นับตั้งแต่โควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ในปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบธุรกิจไม่น้อย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า บาดแผลจากการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรกยังคงไม่จางหายไป หลายคนจึงหวั่นใจว่าการระบาดรอบใหม่จะยิ่งฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2021 ที่กำลังจะกลับมาสดใสหดตัวลงหรือไม่?
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ Economic Intelligence Center (EIC) เผยบทวิเคราะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4 ปี 2020 พร้อมมองเศรษฐกิจไทยปี 2021 และปัจจัยเสี่ยงที่ธุรกิจต้องจับตากันในปีนี้
GDP ไทยไตรมาส 4 ปี 2020 หดตัวน้อยกว่าคาด
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2020 หดตัวชะลอลงที่ -4.2%YOY หลังจากหดตัว -6.4%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบหักผลทางฤดูกาล (%QOQ seasonally adjusted) เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.3% QOQ sa (เทียบกับ 6.2% QOQ sa ในไตรมาสที่ 3/2020) และทำให้ในปี 2020 เศรษฐกิจไทยหดตัวที่ -6.1%YOY ต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1998 ที่หดตัวมากถึง -7.6% และเป็นการหดตัวครั้งแรกของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2009 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวเล็กน้อยที่ -0.7%
โดยการหดตัวที่ -4.2%YOY นับเป็นการหดตัวที่ น้อยกว่า ที่ตลาด (Bloomberg median consensus) และ EIC คาดไว้เท่ากันที่ -5.4%YOY โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช็อปดีมีคืน เป็นต้น
ขณะที่การฟื้นตัวของภาคส่งออกก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นชัดเจน โดยในไตรมาส 4 การผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวเพียง -0.9%YOY และยังส่งผลให้การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกปรับตัวดีขึ้นด้วย จึงมีส่วนทำให้การลงทุนเอกชนในภาพรวมหดตัวเพียง -3.3%YOY จากที่หดตัวถึง -10.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า และการเพิ่มขึ้นของส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง (change in inventories) เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 หดตัวน้อยกว่าคาด โดยสินค้าคงคลังสำคัญที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ได้แก่ ข้าวเปลือก ทองคำ และสินค้าเพื่อการผลิตคอมพิวเตอร์
เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) หลายสาขาหดตัวในอัตราน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า ยกเว้นการส่งออกด้านบริการที่ยังหดตัวสูงต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัว -21.4%YOY ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจาก -23.3%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวลงเหลือ -7.0%YOY หลังจากหดตัวสูงถึง -19.3%YOY
สำหรับการลงทุน ยังขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐขยายตัวเพียง 0.6%YOY เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวถึง 17.6%YOY ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงที่ -3.3%YOY จากในไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -10.6%YOY ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากการลงทุนในหมวดยานยนต์
ด้านการผลิต (Production Approach) ในหลายสาขาการผลิตหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่สาขาการสื่อสาร การเงิน และการเกษตรสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง
เศรษฐกิจ 2021 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับปี 2021 EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังมีความเสี่ยงหลายประการ โดยประมาณการล่าสุดของ EIC คาดไว้ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2021 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.2% เป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดย EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพียง 3.7 ล้านคนในปีนี้ และกำลังซื้อในประเทศคาดว่าจะมีการฟื้นตัวช้าเช่นกัน จากการระบาดรอบใหม่ในช่วงต้นปีที่จะไปซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจที่มีอยู่ ได้แก่ การปิดกิจการและการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อภาคประชาชน
อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ โดยล่าสุด ภาครัฐได้อนุมัติโครงการเราชนะและ ม.33 เรารักกัน เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 40 ล้านคน วงเงินรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีแนวโน้มจะออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจฟื้นตัวดีมากกว่าคาดตามข้อมูลการส่งออกล่าสุดของหลายประเทศที่ทยอยออกมา ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
6 ปัจจัยเสี่ยงที่ธุรกิจต้องจับตา
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2021 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก แต่ EIC มองว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ประกอบด้วย
1.ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่
2.ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย
3.แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น
4.ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน
5.ภัยแล้งจากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
6.ค่าเงินบาทที่แข็งเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ