HomeDigitalแชร์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียอย่างไรไม่ให้ถูกลบ – ลดการมองเห็น

แชร์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียอย่างไรไม่ให้ถูกลบ – ลดการมองเห็น

แชร์ :

 

fact fake news facebook

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบนโซเชียลมีเดีย นอกจากจะเป็นแหล่งรวมของแรงบันดาลใจจนทำให้หลายคนติดงอมแงมแล้ว ในหลาย ๆ ครั้ง โซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ของการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ (Misinformation) ทั้งแบบเจตนาและไม่เจตนาได้เช่นกัน

สำหรับรูปแบบการแชร์ข้อมูลเท็จโดยไม่เจตนาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่พบเห็นได้นั้น มักเป็นการแชร์แบบรายบุคคล คือส่งให้คนที่เรารู้จัก อย่างไรก็ดี นอกจากการแชร์ข้อมูลเท็จโดยไม่เจตนาแล้ว ก็มีการแชร์อีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน นั่นคือการบิดเบือนข้อมูล (Disinformation) โดยการบิดเบือนข้อมูลนี้มีลักษณะของการร่วมมือกันเป็นกระบวนการ และบางครั้งอาจเกี่ยวข้องกับบัญชีผู้ใช้ปลอม ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนควบคุม หรือปฏิบัติการด้านข่าวสารได้เลยทีเดียว

การมีแผนรับมือกับปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจับมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้เข้ามาช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ หรือบางแพลตฟอร์มก็มีมาตรการของตัวเอง เช่น การลบข้อมูลเท็จออกจากแพลตฟอร์ม การลดการมองเห็นของเพจ หรือแอคเคาน์ที่เผยแพร่ข่าวเท็จซ้ำ ๆ (เพื่อไม่ให้สามารถสร้างรายได้ หรือโฆษณาได้อีก) หรือบางแพลตฟอร์มก็เลือกที่จะแปะป้ายตัวโต ๆ ให้ข้อมูลกับผู้อ่านว่าคอนเทนต์นั้น ๆ มีปัญหา เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าควรจะเชื่อ หรือแชร์เนื้อหาดังกล่าวหรือไม่

facebook down

มีตัวอย่างการรับมือข้อมูลเท็จบน Facebook และ Instagram ที่น่าสนใจมาฝากกัน โดยทาง Facebook ได้มีการจับมือกับหน่วยงานภายนอกประมาณ 80 องค์กรให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ เช่น AFP, JTBC, Kompas.com ฯลฯ เมื่อตรวจสอบความผิดปกติเรียบร้อย ทางผู้ตรวจสอบสามารถแปะป้ายแนบไปกับคอนเทนต์นั้น ๆ ได้ โดยป้ายที่แปะมีตั้งแต่ ข้อมูลเป็นเท็จ ข้อมูลถูกเปลี่ยนแปลง ข้อมูลเป็นเท็จบางส่วน ฯลฯ ส่วนตำแหน่งที่แปะป้ายเอาไว้ก็คือบริเวณด้านบนของข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะแชร์ข้อมูลเหล่านั้นดีหรือไม่

วิธีจัดการข้อมูลเท็จ

อย่างไรก็ดี การลบข้อมูลเท็จออกจากแพลตฟอร์มก็เป็นวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยทาง Facebook ระบุว่า นโยบายลบนี้จะใช้กับข้อมูลเท็จชนิดที่เป็นอันตรายที่สุด เช่น

  • เนื้อหาที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในโลกความเป็นจริงหรืออันตรายที่ใกล้ตัว เช่น การใช้ภาษาที่ยุยงหรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงขึ้นจริง การข่มขู่คุกคามที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต การร้องขอหรือเสนอบริการรับจ้างสังหารผู้อื่น คำแนะนำการผลิตหรือใช้อาวุธที่มีหลักฐานว่ามีเป้าหมายเพื่อทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต เป็นต้น
  • เนื้อหาประเภท deep fakes หรือก็คือ สื่อที่ถูกแก้ไขจนเหนือความชัดเจน และได้รับการออกแบบมาเพื่อจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด
  • เนื้อหาจากบุคคลหรือองค์กรที่เป็นอันตราย เช่น กลุ่มก่อการร้าย กลุ่มค้ามนุษย์ ฆาตกรต่อเนื่อง องค์กรอาชญากรรม ฯลฯ ซึ่งในจุดนี้ Facebook ยังได้รวมกลุ่ม QAnon และกลุ่ม Kenosha Guard ในสหรัฐอเมริกาเอาไว้ในหมวดนี้ด้วย โดยคนเหล่านี้จะต้องไม่มีตัวตนบนโซเชียลมีเดียอย่างเด็ดขาด
  • ข้อมูลที่สนับสนุนอาชญากรรม หรือการทำให้เกิดอันตราย เช่น การทำชาเลนจ์ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การแจ้งความเท็จ การทารุณกรรมสัตว์ การแฮกระบบคอมพิวเตอร์ การบิดเบือนข้อมูลการเลือกตั้ง การรักษาปัญหาสุขภาพแบบปาฏิหารย์ที่เป็นอันตราย เป็นต้น

Facebook บอกด้วยว่า ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ Covid-19 ระบาดนั้น ทางแพลตฟอร์มได้มีการลบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ระหว่างเดือนมีนาคมถึงตุลาคม 2020 ถึง 12 ล้านรายการ เช่น ข้อมูลเท็จเรื่องความพร้อมในการบำบัดรักษา ตำแหน่งและความรุนแรงของการเกิดโรคระบาด ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกัน Covid-19 เป็นต้น

facebook logo

ลดการมองเห็น ไม่แรงเท่าลบ แต่อดโฆษณา

มีเนื้อหาบางประเภทที่ถูกดัดแปลงบางส่วน เช่น นำ Quote คำพูดของบุคคลสำคัญมาเปลี่ยนแปลง ฯลฯ กรณีนี้หากทางผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบพบว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเท็จ คอนเทนต์นั้นก็จะถูกจัดเข้าสู่กระบวนการลดการมองเห็น เพื่อให้ผู้คนมีโอกาสเห็นเรื่องราวนั้นน้อยลง ส่วนใน Instagram ระบบจะทำให้ข้อมูลนั้นหาได้ยากขึ้น ด้วยการกรองข้อมูลนั้นออกจากเพจการค้นหา (Explore) และแฮชแท็ก (hashtag) รวมทั้งลดอันดับในฟีดด้วย 

คอนเทนต์ที่มีการการพาดหัวลวงให้คนเข้าไปอ่าน หรือ Clickbait รวมถึงคอนเทนต์ประเภทชวนให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมด้วยมาก ๆ หรือ Engagement Bait ก็เข้าข่ายที่จะถูกจัดการด้วยการลดการมองเห็นเช่นกัน ซึ่งเพจ และโดเมนที่ลงข่าวเท็จซ้ำ ๆ ระบบจะจำกัด Reach ให้ลดลงจนทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้และโฆษณาจากเพจหรือโดเมนนั้นได้อีก 

อย่างไรก็ดี มีการแชร์ข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อนานมาแล้ว แต่ถูกนำมารีรันให้เข้าใจผิดว่าเป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน ในจุดนี้ Facebook บอกว่า หากผู้ตรวจสอบภายนอกพบความผิดปกตินี้ จะมีการให้ข้อมูลแนบไปด้วยกับเนื้อหานั้น เช่น การบอกว่าบทความที่พวกเขากำลังจะเผยแพร่นั้นมีอายุมากกว่า 90 วัน เป็นต้น

WhatsApp กับการแบนโดยใช้ AI

นอกจาก Facebook กรณีของ WhatsApp ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแชทก็มีวิธีจัดการกับข้อมูลเท็จที่น่าสนใจเช่นกัน โดย WhatsApp ได้มีการลดจำนวนผู้คนที่สามารถส่งข้อความไปหาได้ให้เหลือเพียงครั้งละ 5 คน และหากพบว่าคอนเทนต์ที่ถูกแชร์ เป็นคอนเทนต์ที่มีการส่งต่อจำนวนมาก จะถูกแปะป้ายว่า ถูกส่งต่อ (forwarded) หรือ ถูกส่งต่อจำนวนมาก (highly forwarded) เอาไว้ให้เห็นเด่นชัด และจะมีการลดจำนวนคนที่สามารถส่งข้อความนี้ให้เหลือเพียงครั้งละหนึ่งคน ซึ่ง WhatsApp บอกว่า สามารถจำกัดการแพร่กระจายของคอนเทนต์ลงได้ถึง 70% 

บริษัทยังมีการใช้ Machine Learning เพื่อระบุตัวตน และแบนบัญชีผู้ใช้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งข้อความจำนวนมาก และด้วยวิธีนี้ จึงสามารถแบนบัญชีผู้ใช้ถึง 2 ล้านบัญชีในหนึ่งเดือน 

ข้อมูลเท็จ vs ความรุนแรงทางการเมือง

capitol hill

สำหรับกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงใน Capitol Hill เมื่อวันที่ 6 มกราคม นั้น ทีมงานของ Facebook อธิบายรูปแบบการจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวว่า ทางแพลตฟอร์มมีการเตรียมความพร้อม ด้วยการลบเนื้อหาและบัญชีผู้ใช้งานที่ละเมิดนโยบายในเรื่องของการปลุกระดมความรุนแรงและองค์กรที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงก่อนวันที่ 6 มกราคมแล้ว อีกทั้งยังมีมาตรการฉุกเฉินเอาไว้รองรับหลายอย่าง เช่น

  • การไม่แนะนำกลุ่มการเคลื่อนไหวของพลเมืองให้แก่ผู้ใช้งาน
  • การเพิ่มข้อบังคับที่ให้แอดมินของกลุ่มใน Facebook ต้องตรวจสอบและอนุมัติ (approve) ก่อนที่จะสามารถโพสต์ได้
  • การปิดการแสดงความคิดเห็นหรือคอมเม้นต์โดยอัตโนมัติ ในกลุ่มที่เริ่มมีการใช้วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech หรือเนื้อหาที่ปลุกระดมความรุนแรง
  • การใช้ AI เพื่อลดอัตราการมองเห็นของเนื้อหาที่มีแนวโน้มที่จะละเมิดนโยบายชุมชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งโซเชียลมีเดียมีบทบาทต่อชีวิตของเรามากเท่าไร การศึกษารูปแบบและวิธีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนสื่อโซเชียลมีเดียยิ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานทุกคนต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เรารู้เท่าทัน และตั้งคำถามกับเนื้อหาต่าง ๆ ให้มากขึ้น อีกทั้งการเรียนรู้แนวทางของแพลตฟอร์มเหล่านี้ อาจทำให้หลายคนที่กำลังสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองนำไปปรับใช้ได้ด้วยนั่นเอง


แชร์ :

You may also like