเคชันที่ไม่เน้นขายหน้าตา เหมือนโซเชียลมีเดียยี่ห้ออื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย เพราะสิ่งที่ Clubhouse ขายคือ “บทสนทนา” หรือ “เสียง” ในการพูดคุยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะเข้าใช้ Clubhouse ในตอนนี้ได้ ต้องเป็นผู้ใช้งานในระบบ iOS และได้รับ “คำเชิญ” จากผู้ใช้งานที่อยู่ใน Clubhouse แล้วเท่านั้น ซึ่งในตอนนี้ 1 Accounts เชิญเพื่อนได้อีกแค่ 2 คนเท่านั้น นั่นทำให้มีการขายสิทธิ์เชิญกันเลยทีเดียว ส่วนถ้าอยู่ในฝั่งแอนดรอยด์ บริษัทผู้พัฒนาอย่าง Alpha Exploration บอกว่า ขอให้รออีกนิด เพราะกำลังพัฒนาอยู่ โดยเมื่อเข้าไปใน Clubhouse แล้ว ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะสร้างห้องของตัวเอง หรือไปจอยในห้องของคนอื่นในหัวข้อที่เราสนใจ รวมถึงสามารถคลิกดูโปรไฟล์ของผู้พูด และตามไปกด Follow ได้ด้วย
แต่ไม่ใช่ทุกคนเข้าไปฟังได้ทั้งหมด เพราะทางแอปพลิเคชันกำหนดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าร่วมฟังในห้อง ๆ หนึ่งได้สูงสุดแค่ 5,000 คนเท่านั้น และห้องจะหายไปเมื่อการพูดคุยเซสชั่นนั้น ๆ จบลง ไม่สามารถฟังย้อนหลังได้
ทั้งจำนวนสิทธิ์ และการฟังที่จบแล้วจบเลยภายใต้จำนวนจำกัดนี่เอง ที่ทำให้เกิดความ Exclusive ชั่วโมงนี้ใครมี Invitation ให้เข้าไปฟังถือว่าเท่ นำเทรนด์ทีเดียว
จุดกำเนิด Clubhouse
Clubhouse สร้างขึ้นโดยสองนักพัฒนาอย่าง Paul Davison และ Rohan Seth วิศวกรจาก Google โดยในช่วงแรก Clubhouse มีผู้ใช้งานหลักพันเท่านั้น แต่พบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ค่อนข้างติดใจในตัวแอปฯ โดยมีผู้ใช้งานหลายรายยอมรับว่าใช้งานแอปนานกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
Clubhouse เริ่มปรากฏบนหน้าสื่อในเดือนพฤษภาคมปี 2020 ในฐานะแหล่งรวมของนักลงทุน และคนดังในซิลิคอนวัลเลย์ที่เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในช่วงล็อกดาวน์ โดยสิ่งที่ทำให้นักลงทุนอยากลองเข้าไปใน Clubhouse อาจเพราะต้องการหาพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าวมีสภาพค่อนข้างน่าหดหู่ ทั้งจากปัญหาความแตกแยกทางการเมือง และตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการแก้ปัญหาของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่โดนใจนักลงทุนเท่าไรนัก
คนดังที่ออกตัวแรงบน Clubhouse คือ Marc Andreessen โดยเขาไม่เพียงถูกใจ Clubhouse อย่างมาก แต่ยังได้ส่ง Venture Firm ที่เขาดูแลอย่าง Andreessen Horowitz เข้าไปลงทุนใน Clubhouse เป็นมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมของ Clubhouse อีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย ทำให้สตาร์ทอัพแห่งนี้ถูกประเมินมูลค่าในปีแรกที่เริ่มต้นกิจการเอาไว้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
Elon Musk ใช้ Clubhouse เล่าเรื่องดาวอังคาร
อีกหนึ่งในคนดังที่เข้าใช้ Clubhouse แล้วดึงความสนใจให้กับแอปพลิเคชันได้อย่างสูงก็คือ Elon Musk โดยเขาเป็นแขกรับเชิญให้กับทางห้อง The Good Time Show เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา และได้ใช้โอกาสดังกล่าวเผยถึงระยะเวลาที่เขาคาดว่าจะพามนุษย์เดินทางไปดาวอังคารว่าอาจใช้เวลา 5 ปีครึ่ง พร้อมบอกด้วยว่า การไปครั้งนี้จะเป็นการปักหมุดพาอารยธรรมมนุษย์ไปอยู่บนดาวอังคารได้แบบยั่งยืนเลยทีเดียว
นอกจากนี้เขายังจะพูดคุยกับ Kanye West ผ่าน Clubhouse ให้ผู้ฟังได้ฟังอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น Musk ยังเล่าถึงผลงานของ Neuralink ที่ทำกับสมองลิงด้วยการปลูกถ่ายอุปกรณ์ส่งสัญญาณแบบไร้สายลงไปในกะโหลก และทำให้ลิงสามารถเล่นวิดีโอเกมได้ในเวทีดังกล่าวด้วย
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนติดใจ Clubhouse เป็นจำนวนมากอาจก็เพราะพวกเขาโหยหาบรรยากาศการพบปะผู้คน โดยผู้ใช้งานบางส่วนบอกว่า Clubhouse มีบรรยากาศคล้ายร้านกาแฟในยุคก่อน Covid-19 ที่ผู้คนเข้ามารวมตัวกันแล้วก็พูดคุยสนทนากันอย่างออกรส บ้างก็เปรียบแอปฯดังกล่าวว่าเป็นเหมือนแหล่งรวมงานสัมมนาดี ๆ ที่ไม่ต้องนั่งฟังเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถถามคำถามโต้ตอบกับผู้พูดได้ด้วย
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกประเทศที่เปิดรับ Clubhouse เพราะในจีนแผ่นดินใหญ่มีรายงานว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวได้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงแล้ว เนื่องจากมีผู้ใช้งานเปิดประเด็นพูดคุยเรื่องชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ และความสัมพันธ์ระหว่างจีน – ไต้หวันบนแพลตฟอร์มดังกล่าวนั่นเอง