กลายเป็นเซ็กเมนต์ธุรกิจอาหารที่มาแรงสุดในเวลานี้ก็ว่าได้ สำหรับตลาด “Plant-based Food” ที่แต่เดิมอยู่ยังอยู่ใน Niche Market และแบรนด์ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็น Food Tech Startup ที่ยังมีปริมาณการผลิตจำกัด และวางขายเฉพาะบางช่องทางเท่านั้น หรือบางรายใช้วิธีเจาะเข้าตลาด B2B เป็นหลัก แต่ขณะนี้ Landscape ของตลาดนี้กำลังเปลี่ยนไป เมื่อผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ทั้งบริษัทไทย และต่างประเทศ กระโดดเข้าสู่สนามการแข่งขันนี้เช่นกัน อย่างล่าสุด “CPRAM” (ซีพีแรม) ปั้นแบรนด์ใหม่ สำหรับเจาะตลาด Plant-based Food โดยเฉพาะ
จับตา 3 ความเปลี่ยนแปลงตลาด Plant-based Food ประเทศไทย
1. Market Size ใหญ่ขึ้น
มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดรวม Plant-based Food ทั่วโลกอยู่ที่ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นเป็น 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ประเทศไทย เวลานี้ตลาด Plant-based Food มีมูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท และศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าในปี 2024 ตลาด Plant-based Food ในไทย จะมีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%
2. จาก Niche Market กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในตลาด Mass
เมื่อมีแบรนด์มากขึ้น มีแนวโน้มว่าตลาด Plant-based Food ในไทย จะเปลี่ยนผ่านจาก Niche Market ซึ่งเป็นตลาดเล็ก ไปสู่ตลาดในวงกว้างขึ้น และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้เลือกรับประทาน โดยเฉพาะที่น่าจับตามองคือ Plant-based Food จะไปโตในกลุ่ม Ready to Eat มากขึ้น เพราะตอบโจทย์วิถี Urbanization ที่ต้องการความสะดวก และความรวดเร็วด้วยวิถี Urbanization
3. ราคาเข้าถึงง่าย และขยายช่องทางจำหน่ายทั่วประเทศ
เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมทำให้การเข้าถึงอาหารกลุ่ม Plant-based Food ง่ายขึ้นด้วย ทั้งราคาขาย และช่องทางจัดจำหน่ายที่กระจายครอบคลุมทั้งประเทศ
เปิดแผน “CPRAM” ปี ’64 ปั้นแบรนด์ “VG for Love” ลุยตลาด “Plant-based Ready to Eat” – ตั้งเป้ายอดขาย 1,000 ล้านในปี ’66
ในปี 2563 สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ “CPRAM” เพราะถึงแม้ผู้บริโภคจะอยู่บ้านมากขึ้น ลดการออกนอกบ้าน แต่นั่นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมการบริโภค เนื่องจากผู้บริโภคหันมาทำอาหารเองมากขึ้น ขณะเดียวกันใช้บริการ Food Deliver เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้ตลาดอาหารกลุ่ม Ready to Eat หดตัวลง เพราะด้วย Core Benefit ของอาหารกลุ่มนี้ อยู่ที่ความสะดวก และรวดเร็ว โดยเฉพาะเวลาอยู่นอกบ้านในช่วงเวลาเร่งรีบ
ส่งผลให้ผลประกอบการปี 2563 ของ CPRAM ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ ซึ่งเดิมตั้งเป้าโต 10% แต่ปรากฏว่าทำยอดขายได้ 19,373 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 มียอดขาย 19,922 ล้านบาท
นอกจากนี้เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น CPRAM จับมือกับ CP ALL (ซีพีออลล์) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น ทำสินค้ากลุ่ม “อิ่มคุ้ม” โดยเลือกบางเมนูของอาหารพร้อมรับประทานเซเว่นอีเลฟเว่น มาเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น ในราคาเข้าถึงง่าย
ขณะที่แผนธุรกิจปี 2564 CPRAM คาดการณ์ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายในช่วงไตรมาส 3 จึงวางเป้าหมายผลประกอบการปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ 21,310 ล้านบาท การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย
1. เน้นตลาดในประเทศ แบ่งเป็น
- 94% มาจาก “เซเว่น อีเลฟเว่น” กว่า 12,000 สาขา ซึ่งการวางจำหน่ายในช่องทางเซเว่น อีเลฟเว่น CPRAM แบ่งเป็น 2 โมเดลคือ ผลิตสินค้า House Brand ป้อนให้กับเซเว่น อีเลฟเว่น เช่น แบรนด์อาหารพร้อมรับประทาน EzyGo กับ จำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง
- 4% มาจากการจำหน่ายนอกเหนือจากช่องทางเซเว่น อีเลฟเว่น
- 2% มาจากการส่งออกต่างประเทศ
2. สร้างโรงงานเบเกอรี่แห่งใหม่ ที่ชลบุรี ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2,660 ล้านบาท
โรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานผลิต Frozen Dough เพื่อนำไปอบในโรงงานย่อยทั่วประเทศ กำลังการผลิตอยู่ที่ 1,200,000 ชิ้นต่อวัน เหตุผลที่ต้องสร้างโรงงานผลิต Frozen Dough เนื่องจากสินค้าเบเกอรี่มี Shelf Life สั้น ในขณะที่การขนส่งสินค้าจากโรงงานใหญ่ ในจังหวัด หรือพื้นที่ที่อยู่ไกลออกไปจากโรงงานใหญ่ ต้องใช้ระยะเวลาการจัดส่งสินค้า ดังนั้นการผลิต Frozen Dough แล้วนำไปอบในโรงงานย่อย จึงตอบโจทย์ด้านคุณภาพ และโลจิสติกส์ เพื่อทำให้กระจายสินค้าได้เร็ว และทั่วถึง
3. เดินหน้าโครงการ “อิ่มคุ้ม” ด้วยการเพิ่มเมนูใหม่อีก 50%
4. สร้างแบรนด์ใหม่ “VG for Love” เจาะตลาดอาหารพร้อมรับประทาน Plant-based Food
ด้วยแนวโน้มสังคมทั่วโลก รวมทั้งไทย หันมาบริโภคอาหารทำจากพืชมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์สุขภาพ ขณะเดียวกันอาหารจากพืช ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพของสัตว์
จาก Market Insights ดังกล่าว ประกอบกับเห็นแนวโน้มตลาดอาหารที่ต่อไปจะมี Segmentation แยกย่อยมากขึ้น CP RAM จึงได้พัฒนาอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) กลุ่ม Plant-based Diet แบรนด์ใหม่ “VG for Love” สำหรับผู้บริโภคที่บริโภคพืชเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามในตลาด Plant-based Food หรือ Plant-based Diet ผู้บริโภคที่รับประทานอาหารจากพืช ยังสามารถจำแนกแยกย่อยออกมาเป็น 5 ประเภทหลักคือ
1. กลุ่ม Vegan-J หรืออาหารเจ เป็นกลุ่มที่เข้มงวดกับบริโภคอาหารจากพืขอย่างเดียว ซึ่งอาหารเจมีทั้งพืชที่รับประทานได้ และห้ามนำมาทำอาหาร เช่น กระเทียม ผักชี
2. กลุ่ม Vegan บริโภคพืชอย่างเดียว ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย แต่ไม่มีข้อห้ามในการรับประทานพืชบางประเภทแบบกลุ่ม Vegan-J
3. Lacto Veggie บริโภคอาหารจากพืช และยังบริโภคผลิตภัณฑ์นม
4. Ovo Veggie บริโภคอาหารจากพืช และบริโภคไข่
5. Lacto-Ovo Veggie บริโภคอาหารจากพืช และบริโภคนมกับไช่
จากผู้บริโภค 5 เซ็กเมนต์ของ Plant-based Food นำมาสู่การพัฒนาสินค้า VG for Love แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยออกแบบโลโก้ และแบ่งอาหาร Plant-based Food ตามหมายเลขคือ
– หมายเลข 1 อาหารเจ
– หมายเลข 2 อาหาร Vegan
– หมายเลข 3 อาหารมังสวิรัติ กับนม
– หมายเลข 4 อาหารมังสวิรัติ กับไข่
– หมายเลข 5 อาหารมังสวิรัติ กับนมและไข่
ในช่วงเริ่มต้น เปิด 10 เมนูก่อน จำหน่ายราคาเริ่มต้น 39 – 45 บาท ผ่าน 7-Eleven Online, แม็คโคร เริ่มจาก 5 สาขา และตู้ Vending Machine ที่จะกระจายตามจุดต่างๆ จากนั้นในเดือนมีนาคม จะกระจายเข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ รวมทั้งมองหาโอกาสการขายในช่องทางอื่นๆ
ขณะที่เป้าหมายยอดขาย VG for Love ในช่วง 3 ปีนี้
ปี 2564 ตั้งเป้า 120 ล้านบาท
ปี 2565 ตั้งเป้า 500 ล้านบาท
ปี 2566 ตั้งเป้า 1,000 ล้านบาท
จากการเปิดตัวแบรนด์ Plant-based Diet ของ CPRAM ที่จำหน่ายในราคาเดียวกับอาหารพร้อมรับประทานเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ พร้อมทั้งกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่องทางค้าปลีกในเครือซีพีเอง ทำให้เห็นว่า CPRAM ต้องการขยายตลาด Plant-based Food ไปสู่ตลาดในวงกว้าง